ฟิทช์นำอันดับเครดิตของ AIS และ DTAC ออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ และประกาศคงอันดับเครดิต

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday April 11, 2008 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--11 เม.ย.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศนำอันดับเครดิตของ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ AIS และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็สคอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC ออกจากเครดิตพินิจแนวโน้มเป็นลบ (Rating Watch Negative) ซึ่งฟิทช์ได้ประกาศไว้ในเดือน กุมภาพันธ์ 2550 เนื่องจากฟิทช์มองว่าความกังวลต่อความเสี่ยงด้านนโยบายกฎระเบียบและกฎหมายที่เกี่ยวข้องในส่วนของธุรกิจโทรคมนาคมได้ลดลงจนมาอยู่ในระดับที่ไม่น่าจะมีผลกระทบในแง่ลบต่อ AIS และ DTAC ในเรื่องของการลงทุนที่จะมีขึ้นในอนาคตและการได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ในขณะเดียวกันฟิทช์ประกาศคงอันดับเครดิตของ AIS และ DTAC ดังต่อไปนี้
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Long-term Foreign Currency Issuer Default Rating) ของ AIS ที่ ‘BBB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาว (National Long-term rating) ที่ ‘AA(tha)’ และ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้น (National Short-term rating) ที่ ‘F1+(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาวของ DTAC ที่ ‘BB+’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะยาวที่ ‘A(tha)’ อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นที่ ‘F1(tha)’ และอันดับเครดิตหุ้นกู้ไม่มีประกันที่ ‘A(tha)’ แนวโน้มเครดิตมีเสถียรภาพ
ถึงแม้ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีคำวินิจฉัยในเดือนพฤษภาคม 2550 ว่าการแก้ไขเพิ่มเติมสัญญาสัมปทานที่เกิดขึ้นในอดีตของผู้ประกอบการโทรคมนาคมนั้นไม่ถูกต้องตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานหรือดำเนินการในกิจการของรัฐ พ.ศ. 2535 และได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการประสานงานเพื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลและนำเสนอความเห็นเพื่อให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาเห็นชอบต่อไป แต่ในช่วง 6 เดือนที่ผ่านมาความคืบหน้าของเรื่องดังกล่าวมีน้อยมากโดยมีสาเหตุหลักมาจากการลาออกของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารซึ่งเป็นผู้ริเริ่มให้มีการทบทวนการแก้ไขสัญญาสัมปทานในอดีตของผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคมในเดือนกันยายน 2550 นอกจากนี้การเลือกตั้งและแต่งตั้งรัฐบาลใหม่ในเดือนกุมภาพันธ์ 2551 ได้ทำให้ความเสี่ยงของการยกเลิกสัญญาสัมปทานดังกล่าวลดลงไปอีก โดยฟิทช์คาดว่ารัฐบาลใหม่มีแนวโน้มที่จะเลือกใช้แนวทางที่นุ่มนวลในเรื่องของการทบทวนสัญญาสัมปทานดังกล่าวซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบมากนักต่อผู้ประกอบการเอกชนในธุรกิจโทรคมนาคมเนื่องจากรัฐบาลมีนโยบายที่จะมุ่งเน้นการพัฒนาและการเปิดเสรีอุตสาหกรรมโทรคมนาคมและไม่น่าที่จะนำประเด็นที่เกี่ยวกับเรื่องของการทบทวนสัญญาสัมปทานข้างต้นมาเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาอุตสาหกรรม
อันดับเครดิตของ AIS สะท้อนถึงฐานะการเงินที่แข็งแกร่งและความเป็นผู้นำในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ของบริษัท โดยบริษัทเป็นผู้ให้บริการโทรศัพท์มือถือรายใหญ่ที่สุดของประเทศ นอกจากนี้ AIS ยังมีข้อได้เปรียบทางด้านโครงสร้างต้นทุนเนื่องจากมีฐานลูกค้าที่ใหญ่และมีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานที่ต่ำเมื่อเทียบกับผู้ประกอบการรายอื่น อย่างไรก็ตามค่าใช้จ่ายในการลงทุนและการพัฒนาระบบเครือข่ายไปสู่ระบบ 3G (Third generation of mobile phone) ที่สูง การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และความไม่แน่นอนทางด้านกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมของประเทศ อาจส่งผลกระทบในแง่ลบต่อฐานะการเงินที่แข็งแกร่งของ AIS โดยเฉพาะอย่างยิ่งหาก AIS ยังคงรักษาอัตราการจ่ายเงินปันผลที่อยู่ในระดับสูง ในปี 2550 บริษัทมีกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (EBITDAR) จำนวน 43.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.2% จากปี 2549 ซึ่งอยู่ที่ 42.5 พันล้านบาท ณ สิ้นปี 2550 บริษัทยังคงมีฐานะการเงินที่แข็งแกร่ง โดยมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าเช่า (net adjusted debt to EBITDAR) อยู่ที่ 0.5 เท่า
อันดับเครดิตของ DTAC สะท้อนถึงสถานะทางการตลาดของบริษัทที่แข็งแกร่ง สถานะการเงินที่อยู่ในระดับที่แข็งแกร่งขึ้น และการได้รับการสนับสนุนจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ซึ่งได้แก่บริษัท เทเลนอร์ เอ เอส เอ หรือ เทเลนอร์ จาก นอร์เวย์ อย่างไรก็ตามอันดับเครดิตของ DTAC ได้พิจารณารวมถึงค่าใช้จ่ายในการลงทุนเพื่อขยายและพัฒนาเทคโนโลยีระบบเครือข่ายที่สูง การแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจโทรศัพท์เคลื่อนที่ และความไม่แน่นอนทางด้านกฎระเบียบของกิจการโทรคมนาคมของประเทศไทย กำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าเช่า (EBITDAR) ของ DTAC เติบโตอย่างแข็งแกร่งในปี 2550โดยเพิ่มขึ้น 6.8% มาอยู่ที่ 19.6 พันล้านบาท ฐานะการเงินของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลการดำเนินงานและความสามารถในการทำกำไรที่เติบโตอย่างแข็งแกร่ง โดย DTAC มีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิที่ปรับปรุงแล้วต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และ ค่าเช่า (net adjusted debt to EBITDAR) ปรับตัวดีขึ้นมาอยู่ที่ 1.7 เท่า ณ สิ้นปี 2550 จาก 2.4 เท่า ณ สิ้นปี 2549
ติดต่อ: โอบบุญ ถิรจิต, วสันต์ ผลเจริญ, Vincent Milton, +662 655 4755, Matt Jamieson, +822 3278 8361
หมายเหตุ : การจัดอันดับเครดิตภายในประเทศ (National Ratings) เป็นการวัดระดับความน่าเชื่อถือในเชิงเปรียบเทียบกันระหว่างองค์กรในประเทศนั้นๆ โดยจะใช้ในประเทศที่อันดับเครดิตแบบสากลของรัฐบาลในประเทศนั้นอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ อันดับเครดิตขององค์กรที่ดีที่สุดของประเทศได้จัดไว้ที่ระดับ “AAA” และการจัดอันดับเครดิตอื่นในประเทศ จะเป็นการเปรียบเทียบความเสี่ยงกับองค์กรที่ดีที่สุดนี้เท่านั้น อันดับเครดิตภายในประเทศได้ถูกจัดทำขึ้นเพื่อใช้ในตลาดในประเทศเป็นหลักและจะมีสัญลักษณ์ที่กำหนดไว้ต่อท้ายจากอันดับเครดิตสำหรับประเทศนั้นๆ เช่น “AAA(tha)” ในกรณีของประเทศไทย ดังนั้นอันดับเครดิตภายในประเทศจึงไม่สามารถใช้เปรียบเทียบระหว่างประเทศได้
คำจำกัดความของอันดับเครดิตและการใช้อันดับเครดิตดังกล่าวของ ฟิทช์ เรทติ้งส์ สามารถหาได้จาก www.fitchratings.com อันดับเครดิตที่ประกาศ หลักเกณฑ์และวิธีการจัดอันดับเครดิต ได้แสดงไว้ในเว็บไซต์ดังกล่าวตลอดเวลา หลักจรรยาบรรณ การรักษาข้อมูลภายใน ความขัดแย้งทางผลประโยชน์ที่อาจเกิดขึ้น แนวทางการเปิดเผยข้อมูลระหว่างบริษัทในเครือ กฏข้อบังคับรวมทั้งนโยบายและกระบวนการที่เกี่ยวข้องอื่นๆของฟิทช์ ได้แสดงไว้ในส่วน ‘หลักจรรยาบรรณ’ ในเว็บไซต์ดังกล่าวเช่นกัน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ