กทม.จัดระบบเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ แนะดูแลสุขอนามัย กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ

ข่าวทั่วไป Monday February 13, 2023 11:02 —ThaiPR.net

กทม.จัดระบบเฝ้าระวังโรคอาหารเป็นพิษ แนะดูแลสุขอนามัย กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ

นางเลิศลักษณ์ ลีลาเรืองแสง ผู้อำนวยการสำนักการแพทย์ (สนพ.) กทม. กล่าวกรณีกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตั้งข้อสังเกตมักพบผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษสูงในช่วงต้นปี ม.ค. - มี.ค.ว่า กรุงเทพมหานคร โดย สนพ.ได้เตรียมความพร้อมระบบเฝ้าระวัง ติดตาม และตรวจประเมินสถานพยาบาลด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม Bangkok Green & Clean Hospital Plus (BKKGC+) โดยผ่านเกณฑ์การประเมินด้านสถานที่ประกอบอาหารผู้ป่วยในโรงพยาบาลได้มาตรฐานสุขาภิบาลอาหารตามกฎกระทรวงสุขลักษณะของสถานที่จำหน่ายอาหาร พ.ศ.2561 พร้อมควบคุมการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ รวมถึงภัยสุขภาพต่าง ๆ ที่อาจเกิดขึ้น จึงได้สั่งการให้ทุกโรงพยาบาลในสังกัด กทม.เฝ้าระวัง รวมถึงวินิจฉัยและให้การรักษาที่ถูกต้องตามแนวทางการรักษาของโรค และจัดการสำรองยาให้เพียงพอต่อการรักษาผู้ป่วย

ทั้งนี้ สาเหตุของการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ ซึ่งเกิดจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำที่มีการปนเปื้อนเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย โดยสิ่งปนเปื้อนที่เป็นสาเหตุมีอยู่หลายชนิด ได้แก่ แบคทีเรีย ไวรัส ปรสิต หรือการปนเปื้อนสารพิษต่าง ๆ เป็นต้น แต่สาเหตุของอาหารเป็นพิษที่พบได้บ่อยครั้ง คือ เชื้อแบคทีเรีย และไวรัส โดยส่วนใหญ่มักเกิดในสถานที่ที่มีการรวมกลุ่มรับประทานอาหารร่วมกัน และมีอาการอย่างรวดเร็วหลังจากรับประทานอาหารแล้ว เช่น สถานที่ท่องเที่ยว ร้านอาหารริมทางในโรงเรียน สถานศึกษา หรือสถานเลี้ยงเด็ก ค่ายกิจกรรม โดยรายการอาหาร หรือเมนูอาหารที่มีความเสี่ยงและทำให้ผู้บริโภคเป็นโรคอาหารเป็นพิษ โรคอุจจาระร่วงเป็นกลุ่มใหญ่ที่พบได้บ่อย ได้แก่ น้ำ น้ำแข็ง ที่ไม่สะอาด มีการปนเปื้อนเชื้อ ข้าวมันไก่ ไข่พะโล้ อาหารทะเลดิบ หรือปรุงไม่สุกพอ อาหารประเภทยำ อาหารที่มีกะทิ ข้าวผัด ส้มตำ ขนมจีนน้ำยา เนื่องจากอาหารในเมนูดังกล่าวมักปรุงไว้นานเกิน 4 ชั่วโมง ซึ่งจะเริ่มบูด เมื่อนำมาแจกจ่าย หรือรับประทาน จึงเป็นสาเหตุของโรค การดูแลผู้ป่วยโรคอาหารเป็นพิษในเบื้องต้น ให้ผู้ป่วยดื่มน้ำละลายผงน้ำตาลเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันการขาดน้ำ หากเกิดอาการถ่ายอุจจาระเหลวตั้งแต่ 3 ครั้งขึ้นไปใน 1 วัน หรือถ่ายเป็นน้ำจำนวนมาก หรือเป็นมูกเลือด 1 ครั้ง/วัน ปวดท้องบิด คลื่นไส้ อาเจียน ไข้สูงอาจมีหนาวสั่น ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว และอาจมีผื่นขึ้น หรือกล้ามเนื้ออ่อนแรง หากมีอาการอุจจาระร่วงรุนแรง อาจทำให้เสียชีวิตได้ จึงควรรีบนำส่งตัวไปพบแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่สาธารณสุขใกล้บ้าน และขอเน้นย้ำเรื่องการดูแลความสะอาด ใส่ใจอนามัยส่วนบุคคล กินร้อน ใช้ช้อนกลาง ล้างมือบ่อย ๆ จะช่วยลดอาหารเป็นพิษได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ