มจพ.จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ "การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นั่ง"

ข่าวทั่วไป Friday March 31, 2023 11:51 —ThaiPR.net

มจพ.จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิ

ศ.ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ประธานพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิเพื่อการผลิตผลงานทรัพย์สินทางปัญญา ภายใต้โครงการส่งเสริมการนำสิ่งประดิษฐ์และผลงานวิจัย พัฒนาสู่การใช้ประโยชน์ในเชิงสังคม "การออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นั่ง" ระหว่างนายสุรพล เธียรสูตร นายกเทศมนตรีเทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน และนายกิติพงศ์ พรหมชัยนันท์ นายกเทศมนตรีเทศบาลตำบลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด

พร้อมด้วย รศ.ดร.กัมปนาท เทียนน้อย ผู้อำนวยการสำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี แพทย์หญิงชไมพันธุ์ สันติกาญจน์ หัวหน้าโครงการขับเคลื่อนไทยสู่ผู้ใช้ จยย.ปลอดภัย และ รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม หัวหน้าศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินความปลอดภัยยานยนต์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในวันที่ 30 มีนาคม 2566 ห้องประชุม Cloud 9 ชั้น 9 สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ สืบเนื่องจากเทศบาลเมืองน่าน จังหวัดน่าน และเทศบาลตำบลเสลภูมิ จังหวัดร้อยเอ็ด มีความประสงค์ขอใช้ผลงานทรัพย์สินทางปัญญาการออกแบบผลิตภัณฑ์ "ที่นั่ง" เป็นผลงานของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ โดยมีศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมการประเมินและความปลอดภัยยานยนต์ สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ เป็นเจ้าของผลงานผู้ประดิษฐ์คิดค้น ได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากทุนวิจัยงบประมาณแผนบูรณาการพัฒนาศักยภาพ วิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิจัยและนวัตกรรม ประจำปีงบประมาณ 2561

และได้รับการจดขึ้นทะเบียนทรัพย์สินทางปัญญา ประเภทสิทธิบัตรการออกแบบผลิตภัณฑ์ เลขที่สิทธิบัตร 76476 เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ. 2563 โดยมี รศ.ดร.สายประสิทธิ์ เกิดนิยม และทีมงานงานวิจัยได้ออกแบบผลิตภัณฑ์ที่นั่ง เป็นรถรับส่งนักเรียนในเขตพื้นที่ต่างจังหวัดส่วนใหญ่พัฒนามาจากรถกระบะ หรือรถบรรทุกโดยสารหกล้อ โดยที่นั่งจะมีลักษณะเป็นเก้าอี้ม้านั่งยาวโดยให้เด็กนั่งตามแนวยาวของตัวรถ รถดังกล่าวจะมีลักษณะสองแถวซึ่งจะมีเก้าอี้ม้านั่งส่วนใหญ่และจะทำมาจากโครงสร้างเหล็กโดยไม่มีการติดตั้งเข็มขัดนิรภัย ลักษณะดังกล่าวจะไม่ปลอดภัยหากเกิดอุบัติเหตุและมีความเสี่ยงต่อการบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ ดังนั้น นวัตกรรมที่นั่งปลอดภัยสำหรับเด็กที่สอดคล้องกับบริบทการใช้รถและลักษณะการนั่งตามยาวแบบเดิมจึงมีความสำคัญ นวัตกรรมที่นั่งดังกล่าวได้ถูกออกแบบและสร้างบนพื้นฐานของมาตรฐานสากล โดยใช้วัสดุที่สามารถจัดหาและผลิตได้ในอุตสาหกรรมท้องถิ่น นวัตกรรมดังกล่าวจะมีโครงสร้างฐานที่ยึดติดกับที่นั่งจะถูกนำไปติดตั้งบริเวณท้ายรถกระบะ หรือในรถบรรทุกโดยสารหกล้อ ส่วนที่นั่งจะถูกติดตั้งเข้ากับโครงสร้างฐานซึ่งสามารถติดตั้งได้จำนวน 5 ที่นั่งในกรณีของรถกระบะ หรือมากกว่า 5 ที่นั่ง ในกรณีรถบรรทุกโดยสารหกล้อ

นวัตกรรมที่นั่งดังกล่าวสามารถรับแรงกระแทกทางด้านข้างกับด้านหน้าได้ตามมาตรฐานสากลซึ่งสามารถพับเก็บได้รวมทั้งปรับความสูงบริเวณพนักพิงได้ตามสัดส่วนความสูงของผู้โดยสาร อีกทั้ง ที่นั่งบริเวณศีรษะและสะโพกด้านข้างของผู้โดยสารจะถูกออกแบบให้เพื่อลดการบาดเจ็บกรณีที่มีการกระแทกเกิดขึ้นได้อีกด้วย .


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ