แนวโน้มการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคในสินค้าของเด็กเล่นของประเทศต่างๆ

ข่าวทั่วไป Thursday April 24, 2008 15:11 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 เม.ย.--คต.
สินค้าของเด็กเล่นเป็นสินค้าที่ทำรายได้เข้าประเทศปีละไม่ต่ำกว่า 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ หรือประมาณ 8000 ล้านบาทต่อปี มีผู้ผลิต 269 ราย เป็นโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 64 ราย มีปริมาณการผลิตมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตทั้งหมด โดยมีสหรัฐญี่ปุ่น และสหภาพ ยุโรป (สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส) เป็นตลาดส่งออกสำคัญของไทย รวมกันคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 51
1. การผลิต
การผลิตของเล่นเด็กของไทยมีการพัฒนามาอย่างต่อเนื่องจากเดิมเป็นอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดย่อมที่ผลิตเพื่อสนองความต้องการภายในประเทศ จนปัจจุบันพัฒนาเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ (สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม) โดยมีโรงงานที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน 64 ราย มีปริมาณการผลิตมากกว่าร้อยละ 60 ของการผลิตทั้งหมด มีนักลงทุนจากไต้หวัน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และฮ่องกง เข้ามาลงทุนมากขึ้น ลักษณะการลงทุนจะมีทั้งการร่วมทุนกับบริษัทต่างประเทศ การลงทุนจากต่างประเทศทั้งหมด และการลงทุนของผู้ ประกอบการไทยเองทั้งหมด
ผู้ผลิตรวม : 269 ราย (จำนวนคนงานรวมทั้งสิ้น 11,000 คน)
- ขนาดเล็ก (คนงานไม่เกิน 50 คน) 60 ราย
- ขนาดใหญ่ (คนงาน 51 — 200 คน) 126 ราย
- ขนาดใหญ่ (คนงานมากกว่า 200 คนขึ้นไป) 83 ราย
2. โครงสร้างสินค้าส่งออก : (ร้อยละ)
- ของเล่นมีล้อ 0.72
- ตุ๊กตารูปคนและสัตว์ 13.17
- ของเล่นอื่นๆ (ประกอบด้วยชุดของเล่นประกอบ,ของเล่นฝึกสมอง 86.11 และเครื่องดนตรี, ของเล่นจัดทำเป็นชุด,ของเล่นอื่นๆเช่นหุ่นจำลอง หุ่นจำลองที่มีมอเตอร์,รถไฟฟ้าฯลฯ
3. โครงสร้างราคา : (ร้อยละ)
- ในประเทศ 69.6
- ต่างประเทศ 17.4
- APPROX MARGIN 13.0
4. ตลาดใหม่ที่มีอัตราการขยายตัวสูง : มาเลเซีย ร้อยละ 216.29 จีน ร้อยละ 140.19 มูลค่าการส่งออกไปยังตลาดที่สำคัญ
ประเทศ มูลค่า:ล้านUSD อัตราขยายตัว:ร้อยละ สัดส่วน:ร้อยละ
2548 2549 2550 2548 2549 2550 2548 2549 2550
1.สหรัฐอเมริกา 55.87 71.73 49.37 -1.91 28.38 -31.16 28.91 33.21 23.49
2.ญี่ปุ่น 30.14 27.70 25.01 -17.13 -8.09 -9.60 15.60 12.81 11.90
3.สหราชอาณาจักร 16.94 18.37 18.31 14.54 10.55 -1.41 8.77 8.60 8.71
4. ฝรั่งเศส 13.23 15.74 14.30 -4.91 18.99 -9.20 6.85 7.29 6.80
5.เยอรมนี 8.37 8.57 8.98 -0.48 2.44 4.79 4.33 3.97 4.27
6.จีน 5.93 3.72 8.93 39.77 -37.31 140.19 3.07 1.72 4.25
7. มาเลเซีย 4.39 2.71 8.56 -48.31 -38.36 216.29 2.27 1.25 4.07
8. เม็กซิโก 3.07 4.66 6.62 -6.46 51.69 42.09 1.59 2.16 3.15
9. อิตาลี 4.56 6.63 6.23 40.10 45.35 -5.95 2.36 3.07 2.97
10. ออสเตรเลีย 3.92 4.98 5.56 16.03 27.09 11.74 2.03 2.30 2.65
รวม10ประเทศ 146.42 164.96 151.87 -4.36 12.66 -7.93 75.77 76.38 72.27
อื่น ๆ 46.83 51.01 58.26 1.49 8.93 14.22 24.23 23.62 27.73
มูลค่ารวม 193.25 215.97 210.14 -3.01 11.76 -2.70 100.00 100.00 100.00
กราฟแสดงมูลค่าการส่งออกสินค้าของเล่น
มูลค่า : ล้านเหรียญสหรัฐ
ที่มา : กรมส่งเสริมการส่งออก
5. มาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคในสินค้าของเล่น
เนื่องจากสินค้าของเด็กเล่นเป็นสินค้าที่มีผลต่อการพัฒนาการเจริญเติบโตและสุขภาพอนามัยของเด็ก ประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศผู้นำเข้าที่เป็นประเทศพัฒนาแล้วจึงกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคเกี่ยวกับสินค้าของเด็กเล่นเพื่อความปลอดภัยในการเล่นของเด็ก รวมทั้งมีการปรับปรุงกฎระเบียบเป็นระยะๆ ซึ่งสามารถสรุปมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคในสินค้าของเด็กเล่นของประเทศผู้นำเข้าที่สำคัญได้ดังนี้
5.1 สหภาพยุโรป
5.1.1 ของเด็กเล่นที่นำเข้าหรือจำหน่ายในอียูต้องมีคุณภาพตามมาตรฐานความปลอดภัยของเล่นภายใต้กฎหมาย Safety of Toys (EN 71) ซึ่งกำหนดโดยระเบียบ Council Directive 88/378/EEC แก้ไขโดย Council Directive 93/68/EEC ครอบคลุมสินค้าของเด็กเล่นทุกประเภทสำหรับเด็กอายุต่ำกว่า 14 ปี เป็นการกำหนดมาตรฐานความปลอดภัยในกระบวนการผลิตสินค้าของเด็กเล่นก่อนวางจำหน่ายในอียู และเมื่อผู้ผลิตปฏิบัติสอดคล้องตามข้อกำหนดของกฎระเบียบดังกล่าว ก็จะได้รับเครื่องหมาย CE Mark เพื่อติดผนึกที่บรรจุภัณฑ์ก่อนส่งออก (CE Council Directive 93/465/EEC)
5.1.2 ห้ามใช้สาร phthalate 6 ประเภท ได้แก่ DNIP, DIDP, DNOP, DEHP, BBP และ DBP ใน PVC เพื่อผลิตเป็นสินค้าของเด็กเล่นทุกชนิดที่เด็กใส่เข้าปาก รวมทั้งผลิตภัณฑ์ดูแลเด็ก (Children articles) ด้วย เนื่องจากสารดังกล่าวอาจก่อให้เกิดมะเร็ง ของเล่นอื่นนอกเหนือจากที่กล่าวข้างต้น ซึ่งมีส่วนผสมของสารดังกล่าว จะต้องระบุคำเตือนว่า “ระวังไม่ให้เด็กนำเข้าปาก”
5.1.3 หน่วยงานมาตรฐานยุโรป (European Standardization Committee: CEN) อยู่ระหว่างทบทวนมาตรฐาน EN 71-1 ให้ครอบคลุมและเน้นความเสี่ยงจากสินค้าของเด็กเล่นที่มีส่วนประกอบของแม่เหล็กที่ไม่เกาะติดและปลดถอดออกจากตัวสินค้าได้ ซึ่งมีขนาดและรูปร่างง่ายต่อการกลืนลงคอเด็ก ในระหว่างนี้คณะกรรมาธิการฯ เสนอให้มีการติดฉลากเป็นการชั่วคราว ระบุคำเตือนให้ชัดเจนบนสินค้าที่อาจเกิดอันตรายต่อเด็ก โดยคำเตือนต้องใช้ถ้อยคำว่า “ Warning! This toy contains magnets or Magnetic components. Magnets sticking together or becoming attached to a metallic object inside the human body can cause serious or fetal injury-seek immediate medical help if magnets are swallowed or inhaled ” ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกอียูบางประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เยอรมนี และเดนมาร์ก ได้เริ่มใช้มาตรการติดฉลากคำเตือนโดยสมัครใจแล้วตั้งแต่ต้นปี 2551 เป็นต้นมา
5.1.4 เดือนมกราคม 2551 คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอร่างระเบียบปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยสินค้าของเด็กเล่นให้สูงขึ้น (ปรับปรุง Directive 88/378/EEC ที่บังคับใช้ตั้งแต่ 8 พฤษภาคม 2531) โดยให้ผู้ผลิตและผู้นำเข้ามีความรับผิดชอบเพิ่มมากขึ้น ตลอดจนปรับระบบการตรวจมาตรฐานความปลอดภัยในแต่ละประเทศสมาชิก คาดว่าจะมีผลใช้บังคับปี 2552 โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
(1) ห้ามใช้สารเคมีที่เป็นสารก่อมะเร็ง สารที่ก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ สารที่มีผลต่อระบบสืบพันธ์ (CMR) 35 ชนิด
(2) ให้ลดปริมาณส่วนผสมสารเคมีอันตราย เช่น ตะกั่วและปรอท จากขีดจำกัดเดิม
(3) ห้ามการใช้ส่วนประกอบที่ทำให้เกิดอาการแพ้
(4) ให้ผู้ผลิตของเด็กเล่นทำการประกาศแจ้งเตือนภัยหรืออุบัติเหตุที่เกิดจากของเด็กเล่นอย่างเหมาะสม ซึ่งจะมีแนวทางเกี่ยวกับการแจ้งเตือนออกมาเพิ่มเติม
(5) ปรับกฎเกณฑ์เพื่อป้องกันอันตรายจากชิ้นส่วนขนาดเล็กในของเด็กเล่น
(6) ห้ามการจำหน่ายของเด็กเล่นที่ติดมากับผลิตภัณฑ์อาหาร หรือของเด็กเล่นที่ต้องทำให้มีการรับประทานอาหารก่อนจึงจะได้ของเด็กเล่น
(7) ให้ผู้ผลิตของเด็กเล่นจัดทำข้อมูลทางเทคนิคเพื่อให้หน่วยงานตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของแต่ละประเทศสมาชิกอียูสามารถตรวจสอบทั้งในด้านการออกแบบและการผลิตสินค้าได้
(8) ในอนาคตจะมีการจัดการตรวจสอบสินค้าของเด็กเล่นจากห้องปฏิบัติการทดสอบในกรณีที่ยังไม่ได้มีการจัดตั้งมาตรฐาน เช่น ของเด็กเล่นที่มีแม่เหล็กเป็นส่วนประกอบ เป็นต้น
(9) เพิ่มความรับผิดชอบให้กับผู้นำเข้าสินค้าของเด็กเล่นในสหภาพยุโรปเพื่อให้รับประกันได้ว่าสินค้านำเข้ามีมาตรฐานความปลอดภัยเพียงพอ
(10) ส่งเสริมให้การประทับตรา CE Mark ให้เห็นชัดเจนบนสินค้าของเด็กเล่น
(11) ประเทศสมาชิกจะต้องสร้างเสริมความเข้มแข็งให้กับระบบการตรวจสอบตลาดเพื่อควบคุม ตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัยของสินค้าทั้งในตลาดที่สินค้าวางจำหน่ายแล้วและในช่วงการนำเข้าที่ด่าน และจะต้องวางกฎเกณฑ์การปรับหากผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้าของเด็กเล่นไม่ได้ผลิตของเด็กเล่นตามที่กำหนดไว้ในร่างระเบียบดังกล่าว
5.2 สหรัฐอเมริกา
5.2.1 หน่วยงาน U.S. Consumer Products Safety Commission (CPSC) กำหนดมาตรฐานบังคับเพื่อความปลอดภัยในการเล่นของเด็ก เช่น ห้ามใช้สาร Phthalate ในสินค้าของเด็กเล่นและสินค้าสำหรับทารก รวมทั้งห้ามผลิต/จำหน่ายสินค้าสำหรับเด็กที่มีสารตะกั่วหรือสาร Phthalate โดยผู้ผลิตต้องใช้สารอันตรายให้น้อยที่สุด ห้ามผลิต/จำหน่ายของเด็กเล่นและผลิตภัณฑ์ดูแลเด็กที่มีสารเคมีที่เป็นอันตรายบางชนิดบรรจุอยู่ นอกจากนี้ยังกำหนดให้ติดฉลากเพื่อให้ทราบถึงอันตรายจากสินค้า โดยต้องปฏิบัติตามกฎหมายต่างๆ คือ
- Code of Federal Regulation, Commercial Practices 16 (16 CFR) ว่าด้วยเรื่อง Commerce and Foreign Trade และ Marking of Toy
- Labeling requirements for Art Materials Presenting Chronic Hazards
- Engineering Test Manual for Practice
- U.S. Child Safety Protection Act, Small Parts Hazard Warning Rule and Rules for Reporting Choking Incidents ของเล่นสำหรับเด็กเล็กจะต้องระวังไม่ให้กลืนเข้าไปได้ง่าย และไม่เป็นอันตรายต่อระบบการหายใจของเด็ก
- Age Determination Guidelines : Relating Children’s Ages to Toy characteristics and Play Behavior
5.2.2 หน่วยงาน American Society for Testing and Materials (ASTM) และหน่วยงาน American National Standards Institute (ANSI) ซึ่งเป็นองค์กรเอกชนกำหนด มาตรฐานสมัครใจ ประกอบด้วยเรื่อง Standard Consumer Safety Specification on Toy Safety (ASTM F963-03) หรือ ANSI Z315.1-1996 เรื่อง Tricycles- Safety Requirements และ ANSI/ UL 696 เรื่อง Standard for Safety Electric Toys
5.2.3 มาตรฐานอื่นๆ ที่แต่ละมลรัฐกำหนดขึ้น เช่น รัฐแคลิฟอร์เนียได้ออกพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการห้ามผลิต /จำหน่ายของเล่นที่มีสาร Phthalates เป็นส่วนประกอบเกินกว่า 1/10 ของ 1 เปอร์เซ็นต์ และผู้ผลิตจะต้องใช้สารที่มีพิษน้อยที่สุดทดแทนสาร Phthalates รวมทั้งห้ามใช้สารที่ก่อมะเร็งและสารที่เป็นพิษต่อระบบสืบพันธุ์ (carcinogens and reproductive toxicants) แทนที่สารดังกล่าว โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2552
5.3 ญี่ปุ่น
5.3.1 หน่วยงานที่ทำหน้าที่ควบคุมคุณภาพของเล่น คือ Ministry of Economy, Trade and Industry (METI) ของเล่นส่วนใหญ่ที่นำเข้ามาในประเทศญี่ปุ่นไม่มีกฎระเบียบนำเข้าควบคุมโดยตรง โดยของเล่นสำหรับทารกและเด็กบางประเภทจะถูกควบคุมด้วยกฎหมาย Food Sanitation Law สำหรับของเล่นประเภทอิเล็กทรอนิกส์จะถูกควบคุมโดยกฎหมาย The Electrical Appliance and Material Safety Law และของเล่นประเภท stuffed toy ทำด้วยหนัง และขนสัตว์ จะถูกควบคุมหรือห้ามโดย The Washington Convention
5.3.2 ญี่ปุ่นอาศัยกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อถือปฏิบัติในการนำเข้าสินค้าของเล่นดังนี้
(1) ของเล่นทุกชนิดต้องผ่านการตรวจสอบสาร Formalin ภายใต้กฎหมาย The Food Sanitation Law ของญี่ปุ่น
(2) ของเล่นที่มีมอเตอร์หรือใช้ไฟฟ้าเป็นส่วนประกอบ ต้องระบุหน่วยวัดแรงดันไฟฟ้า (Rated Voltage) หน่วยวัดกำลังไฟฟ้า (Wattage) ชื่อผู้ผลิตและผู้นำเข้าต้องติด PSE Mark (Product Safety for Electrical Appliances and Materials) ฯลฯ รวมทั้งต้องมีวิธีการผลิตที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล นอกจากนี้บรรจุภัณฑ์และหีบห่อต้องระบุประเภทของวัสดุที่ใช้ผลิตด้วยตามกฎหมาย Electrical Appliance and Material Control Law และ Law for Promotion of Effective Utilization of Resources
5.3.2 สมาคมของเล่นของญี่ปุ่น (The Japan Toy Association) กำหนด Toy Safety Standard ว่าด้วยเรื่อง Mechanical and Physical Properties, Flammability และ Chemical Properties ทั้งนี้ ของเล่นที่ได้คุณภาพและมาตรฐานความปลอดภัยจะติดตรา ST Mark (Safety Standard Mark) เป็นเครื่องหมายรับรองความปลอดภัย
5.4 ประเทศไทย
5.4.1 สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ได้กำหนดมาตรฐานเลขที่ มอก.685 — 2540 เล่ม 1 — 3 ว่าด้วยเรื่องข้อกำหนดทั่วไป ภาชนะบรรจุและฉลาก และเรื่องวิธีทดสอบและวิเคราะห์ ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 5 มกราคม 2542 เป็นต้นมา ทั้งนี้ มาตรฐานดังกล่าวของไทยได้อ้างอิงมาตรฐานของเล่นของต่างประเทศที่เป็นที่ยอมรับ เช่น EN 71 และ ASTMF 963 นำมาเป็นแนวทางกำหนดมาตรฐาน โดยมุ่งเน้นคุณลักษณะด้านความปลอดภัยของของเล่นเพื่อลดอัตราเสี่ยงของการเกิดอันตรายต่อเด็กและเยาวชนให้น้อยลงและป้องกันการผลิตและการนำเข้าของเล่นที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน รวมทั้งส่งเสริมให้มีการผลิตของเล่นที่ได้คุณภาพ
5.4.2 การกำหนดให้ของเล่นต้องได้มาตรฐาน มอก.685-2540 ส่งผลให้
- ผู้ผลิตต้องผลิตให้ได้มาตรฐาน โดยจะมีการตรวจโรงงานเพื่อดูวิธีการผลิตและการควบคุมคุณภาพการผลิตพร้อมเก็บตัวอย่างไปทดสอบ หากเป็นไปตามมาตรฐานก็จะได้รับอนุญาตจาก สมอ.
- ผู้นำเข้าต้องนำเข้าของเล่นที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน โดยเจ้าหน้าที่จะตรวจดูเอกสาร/หลักฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิต และเก็บตัวอย่างไปทดสอบที่หน่วยตรวจทดสอบ หากเป็นไปตามข้อกำหนดในมาตรฐานของเล่น สมอ.จะออกใบอนุญาตให้
6. แนวโน้มการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคในสินค้าของเล่นของประเทศต่างๆ
6.1 โดยที่สหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มักเป็นผู้ริเริ่มในการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคต่างๆ โดยเฉพาะสินค้าที่มีความละเอียดอ่อนต่อสุขภาพอนามัยและความปลอดภัยของเด็ก เช่น ของเล่นเด็ก ผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับเด็ก รวมถึงผลิตภัณฑ์อาหารที่มีของเล่นควบคู่มาด้วย เป็นต้น จึงมีแนวโน้มว่าประเทศอื่นๆ จะนำกฎระเบียบของสหภาพยุโรปและสหรัฐฯ มาเป็นกรอบแนวทางในการกำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบทางเทคนิคเพื่อบังคับใช้ในประเทศของตน เช่น อิสราเอลประกาศห้ามใช้สาร Phthalates ในผลิตภัณฑ์ของเล่นสำหรับเด็กและห่วงยางกัดสำหรับเด็กเล็ก (teething ring) ตามผลการวิเคราะห์ของหน่วยงาน European Council for Plasticizers and Intermediates และ American Chemistry Council และความเห็นของ Commission’s Scientific Committee on Toxicity, Ecotoxicity and the Environment (CSTEE) นอกจากนี้ ประเทศฟิลิปปินส์ได้ออกกฎหมายกำหนดให้การผลิต นำเข้าและจำหน่ายของเล่นในประเทศฟิลิปปินส์จะต้องได้รับใบอนุญาตจากกรมอนามัยก่อน ออสเตรเลีย ประกาศห้ามใช้สารตะกั่วที่สกัดแล้วมากกว่า 90 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัมเป็นส่วนประกอบในของเล่น รวมทั้งประเทศในแถบอเมริกาใต้ เช่น บราซิลก็ได้ออกกฎหมายว่าด้วยวิธีทดสอบสารพิษในของเล่น ซึ่งจะทำการทดสอบเป็น lots by lots
6.2 มาตรฐานความปลอดภัยสำหรับสินค้าต่างๆ กำลังเป็นประเด็นที่ประเทศต่างๆ ให้ความสำคัญ และมีแนวโน้มว่าจะกำหนดกฎระเบียบให้มีความเข้มงวดและเคร่งครัดยิ่งขึ้น รวมทั้งอาจมีการพัฒนาระบบการตรวจสอบและเฝ้าระวัง (Market Surveillance) สินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ตลอดจนเน้นการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างประเทศเพื่อประสานงานด้านการตรวจสอบมาตรฐานความปลอดภัย เช่นที่สหรัฐอเมริกาได้ทำความตกลง MRA กับสหภาพยุโรปในการตรวจสอบสินค้าที่มีความเสี่ยงสูงโดยหน่วยงาน Notified Body จะทำการตรวจสอบสินค้าในห้องปฏิบัติการตามขั้นตอนที่กำหนดในข้อบังคับ รวมทั้งร่วมมือกับสหภาพยุโรปเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับสินค้าที่ไม่ได้มาตรฐานและแจ้งเตือนในรูปแบบเดียวกับระบบ RAPEX ของสหภาพยุโรป หรือในกรณีของการลงนามในข้อตกลงร่วมกันระหว่างสหภาพยุโรปกับประเทศจีน (Roadmap for safer toys) เพื่อช่วยป้องกันไม่ให้ของเล่นที่ไม่ผ่านมาตรฐานจากประเทศจีนเข้าตลาดสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันสหภาพยุโรปก็จะให้การสนับสนุนทางเทคนิค การฝึก อบรมบุคลากรและแลกเปลี่ยนข้อมูลกับฝ่ายจีนอีกทางหนึ่งด้วย

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ