ม.มหิดลผลิต'ที่ปรึกษาทางพันธุศาสตร์'ดึงสหวิชาชีพด้านสุขภาพร่วมบริการ

ข่าวทั่วไป Friday September 1, 2023 16:14 —ThaiPR.net

ม.มหิดลผลิต'ที่ปรึกษาทางพันธุศาสตร์'ดึงสหวิชาชีพด้านสุขภาพร่วมบริการ

ด้วยเทคโนโลยีทางพันธุศาสตร์อย่างก้าวกระโดดทำให้การเจ็บป่วยด้วย "โรคทางพันธุกรรม" ในปัจจุบัน ไม่ได้กลายเป็นความโชคร้าย หรือเกิดขึ้นโดยไม่คาดคิดเพียงอย่างเดียว แต่อาจสามารถป้องกัน และหาแนวทางการรักษาได้ตรงกับสาเหตุของการเกิดโรค หากได้เข้ารับการตรวจสารพันธุกรรม (DNA) ทำนายการเกิดโรค และใช้เป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการรักษาเสียแต่เนิ่นๆ

รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาสุขภาพจิตและการพยาบาลจิตเวชศาสตร์ กล่าวในฐานะประธานคณะกรรมการดำเนินการหลักสูตรการอบรมผู้ให้คำปรึกษาทางพันธุศาสตร์ (Genetic Counsellor) คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ว่าโรคทางพันธุกรรมในปัจจุบันที่สามารถทำนายการเกิดโรค มีแนวทางป้องกัน และมีแนวทางการรักษาที่เป็นเฉพาะรายบุคคล

จากการเข้ารับการตรวจในระดับโมเลกุลเพื่อทราบความเสี่ยงต่อการเกิดโรคบางโรค เช่น โรคมะเร็งเต้านม มะเร็งรังไข่ มะเร็งลำไส้ ฯลฯ และโอกาสเกิดการแพ้ยาบางชนิด นอกจากนั้นยังสามารถใช้ในการวินิจฉัย การรักษา และฟื้นฟูสุขภาพแก่ผู้ป่วยที่มีโรคที่เกิดจากพันธุกรรม หรือโรคหายากบางโรคในเด็กและผู้ใหญ่ (rare disease) และโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs)
ซึ่ง "โรคมะเร็ง" เป็นหนึ่งในโรคในกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรังที่มีสาเหตุสำคัญส่วนหนึ่งมาจากการกลายพันธุ์ของยีน โดยสามารถนำไปสู่ "โอกาสรอดชีวิต" ของผู้ที่ได้ทราบว่าตัวเองกำลังตกอยู่ในกลุ่มเสี่ยงของโรคดังกล่าวจากการตรวจทำนายทางพันธุกรรม และสามารถนำไปใช้ในการรักษาแบบมุ่งเป้าได้ตรงกับสาเหตุของการเจ็บป่วย

มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ ได้ทำหน้าที่ "ปัญญาของแผ่นดิน" ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล จัดอบรม "ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์" (Genetic Counsellor) ให้แก่แพทย์ พยาบาล เภสัชกร และเทคนิคการแพทย์ รุ่นที่ 1 จำนวน 45 คน ภายใต้ทุนสนับสนุนจาก สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งเพิ่งสำเร็จไปเมื่อเร็วๆ นี้จำนวน 34 คน ที่เหลืออยู่ระหว่างการฝึกภาคปฏิบัติ และคาดว่าจะมีการเปิดการอบรมในปีถัดไป

รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ กล่าวว่า "ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์" (Genetic Counsellor) ในต่างประเทศมีมานานแล้ว โดยต้องใช้เวลาในการผลิตถึง 2 ปี ในขณะที่หลักสูตรร่วม ระหว่างคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล และคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้รับการออกแบบให้มีทั้งภาคทฤษฎี และภาคปฏิบัติ สามารถผลิตบุคลากรเพื่อภารกิจดังกล่าวได้ภายในระยะเวลาเพียง 4 เดือน

โดยได้เปิดโอกาสให้บุคลากรทางการแพทย์ผู้มีประสบการณ์เชี่ยวชาญในแต่ละสาขาวิชาชีพ ได้มีโอกาสเข้าอบรมในหลักสูตร เพื่อให้จบหลักสูตรพร้อมปฏิบัติหน้าที่โดยเร่งด่วน โดยที่ผ่านมาได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากทั้งในประเทศ และต่างประเทศ

ในส่วนของวิชาชีพพยาบาลมีบทบาทที่สำคัญยิ่งในการทำหน้าที่ "ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์" (Genetic Counsellor) เนื่องจากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดประชาชน และผู้มาใช้บริการสุขภาพกลุ่มเสี่ยงด้วยโรคทางพันธุกรรม เช่น โรคมะเร็ง โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งยังเป็นโรคที่มีอัตราการเสียชีวิตสูงในปัจจุบัน จำเป็นต้องได้รับการดูแลอย่างยิ่งทางด้านจิตใจ และสังคม
โดยผู้ที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงดังกล่าว สามารถเข้ารับบริการได้จาก "ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์" (Genetic Counsellor) เพื่อได้รับข้อมูลในการตัดสินใจวางแผนป้องกันปัญหาสุขภาพตนเองและครอบครัว รวมทั้งแนวทางการรักษาที่เฉพาะบุคคล (precision medicine)

นอกจากการตรวจและทำนายโรคมะเร็งในระดับโมเลกุลแล้ว การตรวจโครโมโซมขณะตั้งครรภ์ อาจได้ผลตรวจที่ไม่คาดคิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลตรวจที่แสดงความเสี่ยงต่อการคลอดบุตรที่มีภาวะผิดปกติ "ดาวน์ซินโดรม" ซึ่ง "ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์" (Genetic Counsellor) ที่มาจากพยาบาลวิชาชีพมีบทบาทสำคัญยิ่งในการดูแลจิตใจและสังคม และให้ข้อมูลทางสุขภาพ เพื่อการตัดสินใจทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้เข้ารับการตรวจและครอบครัว

"การอบรม "ผู้ให้คำแนะนำปรึกษาทางพันธุศาสตร์" (Genetic Counsellor) ซึ่งจัดโดย คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ร่วมกับ คณะพยาบาลศาสตร์ จะเป็นก้าวสำคัญของการให้บริการทางการแพทย์ ที่จะทำให้ประชาชนได้ประโยชน์อย่างเต็มที่จากการใช้เทคโนโลยีเพื่อการยกระดับคุณภาพชีวิต"

"นอกจากนี้ เชื่อมั่นว่าบุคลากรทางสุขภาพทุกท่านจะสามารถเป็น "ผู้ให้คำปรึกษาแนะนำทางพันธุศาสตร์" (Genetic Counsellor) ที่ดีต่อไปได้ หากถึงพร้อมด้วยทักษะ 3 ประการ คือ ความสามารถในการสื่อสารข้อมูลทางการแพทย์ที่เป็นเรื่องยาก และซับซ้อนให้เป็นเรื่องง่ายเข้าใจได้ การเข้าใจความรู้สึกของผู้รับบริการ ความสามารถในการใช้ทักษะทางจิตใจสังคมในการจัดการกับปัญหาทางอารมณ์และสังคมของผู้รับบริการ "โดยทำเรื่องยากให้เป็นเรื่องง่าย" รองศาสตราจารย์ ดร.อัจฉราพร สี่หิรัญวงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

ติดตามข่าวสารที่น่าสนใจของมหาวิทยาลัยมหิดลได้จาก www.mahidol.ac.th


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ