การแพ้อาหารในเด็ก อันตรายกว่าที่คิด

ข่าวทั่วไป Friday September 8, 2023 09:14 —ThaiPR.net

การแพ้อาหารในเด็ก อันตรายกว่าที่คิด

"การแพ้อาหารในทารกและเด็ก" มีอัตราเพิ่มขึ้นทั่วโลกและมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยที่พบอัตราการแพ้อาหารร้อยละ 5.5 - 9.3 ซึ่งเกิดขึ้นจาก 2 ปัจจัย คือ ปัจจัย "ด้านพันธุกรรม" เด็กอาจสืบทอดอาการแพ้อาหารจากพ่อแม่ หรือญาติสายตรง มีอาการแพ้อาหาร ลูกจะมีแนวโน้มที่จะแพ้อาหารตามไปด้วย กลไกเกิดจากการที่ภูมิคุ้มกันของร่างกายตอบสนองต่ออาหารที่แพ้ด้วยการหลั่งสารเคมีที่กระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ และปัจจัย "ด้านสิ่งแวดล้อม" การให้เด็กเริ่มทานอาหารอื่นนอกเหนือจากนมแม่ก่อนอายุ 6 เดือน การรับประทานอาหารชนิดเดิมซ้ำๆ การเจ็บป่วย และการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีมลพิษ เช่น ควันบุหรี่ PM2.5 ถึงแม้ว่ายังไม่มีข้อสรุปที่ชัดเจนว่า PM2.5 เพิ่มโอกาสเสี่ยงของการแพ้อาหาร แต่ PM2.5 เกี่ยวข้องกับการเพิ่มภาวะภูมิไวเกินของร่างกาย การขาดวิตามินดี เพิ่มความเสี่ยงในการกระตุ้นให้เกิดอาการแพ้ได้ ซึ่งอาหารส่วนใหญ่ที่พบว่าทำให้เกิดอาการแพ้บ่อย ๆ ได้แก่ อาหารจำพวกนมวัว ถั่วต่างๆ แป้งสาลี อาหารทะเล งา เมล็ดพืช เนื้อสัตว์ และผลไม้ เป็นต้นเราสามารถจำแนกอาการแพ้อาหารในเด็ก ตามลักษณะที่แสดงออกได้ 2 ลักษณะ คือ

1. การแพ้เฉียบพลัน เป็นการแพ้ชนิดรุนแรง (Anaphylaxis) คือ มีอาการเฉียบพลันเกิดขึ้นในร่างกาย มากกว่า 1 ระบบ และมีความรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยอาการที่พบส่วนใหญ่ คือ ตัวแดง ลมพิษทั่วตัว หายใจลำบาก ไอ หอบเหนื่อย ปวดท้อง อาเจียน ถ่ายเหลว ความดันต่ำ ซึม ชัก หรือช็อกหมดสติได้

2. การแพ้แบบล่าช้า จะเกิดหลังรับประทานอาหารไปแล้ว มากกว่า 12-24 ชั่วโมง ส่วนใหญ่เป็นอาการทางระบบทางเดินอาหารเป็นหลัก เช่น อาเจียน ท้องเสีย อุจจาระมีมูกหรือเลือดปน เป็นต้น แต่อย่างไรก็ตามอาจพบอาการในระบบอื่น ๆ ของร่างกายได้เช่นกัน

พ่อแม่ ผู้ปกครอง ที่พบว่าบุตรหลาน มีอาการเข้าข่ายการแพ้อาหาร สามารถทำการวินิจฉัยเบื้องต้นด้วยตนเองก่อนได้ โดยการทดลองหลีกเลี่ยงอาหารที่สงสัยว่าเป็นสาเหตุของโรคเป็นระยะเวลาหนึ่ง แล้วสังเกตว่าอาการแพ้ต่าง ๆ หายไปหรือไม่ ยังไม่แนะนำให้ทดสอบการแพ้อาหาร ด้วยการรับประทานอาหารที่แพ้เข้าไป (Oral Food Challenge Test) เนื่องจากเป็นวิธีการทดสอบที่ต้องกระทำในโรงพยาบาล ภายใต้การดูแลของทีมแพทย์ รวมไปถึงการตรวจหรือทดสอบอาการแพ้ด้วย การสะกิดผิวหนัง (Skin Prick Test) หรือการตรวจสารก่อภูมิแพ้ในเลือด (Specific IgE) ซึ่งมักใช้ตรวจในเด็กที่มีอาการแพ้แบบรุนแรงและเฉียบพลัน

การตรวจการแพ้อาหารไม่มีความจำเป็นต้องตรวจหาล่วงหน้า หากเด็กไม่มีอาการที่สงสัยว่าแพ้อาหารหรือมีประวัติการแพ้อาหาร อีกทั้งการตรวจบางอย่างไม่ได้ช่วยในการวินิจฉัยโรคแพ้อาหารได้ การทดสอบต่าง ๆ จึงควรเป็นคำวินิจฉัยการรักษาของแพทย์ นอกจากนี้การเจาะเลือดจากการตรวจทำให้เด็กต้องเจ็บปวดโดยไม่จำเป็น

หากบุตรหลานของท่านได้รับการวินิจฉัยว่าเป็นโรคแพ้อาหาร สิ่งสำคัญที่จะช่วยป้องกันปัญหาต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นได้ คือพ่อแม่ ผู้ปกครองต้องให้ความรู้แก่เด็ก เกี่ยวกับชนิดของอาหารที่แพ้ในรูปแบบต่าง ๆ อาการแพ้อาหารที่อาจเกิดขึ้น พร้อมทั้งสอนวิธีหลีกเลี่ยงอาหารหรือสิ่งที่มีผลต่อสารก่อภูมิแพ้ในร่างกาย ตรวจสอบให้แน่ใจว่าเด็ก ๆ เข้าใจถึงหลักการสังเกตอาการ ประเมินความรุนแรงของอาการ และสามารถหลีกเลี่ยงอาหารที่แพ้ได้ เช่น ไม่รับประทานอาหารที่ไม่รู้จักหรือไม่เคยรับประทาน ไม่รับประทานขนมที่เพื่อน ๆ แบ่งปัน อ่านฉลากอาหารก่อนซื้อหรือรับประทาน เป็นต้น

 ในส่วนของผู้ปกครองต้องแจ้งรายละเอียดเกี่ยวกับการแพ้อาหารของบุตรหลานให้โรงเรียน ผู้ดูแล และผู้เกี่ยวข้องทราบด้วย เพื่อให้บุคคลที่เกี่ยวข้องกับการแพ้อาหารของเด็กสามารถช่วยเหลือในกรณีที่เด็กเกิดอาการแพ้ได้ทันที เตรียมยาแก้แพ้ชนิดรับประทานหรือยาฉีดอีพิเพ็น (EpiPen) ติดตัวในกรณีฉุกเฉินและสามารถฉีดยาด้วยตนเอง และสุดท้ายหากบุตรหลานมีอาการแพ้อาหาร ให้ตั้งสติ ประเมินอาการ ให้ยารับประทานหรือฉีดยา และพาเด็กไปโรงพยาบาลตามความรุนแรงของอาการ

"การแพ้อาหารในเด็กอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ และเป็นสิ่งที่ผู้ปกครองต้องมีความเข้าใจถึงความรุนแรงของอาการนี้ ผู้ปกครองและคนรอบข้างมีความสำคัญที่ช่วยดูแลบุตรหลานให้ปลอดภัย และลดความเสี่ยงของการแพ้อาหารได้ ด้วยการเตรียมความพร้อมของผู้ปกครองและโรงเรียน ช่างสังเกตโดยประเมินอาการและรับรู้ถึงอาการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ระยะแรก รวมถึงการดูแลเบื้องต้นด้วยการให้ยาแก้แพ้หรือยาฉีดอีพิเพ็นทันที การดูแลรักษาอย่างทันท่วงทีสามารถช่วยชีวิตเด็กได้"


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ