กรมพัฒนาที่ดิน ชูงานวิจัย "การตอบสนองของการปลดปล่อยไนโตรเจน กิจกรรมจุลินทรีย์ดินฯ"

ข่าวทั่วไป Monday September 25, 2023 17:35 —ThaiPR.net

กรมพัฒนาที่ดิน ชูงานวิจัย

ผลงานวิจัย "การตอบสนองของการปลดปล่อยไนโตรเจน กิจกรรมจุลินทรีย์ดิน การเกิดเม็ดดินและการสะสมอินทรียวัตถุในดินเค็มที่มีการใส่วัสดุอินทรีย์ต่างชนิดกัน" ช่วยเสริมแกร่งเกษตรกร ตอบโจทย์เทคนิคเพิ่มไนโตรเจน แบบเห็นผล กรมพัฒนาที่ดิน คัดเลือกให้รับรางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย สาขาการจัดการดินปัญหา ในการประชุมวิชาการประจำปี 2566 "ฟื้นฟูปฐพี สร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน"

นายปราโมทย์ ยาใจ อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน เปิดเผยว่า ประเทศไทยมีพื้นที่ทำเกษตร 177.69 ล้านไร่ จากพื้นที่ทั้งประเทศรวม 321 ล้านไร่ แต่จากการศึกษาของกรมพัฒนาที่ดิน พบว่า จากพื้นที่ทำเกษตรถึง 119.65 ล้านไร่ หรือร้อยละ 67.33 เป็นพื้นที่ดินปัญหา โดยหนึ่งในปัญหาสำคัญที่พบ คือ ดินเค็ม คิดเป็นพื้นที่รวม 14.4 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ ภาคกลาง 0.23 ล้านไร่ พื้นที่ชายฝั่งทะเล 2.66 ล้านไร่ และพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11.51 ล้านไร่ ในการแก้ปัญหานั้น ได้กำหนดให้การวิจัย พัฒนา และสร้างนวัตกรรมการพัฒนาให้เป็นองค์กรอัจฉริยะทางดิน เป็น 1 ใน 4 การพัฒนาสำคัญที่จะดำเนินการตามแผนการดำเนินงาน กรมพัฒนาที่ดิน พ.ศ. 2566-2570 โดยการวิจัยภายใต้หัวข้อ "การตอบสนองของการปลดปล่อยไนโตรเจน กิจกรรมจุลินทรีย์ดิน การเกิดเม็ดดิน และการสะสมอินทรียวัตถุในดินเค็มที่มีการใส่วัสดุอินทรีย์ต่างชนิดกัน" ของคณะวิจัย ประกอบด้วย นายอรรณพ พุทธโส สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 น.ส.วิภาวรรรณ อินทร์สมบูรณ์ กองสำรวจและวิจัยทรัพยากรดิน นายอภิชาติ บุญเกษม กองสำรวจและวิจัยทรัพยากรดิน น.ส.ศกุนตลา สุภาสัย คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และนายวิทยา ตรีโลเกศ คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ถือเป็นส่วนหนึ่งในความสำเร็จของการขับเคลื่อนแผนปฏิบัติการวิจัยและนวัตกรรมของกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อแก้ปัญหาและฟื้นฟูดินเค็ม

"ด้วยประโยชน์ที่มีต่อเกษตรกร และการแก้ไขปัญหาดินเค็มของประเทศไทยได้อย่างโดดเด่นจากการวิจัยและนวัตกรรม ดังนั้น กรมพัฒนาที่ดิน จึงได้คัดเลือกให้การวิจัย "การตอบสนองของการปลดปล่อยไนโตรเจน กิจกรรมจุลินทรีย์ดิน การเกิดเม็ดดิน และการสะสมอินทรียวัตถุในดินเค็มที่มีการใส่วัสดุอินทรีย์ต่างชนิดกัน" ได้รับรางวัลชนะเลิศภาคบรรยาย สาขาการจัดการดินปัญหา ในการประชุมวิชาการประจำปี 2566 "ฟื้นฟูปฐพีสร้างสรรค์ดินดี ด้วยเทคโนโลยีพัฒนาที่ดิน" ซึ่งจัดระหว่างวันที่ 4-6 กันยายน 2566 ณ โรงแรมเดอะกรีนเนอรี่ รีสอร์ท เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา" อธิบดีกรมพัฒนาที่ดิน กล่าว

ด้าน นายอรรณพ พุทธโส นักสำรวจดินชำนาญการพิเศษ สำนักงานพัฒนาที่ดินเขต 5 กล่าวว่า วัตถุประสงค์งานวิจัยนี้ เพื่อศึกษาการใส่วัสดุอินทรีย์ต่างชนิดกันที่เกษตรกรหาได้ในท้องถิ่นต่อการย่อยสลายวัสดุอินทรีย์การปลดปล่อยธาตุอาหารไนโตรเจน (N) กิจกรรมจุลินทรีย์ดิน การเกิดเม็ดดิน และการสะสมอินทรียวัตถุในดินเค็ม โดยคัดเลือกวัสดุอินทรีย์ตัวแทนในท้องถิ่น ประกอบด้วย ซากถั่วลิสง ใบหญ้าแฝก ฟางข้าว แกลบ และใบยูคาลิปตัสใส่อัตรา 1.6 ตันต่อไร่ และศึกษากลไกการเปลี่ยนแปลงตลอดระยะเวลา 1 ปี

นายอรรณพ กล่าวต่อไปว่า จากการวิจัย พบว่า วัสดุอินทรีย์แต่ละชนิดมีระยะเวลาการสลายตัวและปล่อยธาตุอาหาร N ต่างกัน ตลอด 1 ปี โดยวัสดุเหลือใช้ในกลุ่มพืชตระกูลถั่วอย่างซากถั่วลิสงที่มี N เป็นองค์ประกอบสูงจะสลายตัวเร็ว และปล่อยธาตุ N สูงสุด (22.98 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม) ใน 2 สัปดาห์แรก ในขณะวัสดุอินทรีย์อื่นสลายตัวช้าและค่อยๆ ปล่อยธาตุ N สู่ดิน วัสดุอินทรีย์ที่ใส่เป็นแหล่งพลังงานและอาหารของจุลินทรีย์ดิน ดินที่ใส่ใบหญ้าแฝกส่งเสริมประสิทธิภาพการทำงานจุลินทรีย์ดินสูง ซึ่งช่วยรักษาคาร์บอน (C) ไว้ในดินแทนที่จะสูญหายไปในรูป CO2 และส่งเสริมให้ดินมีโครงสร้างเม็ดดินที่ใหญ่สุด (0.314 มิลลิเมตร) และที่น่าสนใจอีกประการ คือ การใส่วัสดุอินทรีย์ทำให้มีอินทรียวัตถุ (OM) สะสมในดินเพิ่มขึ้นถึง 29-55% ซึ่งสูงสุดในดินใส่ใบยูคาลิปตัสและใบหญ้าแฝก

"ความเข้าใจของกลไกที่เกิดขึ้นในดินเค็ม ทั้งรูปแบบการสลายตัว การปล่อยธาตุอาหาร N กิจกรรมจุลินทรีย์ดิน และการเกิดโครงสร้างเม็ดดิน ที่สัมพันธ์กับความแตกต่างของวัสดุอินทรีย์ ความชื้นดิน ค่าการนำไฟฟ้า และปริมาณโซเดียมในดิน" นำไปสู่การวางแผนการเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนด้านการจัดการดิน น้ำ และปุ๋ยของเกษตรกรในการปลูกข้าวในพื้นที่ดินเค็มได้" นายอรรณพ กล่าว

 


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ