ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) โรคปวดเรื้อรังทั่วตัว รักษาได้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดย คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

ข่าวทั่วไป Wednesday November 1, 2023 09:14 —ThaiPR.net

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) โรคปวดเรื้อรังทั่วตัว รักษาได้ด้วยศาสตร์การแพทย์แผนจีน โดย คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว

เมื่อพูดถึงอาการปวดต่าง ๆ ทุกคนย่อมรับรู้ถึงลักษณะของอาการปวดได้เป็นอย่างดี เช่น ปวดหัว ปวดแขน ปวดขา เป็นต้น ซึ่งอาการเหล่านี้ล้วนแล้วแต่เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตทั้งสิ้น แต่มีเพียงไม่กี่คนที่จะต้องอยู่กับความเจ็บปวดที่รุนแรงมากกว่านั้น ก็คือ การปวดทั่วทั้งตัว ตั้งแต่ศีรษะถึงนิ้วเท้า ซึ่งอาการปวดดังกล่าวสามารถเกิดได้กับทุกส่วนของร่างกาย ในบางครั้งอาจเกิดอาการปวดพร้อมกันมากกว่า 10 จุด โดยอาจซ้ำหรือไม่ซ้ำจุดกันในแต่ละวัน ที่สำคัญมักจะหาสาเหตุของการปวดนั้นไม่ได้ว่าเกิดจากอะไร อีกทั้งจะปวดมากขึ้นหากมีการใช้งานหรือใช้กล้ามเนื้อในส่วนนั้น อาการดังกล่าว คือ อาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) คืออะไร

ไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) คือ กลุ่มอาการปวดเรื้อรัง โดยอาการปวดมักจะกระจายหลายจุดทั่วร่างกาย โดยเฉพาะตำแหน่งของกล้ามเนื้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่ออ่อนของร่างกาย โดยบริเวณที่เกิดอาการบ่อย ๆ คือ ศีรษะ คอ บ่า และหลัง แต่ผู้ป่วยบางรายอาจปวดทั่วทั้งตัว นอกจากนั้น ผู้ป่วยอาจมีอาการอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น อ่อนเพลีย นอนหลับไม่สนิท สมาธิและความจำถดถอย รวมถึงอาจมีความเครียดและอารมณ์ซึมเศร้าร่วมด้วย ส่งผลให้ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการวินิจฉัยหลายอย่าง เนื่องจากลักษณะอาการของโรคไฟโบรมัยอัลเจีย นอกจากมีอาการปวดและยังมีอีกหลากหลายอาการร่วมด้วย โรคไฟโบรมัยอัลเจีย เกิดได้จากหลายสาเหตุและหลายปัจจัยร่วมกัน ซึ่งส่งผลต่อระบบประสาทส่วนกลาง คือ สมองและไขสันหลัง อยู่ในสภาวะที่ไวต่อความรู้สึกมากกว่าปกติ โดยเฉพาะสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับการรับรู้ความเจ็บปวด ความคิดและอารมณ์

สาเหตุการเกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia)

สาเหตุที่เป็นปัจจัยให้เกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจียมีหลายด้าน ได้แก่

  • ปัจจัยทางด้านร่างกาย กล่าวคือ การมีประวัติเคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่กระทบต่อระบบสมองและไขสันหลัง รวมทั้งการใช้ร่างกายในการทำงานหนักเป็นระยะเวลานาน ทำให้เกิดการสะสมการบาดเจ็บของกล้ามเนื้ออย่างต่อเนื่อง
  • ปัจจัยทางด้านจิตใจ กล่าวคือ ผู้ที่มีภาวะเครียดสะสม มีโอกาสเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียมากกว่าคนทั่วไป
  • ปัจจัยทางด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม กล่าวคือ สังคมและสภาพแวดล้อมย่อมส่งผลให้เกิดความเครียด ถือเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้มีโอกาสเป็นโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้เช่นกัน

นอกจากนั้น โรคไฟโบรมัยอัลเจีย มักเกิดร่วมกับโรคหรือภาวะอื่น ๆ ได้มากกว่าปกติ เช่น เกิดร่วมกับโรคไมเกรน โรคปวดกล้ามเนื้อมัยโอฟาสเชี่ยล โรคไขข้ออักเสบ โรควิตกกังวล โรคซึมเศร้า เป็นต้น หรืออาจกล่าวได้ว่าโรคเหล่านี้ถือเป็นปัจจัยที่กระตุ้นให้เกิดโรคไฟโบรมัยอัลเจียได้

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ในมุมมองของศาสตร์การแพทย์แผนจีน

สาเหตุของอาการปวดในศาสตร์การแพทย์แผนจีน เกิดจากการไหลเวียนของเลือดและชี่ในเส้นลมปราณติดขัด ทำให้ไหลเวียนไม่คล่อง จึงเกิดอาการปวด แต่หากเลือดและชี่สามารถไหลเวียนได้คล่อง อาการปวดก็จะไม่เกิดขึ้น

การวิเคราะห์แนวคิดของเลือดและชี่อุดกั้นกับอาการปวด

1. การไหลเวียนเลือดสู่เนื้อเยื่อผิดปกติ อันเกิดจาก

- การขาดเลือดของเนื้อเยื่อจากเลือดอุดกั้นไหลเวียนไม่ดี อาการปวดจะเป็นแบบปวดเหมือนเข็มแทงเฉพาะที่ปวดร้าว เช่น การปวดจากหลอดเลือดหัวใจตีบ ปวดท้องประจำเดือน ปวดบริเวณที่เคยปวดถูกกระทบกระแทกฟกช้ำมาก่อน

- การปวดจากเลือดน้อยหรือพลังชี่น้อย หรือภาวะพร่อง ทำให้เลือดไหลเวียนช้ากว่าปกติ อาการปวดจะเนิบ ๆ คลุมเครือไม่ชัดเจน ถ้าขาดเลือดและชี่มากจนภายในร่างกายมีความเย็นมาก ขาดหยางชี่ อาการปวดจะรุนแรง การปวดแบบนี้เมื่อใช้มือกดหรือใช้ความร้อนประคบจะรู้สึกสบายขึ้น

- การปวดจากเลือดมาคั่งค้าง เกิดจากการอักเสบ อาจเนื่องจากการติดเชื้อหรือไม่ติดเชื้อ ที่มีอาการปวดบวมแดงร้อน ซึ่งถือเป็นการอุดกั้นชนิดหนึ่ง การรักษาต้องใช้หลักการระบายภาวะความร้อนและอุดกั้น โดยอาการปวดลักษณะนี้ไม่ควรระงับด้วยความร้อน แต่จะต้องใช้การประคบความเย็น

2. การไหลเวียนของระบบน้ำเหลืองผิดปกติ การปวดลักษณะนี้จะมีอาการตึง ๆ แน่น ๆ ซึ่งมักเกี่ยวข้องกับการบวมน้ำ เช่น ขาบวม ท้องมาน (มีน้ำในช่องท้อง) ในแพทย์แผนจีน คือ การปวดจากภาวะความชื้นหรือเสมหะตกค้าง เนื่องจากระบบน้ำเหลืองกับระบบเลือดมักสัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด ในทางคลินิกเวลารักษาการปวดจากเลือดอุดกั้นหรือความชื้นเสมหะอุดกั้นจะต้องพิจารณาการให้ยาสมุนไพรจีนรักษาร่วมกันด้วย

3. การปวดจากการอุดกั้นในอวัยวะกลวง เนื่องจากร่างกายคนของเรามีอวัยวะภายในที่ตัน เรียกว่า อวัยวะจั้ง มีหน้าที่ในการเก็บ อวัยวะภายในที่กลวงเรียกว่า อวัยวะฝู่ มีหน้าที่ลำเลียงส่งผ่านอาหารหรือสารคัดหลั่งหรือของเสียของระบบต่าง ๆ ดังนั้น หากการระบายของสิ่งต่าง ๆ ไม่คล่อง เกิดการติดขัด ย่อมทำให้เกิดอาการปวด เช่น ปวดนิ่วถุงน้ำดี การปวดแน่นอกเนื่องจากเสมหะไม่ออก การปวดท้องเนื่องจากท้องผูก การปวดตับอ่อนเนื่องจากการกดทับ การปวดร้าวเนื่องจากนิ่วอุดตันท่อไต เป็นต้น

โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ตามศาสตร์การแพทย์แผนจีน แบ่งออกเป็น 4 กลุ่มอาการ ดังนี้

1. กลุ่มชี่ตับติดขัด : ลักษณะอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย ปวดแบบเฉพาะที่หรือปวดบวม มีอาการชา เหนื่อยล้า เศร้าสร้อย จิตตก ปวดศีรษะ (รวมถึงปวดศีรษะจากไมเกรน) เริ่มมีอาการโกรธง่าย หงุดหงิดง่าย กล้ามเนื้อตึงบริเวณคอ ไหล่ นอนไม่หลับ ตื่นง่าย หลับยาก ลำไส้แปรปรวน อาการเหล่านี้อาจเกิดจากความเครียด ลิ้นมีฝ้าขาวหนา ชีพจรห่วน

2. กลุ่มชี่และเลือดพร่อง (โดยเฉพาะชี่ของม้ามพร่อง เลือดของหัวใจพร่อง เลือดของตับพร่อง) : ลักษณะอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย เหนื่อยล้าเรื้อรั้ง เหนื่อยง่าย ปวดหัวตื้อ ๆ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ชา นอนไม่หลับ ตื่นง่าย ใบหน้าซีด อัตราการเต้นของหัวใจไม่ปกติ มักมีอารมณ์หดหู่ สีลิ้นซีด ฝ้าขาวบาง ชีพจรซี่และยั่ว

3. กลุ่มชี่และเลือดอุดตัน : ลักษณะอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย ปวดแสบ มักมีอาการปวดเหมือนถูกเข็มแทงเฉพาะที่ ปวดศีรษะ เวียนศีรษะ ใบหน้ามีสีคล้ำ สีลิ้นม่วงหรือมีจุด ชีพจรเฉินหรือซี่เซอะ

4. กลุ่มหัวใจและไตไม่พอ : ลักษณะอาการ คือ เจ็บและปวดทั่วร่างกาย มีอาการข้อฝืดในช่วงเวลาเช้า ขี้หนาว ผู้ชายสมรรถภาพทางเพศลดลง ทั้งผู้ชายผู้หญิงความสามารถในการสืบพันธุ์ลดลง ประกอบกับอาการอื่น ๆ เช่น ปวดเอว ขาอยู่ไม่สุข กระเพาะปัสสาวะผิดปกติ ปวดประจำเดือน ประจำเดือนขาด กลุ่มอาการเริ่มต้นก่อนมีประจำเดือน มีอาการร้อนวูบวาบเหงื่อแตกตอนกลางคืน มีอาการวิตกกังวล สีลิ้นแดงซีด ชีพจรเฉินซี่และซู่

การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ด้วยการฝังเข็ม

การฝังเข็ม คือ วิธีการรักษาโรค ฟื้นฟูสุขภาพ สร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค โดยการใช้เข็มปักไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ของร่างกายในตำแหน่งที่เป็นจุดเฉพาะ โดยมีวัตถุประสงค์ในการรักษา 2 ส่วน ได้แก่

1. เพื่อปรับสมดุลของร่างกาย กระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัวขึ้น ช่วยให้อวัยวะและระบบการทำงานต่าง ๆ ของร่างกายกลับทำงานได้ตามปกติ ด้วยพลังธรรมชาติของสิ่งที่มีชีวิต จึงนับว่าเป็นวิธีที่ปลอดภัยและได้ผลดี

2. การฝังเข็มสามารถช่วย "ระงับความเจ็บปวด" จึงมักนำไปใช้ในการรักษาโรคปวดต่าง ๆ หรือใช้ในการผ่าตัด ทั้งนี้ การฝังเข็มได้รับการยอมรับจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ว่า กลุ่มการรักษาอาการปวดเรื้อรัง เป็นกลุ่มอาการที่สามารถรักษาหรือบรรเทาอาการด้วยวิธีฝังเข็มได้ โดยเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลเด่นชัดเป็นพิเศษ ดังนั้น การรักษาโรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) ด้วยการฝังเข็มจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพและได้ผลเด่นชัดในการรักษากลุ่มอาการปวดต่าง ๆ ของผู้ป่วยได้ดีขึ้น

อย่างไรก็ตาม โรคไฟโบรมัยอัลเจีย (Fibromyalgia) เป็นกลุ่มอาการที่อาจมีอาการของโรคร่วมอื่น ๆ รวมอยู่ด้วย ดังนั้น การรักษาจึงมิใช่การมุ่งรักษาที่อาการปวดเท่านั้น แต่ต้องมุ่งรักษาที่สาเหตุของการเกิดอาการเหล่านั้นและอาการของโรคอื่น ๆ ด้วย เพื่อให้การรักษาเกิดประสิทธิภาพอย่างสูงสุด

  • สอบถามข้อมูล หรือปรึกษาเรื่องสุขภาพได้ที่ "ทีมหมอจีน" คลินิกการแพทย์แผนจีนหัวเฉียว โทร 02 223 1111 
  • เปิดทำการทุกวัน (ยกเว้นวันหยุดนักขัตฤกษ์) ตั้งแต่เวลา 08:00 - 16:00 น.
  • LINE OA: @huachiewtcm
  • Facebook: หัวเฉียวแพทย์แผนจีนกรุงเทพ Huachiew TCM Clinic

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ