ไทยพีบีเอส เปิดบ้านต้อนรับ ผู้เข้าอบรมโครงการ บยสส.รุ่นที่ 3

ข่าวทั่วไป Monday February 12, 2024 12:30 —ThaiPR.net

ไทยพีบีเอส เปิดบ้านต้อนรับ ผู้เข้าอบรมโครงการ บยสส.รุ่นที่ 3

ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมศึกษาดูงานแลกเปลี่ยนความคิดเห็นแก่ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3

เมื่อวันที่ 9 ก.พ. 67 องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ส.ส.ท.) หรือ ไทยพีบีเอส ร่วมกับสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย จัดกิจกรรมศึกษาดูงานประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ให้แก่ผู้เข้าอบรมโครงการอบรมหลักสูตรผู้บริหารยุทธศาสตร์การสื่อสารมวลชนระดับสูง (บยสส.) รุ่นที่ 3 ซึ่งเป็นผู้บริหารระดับสูงจากหลากหลายหน่วยงานทั้งภาครัฐ เอกชน รวมถึงนักวิชาการด้านสื่อสารมวลชน   โดยมี รศ.ดร.วิลาสินี พิพิธกุล ผู้อำนวยการส.ส.ท. ให้การต้อนรับ พร้อมกล่าวถึงบทบาทและทิศทางสื่อสาธารณะ ไทยพีบีเอส  ด้วย 5 คำสัญญา เพื่อยึดโยงกับประชาชน ได้แก่ 1. One Thai PBS เชื่อมโยงเป็นหนึ่งเดียว 2. More than TV เป็นมากกว่าสถานีโทรทัศน์ 3.Thai Originals ภาคภูมิไทย 4.Global Citizen เตรียมความพร้อมสู่การเป็นพลเมืองโลก 5.Connecting the Nation สื่อสารคุณค่า และเชื่อมต่อความหลากหลาย

          นอกจากนี้ ยังจัดให้มีการบรรยายในหัวข้อสำคัญ ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินการของไทยพีบีเอส ได้แก่ "การบริหารงานด้านข่าวแบบไทยพีบีเอส" โดยนายก่อเขต จันทเลิศลักษณ์ ผู้อำนวยการสำนักข่าว ไทยพีบีเอส หัวข้อ "Policy watch เชื่อมนโยบายสาธารณะ-สื่อ-ประชาชน" โดยนางสาวชุตินธรา วัฒนกุล บรรณาธิการบริหารด้านข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส หัวข้อ "AI กับอนาคตในอุตสาหกรรมสื่อ" โดยนางสาวกนกพร ประสิทธิ์ผล ผู้อำนวยการสำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส และหัวข้อ "ไทยพีบีเอสกับเทคโนโลยีการออกอากาศ" โดยนายธนกร สุขใส รักษาการผู้อำนวยการสำนักวิศวกรรม

ทั้งนี้ ผู้เข้าร่วมอบรม มีข้อซักถามที่น่าสนใจหลายประเด็น เช่น รศ.ดร.ปรีดา อัครจันทโชติ คณบดีคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวชื่นชมไทยพีบีเอส ในการนำเสนอ "ละครบุญผ่อง" ที่สร้างจากเรื่องจริงของชายไทยธรรมดาผู้ได้รับการยกย่องจากนานาชาติว่าเป็นวีรบุรุษสงครามโลกครั้งที่ 2 และไทยพีบีเอส เป็นสื่อสาธารณะที่มีนวัตกรรมหลายเรื่องที่น่าสนใจ อย่าง "Policy watch" และ การนำนวัตกรรมด้าน AI  มาใช้งาน ซึ่งได้ตั้งข้อสังเกตถึงการวิธีการขับเคลื่อน "Policy watch" และประเด็นของการใช้ AI โดยที่ต้องคำนึงถึงจริยธรรมไปด้วย

"การขับเคลื่อน "Policy watch" นั้น ไทยพีบีเอส เป็นผู้ริเริ่ม โดยเริ่มต้นจากฐานข้อมูล งานวิจัย และข้อมูลจากหลาย ๆ ส่วนมากมาย แต่ไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำได้สำเร็จในระยะเวลารวดเร็ว หรือทำได้โดยลำพัง ต้องอาศัยภาคี เครือข่าย และความร่วมมือจากทุกหน่วย ทุกคนสามารถเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อน "Policy watch" ไปพร้อม ๆ กัน" นางสาวชุตินธรา บก.บห.ด้านข่าวออนไลน์ ไทยพีบีเอส กล่าว

ด้าน นางสาวกนกพร ผอ.สำนักสื่อดิจิทัล ไทยพีบีเอส กล่าวถึงประเด็น AI และจริยธรรม ว่า "ไทยพีบีเอสไม่ได้มองว่า AI เป็นเพียงโอกาส แต่เป็นความเสี่ยงด้วยเช่นกัน การเรียกร้องถึงจริยธรรมในการใช้ AI กำลังเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งไทยพีบีเอส ไม่ได้ละเลย แต่ได้หารือกันถึงแนวทางมาตรฐาน จริยธรรมในการใช้งาน AI บ้างแล้ว"

โดยการเข้าเยี่ยมชมการดำเนินงานของไทยพีบีเอส ในครั้งนี้ นอกจากจะได้รับฟังบรรยายจากทีมผู้บริหารของไทยพีบีเอสแล้ว ยังได้เข้าชมสถานที่ และการทำงานจริงของไทยพีบีเอส ทั้งในส่วนห้อง Mini Studio ของสำนักสื่อดิจิทัล ห้อง Network Operations Center (NOC) ที่เป็นศูนย์กลางกลางควบคุมและดูแลระบบโครงข่ายการออกอากาศ และยังได้เข้าเยี่ยมชมสตูดิโอ และชมเบื้องหลังบันทึกเทปรายการ "คุยให้คิด" อีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ