กทม. จับมือ นิด้า สร้างเครือข่ายคนรักคลอง ฟื้นฟูสภาพคูคลองในกรุงเทพฯ

ข่าวทั่วไป Tuesday January 25, 2005 11:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ม.ค.--กทม.
กทม.จับมือ นิด้า สร้างเครือข่ายคนรักคลอง ฟื้นฟูสภาพคูคลองในกรุงเทพฯ ดึงภาคประชาชนมีส่วนร่วมรณรงค์ให้น้ำในคลองกลับมาใสเช่นเดิม ขณะกำลังเดินหน้าโครงการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง ใน 4 ปีข้างหน้า (2549-2552) ที่เขตคลองเตย ธนบุรี วังทองหลาง บางซื่อ และดอนเมือง งบประมาณกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท
นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมอภิปรายเรื่อง “กู้วิกฤตคลองในกทม. : แนวร่วมและวิธีการ” ในงานมหกรรมรวมใจเพื่อสายน้ำ ที่คณะพัฒนาสังคม สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (NIDA)จัดขึ้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างเครือข่ายในการฟื้นฟู อนุรักษ์คูคลอง โดยดึงภาคราชการ เอกชน สถาบันการศึกษา เข้าร่วมมือกันรณรงค์ให้คลองในกรุงเทพมหานครกลับมาใสสะอาดดังในอดีต
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กรุงเทพมหานครได้มีโครงการ “กรุงเทพฯ บ้านเรา ใสสะอาด” เพื่อพลิกฟื้นกรุงเทพฯ ให้เป็นมหานครแห่งความสดใส ประชาชนเห็นความเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม สดใส สวยงาม เป็นระเบียบ และสะอาดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ภายใต้โครงการดังกล่าวยังมีโครงการและกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการรณรงค์ฟื้นฟูอนุรักษ์คลอง คือ โครงการ “10 สวนสวย 10 คลองใส 10 ถนนสะอาด” โดย 10 คลองใสนั้นกรุงเทพมหานครจะดำเนินการผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาเข้าสู่คูคลองเพื่อเจือจางความเข้มข้นของน้ำเสีย เก็บขยะและสิ่งปฏิกูลต่างๆ ขุดลอกคูคลองเปิดทางระบายน้ำ ในคลอง 10 คลอง คือ คลองหลอด คลองบางลำพู คลองโอ่งอ่าง คลองวัดเทพธิดาราม คลองวัดราชบพิตร คลองผดุงกรุงเกษม คลองบางไส้ไก่ คลองบางน้ำชน คลองสำเหร่ และคลองบางสะแก ซึ่งจะเชื่อมโยงกับโครงการประชารวมใจคืนความสดใสให้คลองแสนแสบ ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ในการดูแล รักษา ฟื้นฟู สภาพแวดล้อมในลำคลองและริมคลอง รณรงค์ไม่ทิ้งขยะสิ่งปฏิกูลลงคลอง จัดการบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลอง และจะร่วมมือกับโรงเรียนในกรุงเทพมหานครทุกโรงเรียนกว่า 1,400 โรง ในการให้ความรู้ สร้างจิตสำนึกแก่เด็กนักเรียน สามารถนำไปถ่ายทอดสู่ภายนอกในฐานะแกนนำเยาวชนต่อไป เป็นการสร้างเครือข่ายได้อีกทาง
ในปี 2547 กรุงเทพมหานครมีน้ำเสียที่ปล่อยจากบ้านเรือน โรงงานอุตสาหกรรม สถานประกอบการต่างๆ ประมาณวันละ 2.6 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ปัจจุบันมีโรงบำบัดน้ำเสียสามารถบำบัดได้เพียง 19% อย่างไรก็ตาม ในปี 2548 กทม. กำหนดเปิดโรงบำบัดน้ำเสีย 2 แห่ง คือปลายเดือน ม.ค. ที่ดินแดง และเดือนมี.ค.ที่จตุจักร รวมทั้งหมดทั่วกรุงเทพมหานครมีโรงบำบัดน้ำเสียรวม 7 แห่ง สามารถบำบัดน้ำเสียได้เพิ่มเป็นประมาณ 37 % และยังมีโครงการสร้างโรงบำบัดน้ำเสียเพิ่มขึ้นอีก 5 แห่ง ใน 4 ปีข้างหน้า คือปี 2549-2552 ที่เขตคลองเตย ธนบุรี วังทองหลาง บางซื่อ และดอนเมือง งบประมาณกว่า 4.6 หมื่นล้านบาท 60% เป็นงบประมาณของกทม. ส่วนที่เหลือจะขออุดหนุนจากรัฐบาล ซึ่งได้สั่งการไปยังสำนักการระบายน้ำทำการศึกษาแล้ว คาดว่าจะดำเนินการที่เขตคลองเตยเป็นลำดับแรก หากก่อสร้างเสร็จทั้งหมดจะสามารถบำบัดน้ำเสียได้ทั้งระบบ ครอบคลุมพื้นที่ทั้งหมดกรุงเทพมหานครและปริมณฑลบางส่วน ซึ่งจะช่วยในการฟื้นฟู อนุรักษ์สภาพน้ำในคูคลองได้อีกทาง นอกจากนั้นกทม. จะเข้าตรวจสอบสถานประกอบการต่างๆ ร้านอาหาร โรงงาน ให้มีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนปล่อยลงคลองอีกด้วย แต่ทั้งนี้ต้องได้รับความร่วมมือจากประชาชนในการมีส่วนร่วมรักษาสภาพคูคลองให้ใสสะอาด โดยเฉพาะการสร้างเครือข่ายยุวทูตอาสาคนรักคลอง ขณะเดียวกันกรุงเทพมหานครจะให้ความร่วมมือกับสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ในโครงการประชารวมใจคืนความสดใสให้คลองแสนแสบเป็นอย่างดี--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ