กรมประมง…ขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด

ข่าวทั่วไป Friday April 19, 2024 17:17 —ThaiPR.net

กรมประมง…ขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด

กรมประมง?ขอเชิญร่วมแข่งขันตกปลาชะโด ชิงเงินรางวัลสูงสุดถึง 10,000 บาท!!! พร้อมถ้วยรางวัลและเกียรติบัตร
จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรฯ และพบกับกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย ในงาน "แข่งขันตกปลาชะโดกว๊านพะเยา ปี 2567"

กรมประมง?ขอเชิญผู้สนใจร่วมแข่งขันตกปลาชะโด ชิงเงินรางวัลสูงสุดถึง 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัล และเกียรติบัตรจาก ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในงาน "แข่งขันตกปลาชะโดกว๊านพะเยา ปี 2567" ในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567 เวลา 08.00-17.00 น. ณ ลานเอนกประสงค์เทศบาลเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา พร้อมร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ภายในงานอีกมากมาย อาทิ การแข่งขันทำอาหารจากปลาชะโด โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปลาชะโด การรับซื้อลูกปลาชะโดที่มีชีวิตจากกว๊านพะเยา บูธแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ รวมทั้งกิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่กว๊านพะเยา เพื่อรักษาความสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ไว้เป็นแหล่งอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง กล่าวว่า?กว๊านพระเยา คือ แหล่งน้ำจืดประเภท หนอง บึง ที่มีขนาดใหญ่เป็นลำดับ 3 ของประเทศไทย ตั้งอยู่ในอำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยเป็นแหล่งน้ำที่มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตของ ชาวพะเยาเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นแหล่งเพาะขยายพันธุ์ปลาน้ำจืดที่สำคัญในเขตภาคเหนือตอนบน ซึ่งสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาจะแพร่ขยายพันธุ์ไปยังลำน้ำอิงและแหล่งน้ำอื่น ๆ ที่มีระบบทางน้ำเชื่อมถึงกัน แต่ในปัจจุบันทั้งชนิดและปริมาณของสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาได้ลดจำนวนลง สาเหตุหนึ่งมาจากการแพร่ขยายพันธุ์ของปลาชะโดซึ่งมิใช่พันธุ์ปลาพื้นถิ่นของจังหวัดพะเยา โดยในช่วงปี พ.ศ. 2542-2543 ได้มีผู้นำปลาชะโดมาปล่อยลงสู่กว๊านพะเยา โดยปลาชะโดเป็นปลาน้ำจืดขนาดใหญ่ชนิดหนึ่ง อยู่ในวงศ์ปลาช่อน (Channidae) จัดเป็นปลาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในวงศ์นี้ ซึ่งมีขนาดโตเต็มที่ได้ถึง 1-1.5 เมตร มีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัม รูปร่างลำตัวค่อนข้างกลมยาว มีฟันแหลมคม เมื่อยังเป็นลูกปลาจะเรียกว่า "ลูกครอก" หรือ "ชะโดป๊อก" และเมื่อโตเต็มวัยแล้วจะเรียกว่า "ชะโดแมลงภู่" ตามสีของลำตัว หากเป็นสีดำจะเรียกว่า "ชะโดถ่าน" รวมทั้งยังมีอัตรา การเจริญเติบโตเร็วที่สุดในวงศ์ปลาช่อน กินปลาเล็กเป็นอาหาร และยังมีอุปนิสัยดุร้ายมากที่สุดด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในฤดูผสมพันธุ์ระหว่างเดือนกรกฎาคม-กันยายน ซึ่งปลาตัวผู้จะเป็นผู้ดูแลไข่และลูกอ่อน จะกัดและทำร้ายสัตว์ทุกชนิด ที่ผ่านเข้ามาใกล้รังไม่เว้นแม้กระทั่งมนุษย์ จึงมักมีผู้ถูกปลาชะโดกัดทำร้ายบ่อย ๆ อีกทั้งยังเป็นปลาที่สามารถพบได้ในทุกภาคของประเทศไทย ซึ่งในปัจจุบันพบว่า มีชาวประมงที่ใช้เครื่องมือเบ็ดและข่าย สามารถจับปลาชะโดในกว๊านพะเยาได้เฉลี่ยปีละ 1,300 กิโลกรัม

จากภัยคุกคามของปลาชะโดที่มีต่อสัตว์น้ำพื้นบ้าน จนทำให้สูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ ส่งผลต่อระบบนิเวศในแหล่งน้ำ และทำให้เกิดผลกระทบต่อจำนวนสัตว์น้ำในกว๊านพะเยาชนิดอื่นที่อาจจะถูกล่าและลดจำนวนลง ซึ่งจะส่งผลต่อวิถีชาวบ้าน โดยเฉพาะกลุ่มชาวประมงที่ต้องหาสัตว์น้ำมาเลี้ยงดูครอบครัวอาจจะหาสัตว์น้ำได้ยากขึ้นในอนาคต ดังนั้น หน่วยงานกรมประมงจังหวัดพะเยา จึงได้ดำเนินการจัดงาน "แข่งขันตกปลาชะโดกว๊านพะเยา ปี 2567" ในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567 ณ ลานอเนกประสงค์เทศบาลเมืองพะเยา อำเภอเมืองพะเยา จังหวัดพะเยา โดยมีนายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง เป็นประธานในพิธีเปิดการแข่งขันตกปลาชะโด เวลา 08.00 น. ซึ่งภายในงานมีการจัดกิจกรรมต่าง ๆ มากมาย อาทิ การแข่งขันตกปลาชะโด ชิงเงินรางวัลสูงสุดถึง 10,000 บาท พร้อมถ้วยรางวัลและเกียรติบัตรจากร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยแบ่งเป็นประเภทเหยื่อปลอม และเหยื่อสด การแข่งขันทำอาหารจากปลาชะโด

โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 13 แห่ง เช่น ลาบปลาชะโด ต้มยำปลาชะโด เป็นต้น ชิงเงินรางวัลพร้อมเกียรติบัตร การจัดนิทรรศการให้ความรู้เกี่ยวกับปลาชะโด การรับซื้อลูกปลาชะโดที่มีชีวิตจากกว๊านพะเยา ตัวละ 1 บาท ตั้งแต่เวลา 14.00-17.00 น. บูธแสดงและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำ กิจกรรมการปล่อยพันธุ์สัตว์น้ำลงสู่กว๊านพะเยา ได้แก่ เต่านา เต่าบัว เต่าหับ กุ้งก้ามกราม ปลาไหลนา เพื่อรักษาความสมดุลและความอุดมสมบูรณ์ไว้เป็นแหล่งอาหารของชุมชนอย่างยั่งยืนต่อไป

อธิบดีกรมประมง กล่าวทิ้งท้ายว่า?ขอเชิญชวนเกษตรกร ประชาชนในพื้นที่ และผู้สนใจ สมัครเข้าร่วมแข่งขัน ตกปลาชะโด และร่วมสนุกกับกิจกรรมต่าง ๆ ในงาน "แข่งขันตกปลาชะโดกว๊านพะเยา ปี 2567" ในวันอาทิตย์ที่ 21 เมษายน 2567 เวลา 08.00-17.00 น. ณ ลานเอนกประสงค์เทศบาลเมืองพะเยา อำเภอเมือง จังหวัดพะเยา โดยสามารถดูรายละเอียดได้ตาม QR Code ด้านล่าง หรือติดต่อสอบถามรายละเอียดข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ อาจารย์ต้อม ชมรมตกปลาพะเยา โทรศัพท์ 08 1189 0971 หรือนายวิวัฒน์ ปรารมภ์ ประมงจังหวัดพะเยา โทรศัพท์ 06 1995 1991


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ