ปภ. แนะประชาชนใน ๒๒ จังหวัดเสี่ยง เรียนรู้วิธีรับมือแผ่นดินไหว

ข่าวทั่วไป Wednesday May 14, 2008 16:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 พ.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยแผ่นดินไหว เรียนรู้ศึกษาวิธีรับมือแผ่นดินไหว ตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของเครื่องใช้ภายในบ้านเรือน โดยเฉพาะผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูง หากเกิดแผ่นดินไหว อย่าตื่นตระหนก ให้ตั้งสติ ควรหลบบริเวณใต้โต๊ะ รอจนเหตุการณ์สงบค่อยหนีออกจากอาคาร หลังเหตุแผ่นดินไหวสงบลง ควรหมั่นติดตามข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด เพราะอาจเกิดอาฟเตอร์ช๊อคตามมาได้
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กล่าวว่า จากเหตุการณ์แผ่นดินไหว ระดับความรุนแรง ๗.๖ ริกเตอร์ ซึ่งมีศูนย์กลางที่เมืองเฉินตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน เมื่อวันที่ ๑๒ พ.ค.๕๑ ที่ผ่านมา ส่งผลให้ผู้ที่อาศัยอยู่ในอาคารสูง ย่านลุมพินี สาธร และสีลม ของกรุงเทพมหานคร รับรู้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว ต่างตื่นตระหนก วิ่งหนีลงจากอาคารกันอย่างโกลาหล เหตุการณ์ดังกล่าว บ่งชี้ให้เห็นว่าแผ่นดินไหวเป็นภัยใกล้ตัวคนไทย ซึ่งไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้า ดังนั้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะให้ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เสี่ยงแผ่นดินไหว ๒๒ จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน ตาก กำแพงเพชร เชียงใหม่ ลำพูน เชียงราย ลำปาง แพร่ พะเยา น่าน อุตรดิตถ์ กาญจนบุรี ราชบุรี อุทัยธานี หนองคาย นครพนม ชุมพร ประจวบคีรีขันธ์ ระนอง พังงา สุราษฎร์ธานี และกระบี่ ศึกษาวิธีรับมือแผ่นดินไหว โดยหมั่นควรตรวจสอบสภาพความแข็งแรงของบ้านและเครื่องใช้ภายในบ้าน ยึดอุปกรณ์ เช่น ตู้และชั้นหนังสือ เข้ากับเสาหรือผนังให้มั่นคง ควรแนะนำสมาชิกภายในบ้านให้เข้าใจเกี่ยวกับการปฏิบัติตน ให้ปลอดภัย หากอยู่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เช่น วิธีการเปิดปิดน้ำและถังแก๊ส วิธีการปฐมพยาบาลเบื้องต้น กำหนดจุดนัดพบกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน และจัดเตรียมอุปกรณ์สิ่งของยังชีพและสิ่งของที่จำเป็น เช่น อาหารแห้ง ไฟฉาย ถ่านไฟฉายและกระเป๋ายา ระหว่างเกิดเหตุแผ่นดินไหว ควรตั้งสติ อย่าตื่นตระหนก หาที่หลบกำบังให้พ้นจากการถูกสิ่งหล่นทับ หรืออยู่ในจุดที่มีโครงสร้างแข็งแรง และควรอยู่ห่างจากประตู หน้าต่าง และห้ามใช้ลิฟท์ในการออกจากอาคารอย่างเด็ดขาด เพราะหากใช้ไฟฟ้าดับอาจทำให้ติดค้างอยู่ในลิฟท์ได้ หากอยู่นอกอาคาร ควรอยู่ห่างจากอาคาร เสาไฟฟ้า ต้นไม้ใหญ่ หรือหากอยู่ภายในอาคารมีความสูงตั้งแต่ ๔ ชั้นขึ้นไป ให้หลบอยู่บริเวณใต้โต๊ะก่อน รอจนกว่าเหตุการณ์สงบจึงค่อยออกจากตัวตึก แต่ถ้าหากอยู่ภายในอาคารสูงไม่เกิน ๔ ชั้น หรือมีสภาพเก่าไม่มั่นคง ให้รีบออกจากตัวอาคารให้เร็วที่สุด สำหรับผู้ที่อาศัยอยู่ชายฝั่งทะเล หากได้รับการประกาศเตือนให้รีบอพยพขึ้นที่สูงทันที หรือออกห่างชายฝั่งให้ได้มากที่สุดเพราะหลังเกิดแผ่นดินไหว อาจเกิดคลื่นยักษ์สึนามิขึ้นได้ ส่วนผู้ที่อยู่ในรถ ควรจอดรถและหลบอยู่ในรถ รอจนแผ่นดินไหวสงบค่อยขับรถต่อไป ไม่ควรขับรถใกล้ถนนสูงหรือหน้าผา เพราะอาจเกิดเหตุดินถล่มได้ เมื่อเหตุการณ์แผ่นดินไหวสงบลง ควรตรวจสอบว่ามีผู้ได้รับบาดเจ็บหรือไม่ ถ้ามีให้รีบ ทำการปฐมพยาบาลเบื้องต้น และรีบออกจากตัวอาคารหรือที่เกิดเหตุทันที เพราะอาจมีเหตุการณ์อาฟเตอร์ช็อกตามมาอีก สุดท้ายนี้ แผ่นดินไหวเป็นภัยที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้ล่วงหน้าว่าจะเกิดขึ้นที่ไหนและเมื่อใด การเรียนรู้วิธีรับมือเหตุแผ่นดินไหวจึงเป็นแนวทาง ที่สำคัญที่จะช่วยลดความตื่นตระหนก ความหวาดกลัว และความสูญเสียต่างๆ ได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ