การเดินทางมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ทนง พิทยะ

ข่าวทั่วไป Thursday September 15, 2005 13:17 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--15 ก.ย.--ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
การเดินทางมายังตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยของ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ดร.ทนง พิทยะ 14 กันยายน 2548
สรุปประเด็นการหารือในวันนี้
เป็นการที่ ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังได้ประชุมหารือ กับ “สภาธุรกิจตลาดทุนไทย
(ประกอบด้วย 6 องค์กร 1.สมาคมนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ 2.สมาคมบล. 3.สมาคม บลจ.
4. สมาคม บจ. 5. สมาคมส่งเสริมผู้ลงทุนไทย 6. ตลาดหลักทรัพย์ฯ) เพื่อกำหนดแนวทางการทำงาน
ในประเด็นต่างๆ ที่สำคัญของตลาดทุน ทั้งในระยะสั้น และระยะยาว
1. มาตรการจูงใจบริษัทจดทะเบียนใหม่ด้วยอัตราภาษียืนยันจะไม่มีการขยายกำหนดเวลาแรงจูงใจด้านภาษีจากสิ้นปี 2548 อีกแต่อาจจะอนุโลมให้เฉพาะบริษัทที่เคยลงทะเบียนไว้กับตลาดหลักทรัพย์ ตั้งแต่ปี 2547
ที่ยื่นคำขอทันก่อนสิ้นปี 2548 และกระจายหุ้น/เข้าเทรดทันรอบบัญชีถัดไปเท่านั้นซึ่งก็ได้มอบหมายให้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ไปหารือ ร่วมกับ กรมสรรพากร และ สำนักงานคณะกรรมการ ก.ล.ต. และถ้าทำได้เหมาะสมเรียบร้อย ก็จะมีบริษัทที่กระจายหุ้น และเข้าซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปีหน้าได้กว่าร้อยบริษัทจดทะเบียน
2. การร่างแผนแม่บทพัฒนาตลาดทุน (เพื่อใช้แผนใหม่ ต้นปี 2549)
ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้มอบหมายให้สภาธุรกิจตลาดทุนไทย โดย ดร.ก้องเกียรติ โอภาสวงการ เป็นประธานคณะทำงาน โดยเชิญผู้แทนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกหน่วยงาน มาร่างแผนแม่บทเพื่อเป็นแนวทางการทำงาน 5 ปี (2549 — 2553) โดยแผนฯ ควรครอบคลุมการทำงานทั้งระบบตลาดทุนทุกประเด็น ซึ่งได้ให้ความสำคัญมากกับประเด็นต่างๆ อาทิเช่น
2.1. การทำงานด้านส่งเสริมบรรษัทภิบาล
ที่ได้ทำมาแล้วก็มีความคืบหน้าในระดับที่ดี แต่เราก็ต้องให้ความสำคัญกับการทำงานด้านนี้อย่างเข้มข้นต่อไป เพื่อสร้างความมั่นใจ ความน่าเชื่อถือของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายซึ่งจะต้องถือประเด็นบรรษัทภิบาลนี้เป็นประเด็นที่สำคัญที่สุดของระบบตลาดทุน
2.2. ตราสารหนี้
สร้างระบบตลาดรองที่แข็งแรง เช่นบทบาท Market Maker จะกำหนดเป็นหน้าที่ของ Primary Dealers อย่างไร การขยายฐานผู้ลงทุนในตลาดตราสารหนี้ไปสู่ประชาชนผู้ออมทั่วไป (มิใช่อยู่จำกัดเฉพาะกลุ่มผู้ลงทุนสถาบัน) ไปจนถึงการทำงานในระยะยาว เช่นการสร้าง Asian Bond ที่ขณะนี้กำลังเริ่มที่ พันธบัตรของรัฐ ให้ไปสู่การมี Corporate Asian Bond
2.3. สิทธิประโยชน์ ที่จะให้เฉพาะบริษัทจดทะเบียน และการสนับสนุนให้มีบริษัทจดทะเบียน
เพิ่มขึ้นไม่ควรเน้นแต่การจะขอลดอัตราภาษี เท่านั้น แต่ควรมีรูปแบบที่สร้างสรรค์เช่นการขจัดอุปสรรค และการกำหนดแรงจูงใจของบริษัทที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย เช่นบริษัทร่วมทุน บริษัทที่ได้รับการส่งเสริมการลงทุน บริษัทที่มีขนาดพอสมควรในต่างจังหวัด
2.4.การออมระยะยาวในระบบตลาดทุน
รัฐบาลได้ให้แรงจูงใจด้านภาษีเพื่อการออมระยะยาวอยู่หลายประเภทอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น การประกันชีวิต การออมโดยกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ การออมในกองทุนรวมระยะยาว เช่น LTFและ RMF ตลาดหลักทรัพย์ฯ และผู้ประกอบการทางธุรกิจต้องช่วยกัน ขยายความรู้ให้ผู้มีสิทธิออมทราบอย่างทั่วถึง และพิจารณาออมเพิ่มขึ้นตามสิทธิที่มี ต้องช่วยกันทำงานให้ได้ผล
2.5.การเปิดเสรีธุรกิจการเงิน (ตลาดทุน) กับต่างประเทศ (อย่างมีกำหนดเวลาที่เหมาะสม)
ไม่เฉพาะการเตรียมเพื่อสรุปการเจรจา FTA กับสหรัฐฯ ซึ่งเรากำลังดำเนินการเจรจาหารืออยู่เท่านั้น แต่เราต้องพร้อมกับ ระบบ ที่มีการแข่งขันและทำธุรกิจการเงิน (ตลาดทุน) อย่างเสรีกับต่างประเทศ ผู้ประกอบการไทย ทั้งระดับ ผู้บริหาร และบุคลากรต้องเร่งพัฒนาความรู้ของตนเองเพื่อรับกับภาวะโลกาภิวัฒน์ให้ได้
2.6.การลดความผันผวนที่ไม่จำเป็นของอัตราแลกเปลี่ยนจากการลงทุนในหุ้นกระดาน
ต่างประเทศ
การที่ผู้ลงทุนต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยซื้อขายหุ้นในกระดานต่างประเทศ ระหว่างผู้ลงทุนต่างประเทศด้วยกัน แล้วต้องแลกเปลี่ยนเงินตราไปมา อาจทำให้เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่จำเป็นก็ได้ ฝากตลาดหลักทรัพย์ฯ และ ผู้เกี่ยวข้องไปปรึกษาหารือกันดู ซึ่งก็อาจได้ข้อสรุปในการทำงานที่เป็นประโยชน์ สามารถลดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่ไม่จำเป็นลงได้
หลังจากนั้น ฯพณฯ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้ สนทนา แลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นทั่วๆไป กับ คณะกรรมการตลาดหลักทรัพย์ และ กรรมการหลักของ สภาธุรกิจตลาดทุนไทย ซึ่งประกอบด้วย ประธานสภาฯ และนายกสมาคม ที่อยู่ในธุรกิจตลาดทุนทุกสมาคม รวมทั้งผู้บริหารของตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ตลาดหลักทรัพย์เอ็ม เอ ไอ ( mai) ตลาดตราสารหนี้ และตลาดตราสารอนุพันธ์--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ