จุฬาฯ ร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เสนอแผนบูรณาการฟื้นฟูพื้นที่ประสบวิบัติภัย “สึนามิ” แถบฝั่งทะเลอันดามัน

ข่าวทั่วไป Tuesday January 18, 2005 13:19 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ม.ค.--จุฬา
จุฬาฯ ร่วมมือกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติ เสนอแผนบูรณาการฟื้นฟูพื้นที่ประสบวิบัติภัย “สึนามิ” แถบฝั่งทะเลอันดามัน
คลื่นยักษ์ “สึนามิ” ที่ซัดเข้าสู่ฝั่งทะเลอันดามันเมื่อเช้าวันที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗ ได้สร้างความเสียหายครั้งประวัติศาสตร์แก่ชีวิตและทรัพย์สินใน ๖ จังหวัดภาคใต้ของไทยเป็นอย่างมาก การเข้าช่วยเหลือและ แก้ปัญหาเร่งด่วนโดยเฉพาะปัญหาที่มีผลกระทบต่อชีวิต สุขภาพ และทรัพย์สิน เป็นความที่จำเป็น ในลำดับแรก ขั้นตอนต่อไปที่มีความสำคัญอย่างยิ่งคือการฟื้นฟูพื้นที่ต่างๆ ทั้งที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน รวมทั้งแหล่งท่องเที่ยวตามธรรมชาติต้องมีการประเมินสภาพความเสียหาย และหาหนทางฟื้นฟูความเสียหาย ดังกล่าวอย่างบูรณาการและยั่งยืน โดยดำเนินการไปพร้อมๆ กับการวางแผนจัดระเบียบเพื่อคุ้มครองทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม
การฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยนั้นประกอบด้วยงานหลายด้านที่มีส่วนเกี่ยวข้องเชื่อมโยงสัมพันธ์กัน อีกทั้งยังมีความซับซ้อนอยู่ที่เงื่อนไขด้านเวลา จำนวนผู้เกี่ยวข้อง และหน่วยงานที่มีส่วนรับผิดชอบ ปัจจัยความสำเร็จของการทำงานนอกจากต้องสร้างแนวทางการพัฒนาบนพื้นฐานความยั่งยืนแล้ว ยังต้องมีการประสานงานในลักษณะบูรณาการ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้งานครั้งนี้บรรลุเป้าหมาย ที่แท้จริง
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้ตระหนักถึงความสำคัญในการฟื้นฟูเป็นอย่างมาก นอกจากจะได้ส่ง คณะแพทย์ พยาบาล และบุคลากรทางการแพทย์ จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับ สภากาชาดไทย ลงไปให้ความช่วยเหลือเร่งด่วนสำหรับผู้บาดเจ็บ ได้ส่งคณะแพทย์และเจ้าหน้าที่ด้าน นิติเวชศาสตร์ไปช่วยในการชันสูตรเพื่อพิสูจน์บุคคลที่เสียชีวิตแล้ว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยยังได้เริ่ม จัดตั้ง “ศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิ”โดย ศ. คุณหญิง สุชาดา กีระนันทน์ อธิการบดี ได้รวบรวมกลุ่มอาจารย์และนักวิชาการที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาร่วมกันเตรียมการและระดมความคิด เพื่อสนับสนุนข้อมูลเชิงวิชาการให้กับหน่วยงานที่รับผิดชอบ ซึ่งแบ่งออกเป็น ๔ กลุ่มย่อย ได้แก่ กลุ่มฟื้นฟูระบบกายภาพ กลุ่มฟื้นฟูระบบนิเวศ กลุ่มฟื้นฟูระบบเศรษฐกิจและสังคม และกลุ่มสร้างระบบเตือนภัย
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นหน่วยงานหลักที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการฟื้นฟู ผลกระทบที่เกิดกับอุทยานแห่งชาติ สภาพธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รวมทั้งทรัพยากรธรรมชาติในทุกด้าน จึงได้ประสานงานกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้เป็นแกนนำ พร้อมกับชักชวนเหล่านักวิชาการจากมหาวิทยาลัยหลายแห่งมาร่วมมือให้การสนับสนุนด้านวิชาการและร่วมดำเนินการในการฟื้นฟู ตามแนวคิดดังกล่าว โดยมี ศ.นพ.สุทธิพร จิตต์มิตรภาพ รองอธิการบดี เป็นผู้ประสานงานในเรื่องนี้ กลุ่มนักวิชาการแต่ละกลุ่มได้ปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดแล้วกับหน่วยงานภายในกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่รับผิดชอบในแต่ละส่วน และจัดทำโครงการฟื้นฟูซึ่งในระยะแรกมุ่งเน้นด้านกายภาพรวมถึงการฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งจะขยายขอบเขตให้ครอบคลุมเชิงบูรณาการอย่างสมบูรณ์ในระยะต่อไป
โครงการฟื้นฟูที่ร่วมกันจัดทำขึ้นดังกล่าว ประกอบด้วย ๔ แผนงาน ดังนี้
๑. แผนงานด้านทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วยโครงการสำรวจ ประเมินการเปลี่ยนแปลง และประเมินศักยภาพในการฟื้นฟูสภาพทางธรณีวิทยา โครงการสำรวจ ประเมินความเสียหาย และประเมินศักยภาพในการฟื้นฟูธรรมชาติและระบบนิเวศใต้ทะเล ระบบนิเวศบกและแหล่งน้ำ การดำเนินงานใน ๓ ส่วนนี้จะเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับการฟื้นฟูสภาพธรรมชาติที่ได้รับความเสียหายให้กลับมาสู่สภาพที่เอื้อต่อการใช้ประโยชน์โดยเร็ว โดยเฉพาะบริเวณอุทยานแห่งชาติ ชายหาดสาธารณะ พื้นที่ท่องเที่ยวตากอากาศ และพื้นที่ชุมชน นอกจากนี้ยังมีโครงการจัดทำแผนงานซึ่งจะใช้เป็นข้อมูลสำหรับการดำเนินการเกี่ยวกับระบบเตือนภัยต่อไป
๒. แผนงานด้านข้อมูลภูมิสารสนเทศและฐานข้อมูลทรัพยากรธรรมชาติ ประกอบด้วยการวิเคราะห์และสรุปการเปลี่ยนแปลงของสภาพชายฝั่งและทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อจัดทำแผนที่และจัดทำฐานข้อมูลใหม่ด้านภูมิสารสนเทศ (Geographic Information System — GIS) เพื่อใช้สำหรับดำเนินในแผนงานแรก รวมทั้งใช้เป็นฐานข้อมูลเพื่อการบริหารและการตัดสินใจสำหรับหน่วยปฏิบัติการต่อไปในอนาคต
๓. แผนงานด้านเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม เป็นงานที่กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติจะได้ใช้เป็นหลักในการประสานความร่วมมือกับหน่วยงานอื่น และจังหวัดพื้นที่ในการกำหนดเขตและรายละเอียดเกี่ยวกับสิ่งพึงระวังในการพัฒนาด้านอื่น เพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม ซึ่งต้องเร่งดำเนินการให้ทันและสอดรับกับสถานการณ์ที่ต้องเร่งจัดหาที่อยู่อาศัย พื้นที่เศรษฐกิจ และพื้นที่ท่องเที่ยว
๔. แผนงานด้านการฟื้นฟูอุทยานแห่งชาติทางทะเลที่เสียหาย นอกจากจะเร่งจัดทำแผนแม่บทการใช้พื้นที่ในเขตอุทยาน การสร้างระบบสาธารณูปโภคที่จำเป็นแล้ว ยังจะดำเนินการจัดวางภูมิสถาปัตยกรรมเพื่อให้เกิดภูมิทัศน์ที่เอื้อต่อการท่องเที่ยวและการให้บริการ การสร้างที่ทำการ ที่พักทดแทนในอุทยานสำหรับเจ้าหน้าที่ เมื่อประสานกับแผนงานแรก จะทำให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและ สิ่งแวดล้อมสามารถกำหนดเขตพื้นที่ที่สามารถเปิดให้สาธารณชนได้เข้าใช้ประโยชน์ตามลำดับของการฟื้นฟู ซึ่งจะไม่เน้นการซ้ำเติมความเสียหายต่อธรรมชาติ
ทั้งนี้การดำเนินงานตามโครงการฟื้นฟูดังกล่าว จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้รับความร่วมมือและประสานการทำงานกับมหาวิทยาลัยอีกหลายแห่ง โดยเฉพาะโครงการสำรวจและประเมินระบบนิเวศใต้น้ำ มีอาจารย์และนักวิชาการด้านวิทยาศาสตร์ทางทะเลจากสถาบันการศึกษาถึง ๘ แห่งเข้ามาร่วมแรงร่วมใจกัน ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และสถาบันเทคโนโลยีราชมงคลวิทยาเขตตรัง ทั้งนี้ได้ประสานความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน (สวพ) ในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ส่วนโครงการสำรวจและประเมินระบบนิเวศบก ได้รับความร่วมมือจากมหาวิทยาลัยมหิดล และกรมทรัพยากรชายฝั่งของกระทรวง
รายละเอียดและความคืบหน้าของโครงการ สามารถสอบถามได้ที่ศูนย์สนับสนุนการฟื้นฟูผลกระทบจากวิบัติภัยสึนามิ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ทำการชั้น ๓ อาคารจามจุรี ๔ โทร. ๐—๒๒๑๘ — ๔๔๕๐--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ