DSI เตือนภัยไร้สาย ระวังถูกล้วงภาพหวิว คลิปฉาว รหัสลับกรมสอบสวนคดีพิเศษ

ข่าวทั่วไป Wednesday July 23, 2008 14:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--23 ก.ค.--กรมสอบสวนคดีพิเศษ
สำนักคดีเทคโนฯ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เตือนประชาชน ใช้ไวเล็ท - บลูทูธ ระวังโจรขโมยข้อมูลส่วนตัว เผยย่านธุรกิจห้างสรรพสินค้า มีความเสี่ยงสูง แนะนำไม่ควรทำธุรกรรมทางการเงินในที่สาธารณะ จะปลอดภัยที่สุด
พ.ต.ท.พัฒนะ ศุกรสุต พนักงานสอบสวนคดีพิเศษ 8 สำนักคดีเทคโนโลยีและสารสนเทศ กรมสอบสวนคดีพิเศษ เปิดเผยว่า จากการเฝ้าระวังและติดตามพัฒนาการหลอกลวงของผู้กระทำความผิดทางเทคโนโลยีและสารสนเทศ ประกอบกับสถานการณ์ที่คนไทยปัจจุบันต้องเกี่ยวข้องกับเทคโนโลยี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเทคโนโลยีไร้สายอย่างโทรศัพท์มือถือ ที่ไม่ว่าเด็ก ผู้ใหญ่ และผู้สูงอายุ ใช้กันอย่างแพร่หลาย ซึ่งเป็นช่องทางให้ผู้กระทำความผิดใช้หลอกลวงผู้เสียหาย ดังปรากฏ เป็นข่าวให้เห็นเสมอ ซึ่งกรมสอบสวนคดีพิเศษ พยายามประกาศเตือนและประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบและระมัดระวังตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา แต่อย่างไรก็ตามวิถีชีวิตของคนไทยยังมีอีกหลายแง่มุมที่ยังต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและสารสนเทศอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และที่น่าเป็นห่วงในขณะนี้ก็คือการใช้เทคโนโลยีที่เรียกว่า “ไร้สาย”
พ.ต.ท.พัฒนะ กล่าวว่า ปัจจุบันเริ่มมีประชาชนใช้โทรศัพท์มือถือเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ต หรือใช้สัญญาณไวร์เลสในการเชื่อมต่อกับระบบอินเตอร์เน็ตมากขึ้น ทั้งที่บ้านและในที่สาธารณะ ซึ่งอาจเป็นการเปิดช่องทางให้ผู้กระทำความผิดก่อเหตุได้ง่ายขึ้น เพราะที่ผ่านมามีการโจรกรรมข้อมูลทางอินเตอร์เน็ตที่เรียกว่า “แฮกเกอร์” แม้จะกระทำผ่านคอมพิวเตอร์บ้านไม่ใช่แบบไร้สาย การติดตามตัวผู้กระทำความผิดมาดำเนินคดีก็ยังเป็นเรื่องยาก แต่การใช้ระบบอินเตอร์เน็ตแบบไร้สาย นอกจากจะเปิดโอกาสให้ผู้กระทำความผิดก่อเหตุโดยง่ายแล้วยังทำให้การติดตามตัวผู้กระทำความผิด เป็นไปด้วยความยากลำบากขึ้นอีกด้วย
“มันเกิดการกระทำความผิดที่เคลื่อนที่ได้ แล้วการเคลื่อนที่ของมันก็เป็นแบบไร้ทิศทาง อย่างสัญญาณไวร์เลส ซึ่งเป็นสัญญาณวิทยุปัจจุบันสามารถส่งสัญญาณออกไปเป็นรัศมีวงกรมได้ระยะทางประมาณ 100 เมตร หากมีผู้กระทำความผิดเกิดขึ้น เจ้าหน้าที่ก็ไม่สามารถหาจุดศูนย์กลางได้ว่าอยู่ ณ จุดใด เพราะไวร์เลสเป็นเหมือนสัญญาณวิทยุ มีรัศมีเป็นวงกลม ยิ่งล่าสุดผู้ผลิตได้พัฒนาเทคโนโลยีขึ้นไปเรื่อยๆ มีไวร์แม็กที่สามารถส่งสัญญาณได้ไกลกว่าคือ 30-50 กิโลเมตร แถมยังมีตัวเพิ่มสัญญาณได้อีก ดังนั้นการใช้เทคโนโลยี มีทั้งข้อดีและข้อเสีย ความสามารถในการส่งสัญญาณได้ไกลนี้ เป็นโอกาสของผู้กระทำความผิดที่จะดักขโมยข้อมูลของเราได้จุดไหนก็ได้ โดยที่เราล่วงรู้ได้ยากมากและกว่าจะรู้ตัวข้อมูลของเราก็ไปปรากฏอยู่กับผู้อื่น หรือไม่ก็ตกเป็นผู้เสียหายจากการโจรกรรมไปแล้ว” พ.ต.ท.พัฒนะ กล่าว
พ.ต.ท.พัฒนะ กล่าวด้วยว่า ไม่เพียงแต่ระบบไวร์เลส เท่านั้นโทรศัพท์มือถือ ซึ่งปัจจุบันผู้ขับขี่รถบนท้องถนนจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องใช้สมอลทอล์ก หรือบลูทูธ ในการสนทนาทางโทรศัพท์ระหว่างขับขี่ ผู้ที่ใช้สมอลทอล์ก คงไม่มีปัญหา แต่หากท่านเป็นผู้ใช้บลูทูธ ขอเตือนว่าท่านอาจเสี่ยงกับการถูกขโมยข้อมูลลับที่อยู่ในโทรศัพท์ โดยไม่รู้ตัว และที่น่าเป็นห่วงยิ่งกว่านั้นหากมีการทำธุรกรรมการเงินกับธนาคารผ่านโทรศัพท์ ซึ่งทำได้ทั้งโทรศัพท์บ้านและโทรศัพท์มือถือ ก็อาจถูกกล่าวมิจฉาชีพใช้เครื่องมือดักจับสัญญาณการสนทนาระหว่างลูกค้ากับเจ้าหน้าที่ธนาคารบางครั้งอาจปลอมเป็นเจ้าหน้าที่ธนาคารหลอกถามข้อมูลสำคัญ และรหัสผ่านต่างๆ อย่างมืออาชีพโดยที่ลูกค้าไม่ระแวงสงสัย
“ยิ่งเป็นการสนทนาผ่านบลูทูธ ด้วยแล้ว ยิ่งทำให้ผู้กระทำความผิดดักจับสัญญาณบลูทูธซึ่งเปิดอยู่ตลอดเวลาได้ง่ายขึ้น โดยแฮกเกอร์จะใช้ย่านธุรกิจหรือห้างสรรพสินค้าที่มีคนพลุกพล่านเป็นที่ลงมือ โดยใช้อุปกรณ์คอมพิวเตอร์โน๊ตบุ๊ก และโทรศัพท์มือถือที่เป็นสมาร์ทโฟน มุ่งเป้าประชาชนที่เปิดบลูทูธไว้ โดยที่แฮกเกอร์จะมีโปรแกรมและเครื่องมือพิเศษที่สามารถสแกนหาสัญญาณบลูทูธในรัศมีที่ปัจจุบันไปได้ไกลมากยิ่งขึ้น หากพบสัญญาณ โปรแกรมดังกล่าวจะโชว์หมายเลขโทรศัพท์และชื่อของเจ้าของเครื่องนั้นๆ แฮกเกอร์จะทดลองเจาะเข้าไปทีละเครื่องโดยการส่ง SMS ด้วยข้อความล่อลวงต่างๆ เพียงเพื่อให้ประชาชนกดปุ่มใดปุ่มหนึ่งบนโทรศัพท์ และไม่ว่าจะเลือกกดปุ่มใดแฮกเกอร์ก็สามารถทำให้เป็นการตอบตกลงตามข้อเสนอ ผลที่ออกมาก็เหมือนเป็นการยืนยันการต่อสัญญาณให้แฮกเกอร์ หลังจากนั้นมันก็จะขโมยข้อมูลทั้งหมด และอาจมุ่งเป้าไปที่การทำธุรกรรมการเงินผ่านโทรศัพท์ เพราะหากมันทำสำเร็จนั่นหมายความว่าทรัพย์ที่มันจะได้จากการโจรกรรมจะมีมูลค่ามหาศาลทีเดียว
ดังนั้นจึงขอเตือนประชาชนให้ระมัดระวังในการใช้ระบบสื่อสารไร้สายในเรื่องการใช้ไวร์เลสและบลูทูธว่า ท่านไม่ควรเชื่อมต่อกับระบบไวร์เลสกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโน๊ตบุ๊กที่มีข้อมูลสำคัญๆ หากจะเก็บข้อมูลสำคัญควรเก็บไว้ในที่ๆ แฮกเกอร์เข้าถึงยาก เช่น แฟลชไดร์ เอ็กเทอร์นอลฮาร์ดดิสก์ ซีดี และควรเข้ารหัสข้อมูลที่สำคัญๆ เป็นต้น ยิ่งนำไปใช้ในที่สาธารณะควรระมัดระวังเป็นพิเศษ ส่วนกรณีของผู้ที่จำเป็นต้องใช้บลูทูธ แนะนำว่าไม่ควรเก็บข้อมูลที่สำคัญหรือเป็นความลับไว้ในโทรศัพท์ เมื่อไม่มีความจำเป็นต้องใช้บูลทูธก็ให้ปิดสัญญาณ และหากมีความจำเป็นต้องทำธุรกรรมการเงินกับธนาคาร ก็ไม่ควรจะใช้ในที่สาธารณะก็จะปลอดภัยที่สุด

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ