iTAP ต่อยอดมาตรฐาน‘ Food safety ’ เพิ่มศักยภาพการแข่งขันอุตสาหกรรมอาหารไทย

ข่าวทั่วไป Wednesday July 30, 2008 17:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ก.ค.--iTAP
iTAP จัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง“ อุตสาหกรรมอาหารก้าวหน้า ต้องพัฒนาต่อยอด ” กระตุ้นผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารไทยต่อยอดการพัฒนาเทคโนโลยี เพิ่มศักยภาพการแข่งขัน หลังผู้บริโภคทั่วโลกหันมาใส่ใจ ‘ด้านความปลอดภัยของอาหาร’ ( Food safety ) มากขึ้น ส่งผลให้การผลิตอาหารส่งออกต้องมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหารสูงขึ้น แนะผู้ประกอบการไทยเร่งปรับตัวรับสถานการณ์ เพื่อความอยู่รอด
ประเทศไทยเป็นแหล่งผลิตอาหารสู่ครัวโลก ดังนั้น การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมอาหาร จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ส่งเสริมให้อุตสาหกรรมมีความเจริญก้าวหน้า แต่ปัญหาที่ผู้ส่งออกของไทยกำลังได้รับในปัจจุบันคือ ลูกค้าต่างประเทศต้องการสินค้าที่มีมาตรฐานสูงขึ้น มีการกำหนดเงื่อนไขในการนำเข้ามากขึ้นโดยเฉพาะในด้านของระบบความปลอดภัยของอาหาร( Food safety ) เช่น กำหนดมาตรฐานและกฎระเบียบใหม่ด้านความปลอดภัยของวัสดุที่สัมผัสอาหาร ดังนั้น อุตสาหกรรมอาหารไทย จึงต้องมีการปรับตัวเพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันและมีการบริหารจัดการการผลิตที่มีประสิทธิภาพเพิ่มมากขึ้น
นางสาวสนธวรรณ สุภัทรประทีป ผู้อำนวยการโครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กล่าวถึงการจัดสัมมนาเชิงวิชาการเรื่อง “ อุตสาหกรรมอาหารก้าวหน้า ต้องพัฒนาต่อยอด ” ในวันที่ 21 กรกฎาคมที่ผ่านมาว่า ปัจจุบันผู้บริโภคหันมาสนใจและคำนึงถึงความปลอดภัยในการบริโภคอาหารกันมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้บริโภคมีความมั่นใจในอาหารที่ผลิตจากไทยว่ามีความปลอดภัยและมีมาตรฐาน จึงต้องมีการเตรียมความพร้อมและทำความเข้าใจที่ถูกต้องให้กับผู้ประกอบการอาหาร โดยเฉพาะเรื่องของความปลอดภัยของอาหาร ( Food safety ) นั้น ถือเป็นหัวใจสำคัญ
การจัดสัมมนาดังกล่าว มีวัตถุประสงค์ให้ผู้ประกอบการได้เข้าใจเกี่ยวกับปลอดภัยของอาหาร( Food safety ) ที่ถูกต้อง รวมถึงแนวทางการแก้ไขปัญหาที่พบจากการทำระบบมาตรฐานอาหารและเตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับกฎระเบียบใหม่ด้านความปลอดภัยของวัสดุที่สัมผัสอาหาร และแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดการในโรงงาน คาดว่าผลจากการสัมมนาครั้งนี้ จะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับผู้ประกอบการอาหารของไทยต่อไป
“ การผลิตอาหารนั้น เรื่องของความปลอดภัยต้องมาก่อน และถือเป็นหัวใจสำคัญที่ผู้ประกอบการอาหารไม่อาจหลีกเลี่ยงหรือต่อรองได้เพราะอาหารเป็นสิ่งที่เราต้องบริโภคเข้าสู่ร่างกาย จำเป็นต้องควบคุมการผลิตให้ได้ตามมาตรฐานที่กำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสิ่งปนเปื้อนในระหว่างกระบวนการผลิต แม้ที่ผ่านมาบางโรงงานจะได้รับการรับรองมาตรฐานทั้ง GMP , HACCP หรือมาตรฐานอื่นๆ แล้วก็ตาม แต่ปัญหา คือ ผู้ประกอบการยังขาดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องระหว่างคุณภาพกับความปลอดภัยของอาหาร ฉะนั้น ผู้ประกอบการจะต้องทำความเข้าใจให้ถูกต้อง และหันมาต่อยอดการพัฒนาเพื่อเร่งสร้างความได้เปรียบ และสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ของตนเอง เพราะในสถานการณ์เศรษฐกิจที่วิกฤติขณะนี้ อุตสาหกรรมอาหารไทยยังมีโอกาสเจริญเติบโตและก้าวไปได้อีกไกลเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมอื่นๆ ที่ทยอยปิดกิจการลง ” ผอ.โครงการ iTAP กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สุวิมล กีรติพิบูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีการอาหาร คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร กล่าวเพิ่มเติมว่า “ ความปลอดภัยของอาหาร ( Food safety ) จะต้องปลอดภัยจาก 3 ปัจจัย คือ ชีวภาพ , สารเคมี และกายภาพ ซึ่งทั้ง 3 ปัจจัยดังกล่าวเป็นสิ่งที่มองไม่เห็น และแหล่งที่สามารถปนเปื้อนได้ทั้งจากวัตถุดิบ คน สิ่งแวดล้อม และจากการใช้อุปกรณ์เครื่องจักรต่างๆ ซึ่งการที่จะมองเห็นความปลอดภัยของอาหารได้ต้องอาศัย ความรู้ ประสบการณ์ และการรับข่าวสารข้อมูล โดยเฉพาะเรื่องของบรรจุภัณฑ์จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องรับรู้ข้อมูลข่าวสารใหม่ว่า เชื้อจุลินทรีย์ใดหรือสารอะไรที่เป็นอันตรายสามารถเข้ามาปนเปื้อนในอาหารได้แม้จะผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อแล้วก็ตาม ทั้งนี้ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการด้านความปลอดภัยของอาหาร”
“ ยอมรับว่าที่ผ่านมา หลายคนมักมีความเข้าใจผิดระหว่างเรื่องความปลอดภัยของอาหารและคุณภาพ แต่ความจริงแล้วมีความแตกต่างกัน เรื่องความปลอดภัยของอาหาร ( Food safety ) เป็นเรื่องของวิชาการ ที่ต้องมีความรู้ความเข้าใจว่าระดับไหนถึงจะปลอดภัยและเป็นสิ่งที่กำหนดขึ้นโดยภาครัฐ หรือ หน่วยงานระหว่างประเทศ ส่วนเรื่องของคุณภาพจะเป็นสิ่งที่เกิดจากข้อตกลงหรือเงื่อนไขในการผลิตระหว่างผู้บริโภค ลูกค้าและผู้ผลิต เช่น สี รสชาติ ความสวยงาม หรือ ขนาด ของอาหาร รวมไปถึงการหีบห่อหรือบรรจุภัณฑ์ ”
รศ.ดร.สุวิมล กล่าวต่อว่า ความปลอดภัยของอาหาร( Food safety )จึงเป็นเรื่องที่ผู้ประกอบการไทยต้องหันมาให้ความใส่ใจมากขึ้นมิเช่นนั้นธุรกิจก็จะอยู่ไม่รอด เพราะแนวโน้มประเทศที่นำเข้าอาหารจากไทยมีการกำหนดเงื่อนไขกฎระเบียบและมาตรฐานด้นความปลอดภัยของอาหารแต่ละผลิตภัณฑ์ที่ไม่เหมือนกัน และนับวันจะยิ่งเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมอาหารของไทยจะต้องเร่งพัฒนาต่อยอดเรื่องความปลอดภัยของอาหาร ลดความสูญเสียเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตในโรงงาน และรับรู้เรื่องของกฎระเบียบและมาตรฐานต่างๆ ของภาชนะและวัสดุสัมผัสอาหารที่ใช้ในประเทศและที่ใช้ในการส่งออก เพื่อให้อุตสาหกรรมอาหารของไทยก้าวหน้าต่อไปได้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย (iTAP) โทร. 0-2270-1350-4 ต่อ 114,115

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ