โครงการกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ (กบช.): ผลกระทบและการเตรียมความพร้อม

ข่าวทั่วไป Thursday July 31, 2008 10:07 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--กบช.
แนวคิดเรื่องการจัดตั้งกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ หรือ กบช. เกิดขึ้นมาหลายปีแล้ว และมีความชัดเจนพร้อมที่จะดำเนินการได้จริงในเร็ววันนี้ กองทุนดังกล่าวเป็นกองทุนการออมระยะยาวเพื่อการเกษียณอายุภาคบังคับ ชั้นที่ 2 (Pillar 2) กำหนดการจ่ายเงินเข้ากองทุน (Defined Contribution) ของนายจ้างและลูกจ้าง มีบัญชีรายตัว สมาชิกจะได้รับผลประโยชน์ตามบัญชีของตน กองทุนมีเป้าหมายหลักเพื่อสร้างรายได้ในวัยสูงอายุให้อยู่ในระดับที่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐานไปตลอดอายุขัย (ที่ร้อยละ 50-60 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย)เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิด กบช. โดยเร็ว เนื่องจากปัจจุบัน แรงงาน
ส่วนใหญ่ซึ่งได้รับความคุ้มครองในกองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพได้รับบำนาญเฉลี่ยร้อยละ 38 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีพขั้นพื้นฐาน รวมทั้งแรงงานที่ได้รับความคุ้มครองในปัจจุบัน มีเพียง 10.57 ล้านคน หรือร้อยละ 29.16 ของผู้มีงานทำเท่านั้น นอกจากนี้ ประเทศไทยกำลังประสบปัญหา
การเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรที่เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างรวดเร็ว โดยมีสัดส่วนประชากรวัยสูงอายุต่อประชากรรวมเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าภายใน25 ปี และอัตราการพึ่งพิงเพิ่มสูงขึ้นถึง 2 เท่า การเปลี่ยนแปลงประชากรดังกล่าวจะนำมาซึ่งภาระหนี้สินภาครัฐ (Implicit Debt) จำนวนมากในอนาคต ถ้าไม่มีการดำเนินการให้แรงงานได้ออมตั้งแต่วัยทำงาน
กบช. จะมีโครงสร้างและรูปแบบการบริหารจัดการโดยสังเขป คือ
1. การกำกับดูแล (Pension Regulator) จัดตั้งองค์กรอิสระ (สำนักงาน กบช.) โดยมีคณะกรรมการสำนักงานกองทุนบำเหน็จบำนาญแห่งชาติ ทำหน้าที่กำกับดูแลกองทุนการออมเพื่อการเกษียณอายุ ได้แก่ กบช. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ/สมัครใจ รวมทั้งการเป็นเลขานุการคณะกรรมการนโยบายเงินออมเพื่อการเกษียณอายุแห่งชาติ
2. การบริหารจัดการเงินกองทุน ดำเนินการแบบกระจายศูนย์ (Decentralized Asset Management) โดยสำนักงาน กบช. จะกำหนดเกณฑ์ในการคัดเลือกผู้จัดการกองทุนที่ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจจัดการกองทุนส่วนบุคคลจากสำนักงาน ก.ล.ต.
3. ความครอบคลุม และการทยอยเข้ากองทุนของแรงงาน
3.1 แรงงานในระบบภาคเอกชนเข้ากองทุนตามขนาดสถานประกอบการ
(1) สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 100 คนขึ้นไป เริ่มในปีแรก
(2) สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 10 คนขึ้นไป เริ่มในปีที่ 6
(3) สถานประกอบการที่มีลูกจ้าง 1 คนขึ้นไป เริ่มในปีที่ 11
3.2 แรงงานภาครัฐและองค์กรอิสระที่ยังไม่มี กบข. และกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้
ดำเนินการทันทีในปีแรก
3.3 แรงงานนอกระบบให้เข้า กบช. ได้ทันทีในปีแรก แต่เมื่อเข้ามาแล้วจะถูกบังคับ
4. อัตราสะสม/สมทบ กำหนดนายจ้างและลูกจ้างจ่ายเงินเข้ากองทุนฝ่ายละร้อยละ 3 ของค่าจ้าง โดยมีค่าจ้างขั้นต่ำ 6,000 บาท และเพดาน 40,000 บาท สำหรับลูกจ้างที่มีรายได้ต่ำกว่า 6,000 บาท ให้นายจ้างจ่ายฝ่ายเดียว
5. การเปลี่ยนถ่ายจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ผู้ที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพอยู่แล้วและจ่ายไม่น้อยกว่าร้อยละ 3 ของค่าจ้าง (ภายใต้เพดาน 40,000 บาท) สามารถนำมาขึ้นทะเบียนเป็นกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ หรือจัดตั้ง กบช. ใหม่ก็ได้ สำหรับส่วนที่เกินจำนวนดังกล่าว คงเป็นภาคสมัครใจต่อไป
6. รูปแบบการจ่ายผลประโยชน์ทดแทน อัตราผลประโยชน์ทดแทนที่รวมกองทุน ประกันสังคมกรณีชราภาพและ กบช. แล้วไม่เกินร้อยละ 50 ของเงินเดือนเดือนสุดท้าย ให้จ่ายเป็นรายงวด ส่วนที่เกินร้อยละ 50 ให้สามารถเลือกรับเป็นรายงวดหรือเป็นก้อนได้
หากจัดตั้ง กบช. ขึ้น โดยรวมแล้วจะก่อให้เกิดผลดีต่อแรงงาน รัฐบาล ตลาดทุน และเศรษฐกิจของประเทศ โดย กบช. นอกจากจะเป็นแหล่งรายได้ให้บุคคลเมื่อถึงวัยเกษียณ ซึ่งคาดว่าจะได้รับประมาณร้อยละ 17 ของเงินเดือนเดือนสุดท้ายแล้ว ยังสามารถลดความเสี่ยงของประเทศจากวิกฤตของการสูงวัยของประชากรในอีก 25 ปีข้างหน้า ในการลดภาระรัฐซึ่งงบประมาณมีจำนวนจำกัดแต่จะต้องจัดสรรเลี้ยงดูผู้สูงอายุ นอกจากนี้ ทำให้เงินออมระยะยาวโดยรวมของประเทศเพิ่มขึ้น ปีแรกประมาณ 22,950 ล้านบาท ซึ่งจะเป็นแหล่งเงินทุนที่มีความมั่นคง ในการส่งเสริมการลงทุนเพิ่มมากขึ้น ลดการกู้ยืมจากต่างประเทศที่สูงเกินไป และการลงทุนที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการเติบโตทางเศรษฐกิจสูงขึ้นด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มปริมาณเงินออมใน กบช. เป็นการเพิ่มนักลงทุนสถาบัน นำมาซึ่งการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงิน และการพัฒนาตลาดทุนของประเทศ
อย่างไรก็ตาม ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องโดยตรง อันได้แก่ แรงงาน นายจ้าง ผู้ประกอบการเอกชน และรัฐบาล จะต้องเตรียมความพร้อมในการเข้าร่วมโครงการ โดยลูกจ้างควรมีความเข้าใจในระบบ กบช. และหาความรู้เรื่องการบริหารเงินลงทุน นายจ้างเตรียมเรื่องการจัดส่งเงินตามเกณฑ์และการร่วมกับลูกจ้างในการคัดเลือกบริษัทจัดการ ในส่วนของผู้ประกอบการเอกชน เช่น บริษัทจัดการ หรือหน่วยงานจัดเก็บ จะต้องเตรียมการในส่วนงานของตนให้มีความพร้อม ทั้งรูปแบบทางเลือกในการลงทุน การประชาสัมพันธ์
แก่สมาชิก หรือการจัดเตรียมฐานข้อมูลขนาดใหญ่ เป็นต้น ส่วนภาครัฐเองก็จะต้องเตรียมเรื่องระบบการกำกับดูแล และรณรงค์ประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่แรงงานอย่างจริงจังและกว้างขวาง เพื่อให้เกิดความสำเร็จและบรรลุเป้าหมายของโครงการอย่างแท้จริง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ