ฟิทช์ประกาศเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคารกรุงศรีอยุธยา

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday July 31, 2008 17:13 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 ก.ค.--ฟิทช์ เรทติ้งส์
ฟิทช์ เรทติ้งส์ ประกาศเพิ่มอันดับเครดิต ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ BAY ดังนี้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะยาว (Foreign Currency Issuer Default Rating (IDR)) เป็น ‘BBB’ แนวโน้มมีเสถียรภาพ จาก ‘BBB-’ (BBB ลบ)
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิ เป็น ‘BBB-’ (BBB ลบ) จาก ‘BB+’
- อันดับความแข็งแกร่งทางการเงินเป็น ‘C’ จาก ‘C/D’
- อันดับเครดิตสนับสนุนขั้นต่ำ (Support Rating Floor) เป็น ‘BB+’ จาก ‘BB’
- อันดับเครดิตภายในประเทศ (National Rating) ระยะยาว เป็น ‘AA-(tha)’ (AA ลบ (tha)) แนวโน้มมีเสถียรภาพ จาก ‘A+ (tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศระยะสั้นเป็น ‘F1+ (tha)’ จาก ‘F1(tha)’
- อันดับเครดิตภายในประเทศของหุ้นกู้ด้อยสิทธิเป็น ‘A+(tha)’ จาก ‘A(tha)’
โดยฟิทช์ได้ปรับแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นแนวโน้มอันดับเครดิตมีเสถียรภาพจากแนวโน้มอันดับเครดิตเป็นบวก นอกจากนี้ฟิทช์ยังได้ประกาศคงอันดับเครดิตของ BAY ดังนิ้
- อันดับเครดิตสากลสกุลเงินต่างประเทศระยะสั้นที่ ‘F3’
- อันดับเครดิตสนับสนุนที่ ‘3’
การปรับเพิ่มอันดับเครดิตของธนาคาร สะท้อนถึงผลการดำเนินงานและคุณภาพสินทรัพย์ที่ปรับตัวดีขึ้นของธนาคาร ถึงแม้สภาพเศรษฐกิจโดยรวมยังคงอ่อนแอ การเพิ่มอันดับเครดิตในครั้งนี้ยังพิจารณาถึงสถานะเงินกองทุนของธนาคารที่แข็งแกร่ง ผลประกอบการของ BAY ปรับตัวดีขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในครึ่งปีแรกของปี 2551โดยธนาคารมีกำไรสุทธิ 3 พันล้านบาท เมื่อเทียบกับผลขาดทุน 4 พันล้านบาทในปี 2550 โดยผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น มีสาเหตุหลักมาจากการกันสำรองหนี้สูญที่ลดลงและการเพิ่มขึ้นของรายได้โดยรวม ธนาคารมีเงินลงทุนในตราสารหนี้ประเภท Collateralized Debt Obligation หรือ CDO ไม่มากนัก ที่ระดับมูลค่ายุติธรรมที่ 1.4 พันล้านบาท โดยอาจมีผลขาดทุนประเภทนี้เพิ่มเติมในอนาคต ในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2551 รายได้และอัตราส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นอย่างมาก หลังจากการเข้าซื้อกิจการสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์จาก GE Capital ที่มีสินทรัพย์รวมกว่า 77.8 พันล้านบาท โดยอัตรากำไรส่วนต่างดอกเบี้ยสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นเป็น 3.6% ในครึ่งแรกของปี 2551 จาก 3.0% ในปี 2550
แม้ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของธนาคารได้ปรับตัวลดลงเนื่องจากการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ที่ผ่านมาอย่างต่อเนื่อง แต่ระดับสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ ณ สิ้นมิถุนายน 2551 ยังคงอยู่ในระดับสูงที่ 65 พันล้านบาท หรือ 12% ของสินเชื่อ อย่างไรก็ตามธนาคารคาดว่าจะมีการขายสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้อีกประมาณ 1 หมื่นล้านบาท ในช่วงครึ่งปีหลังปี 2551 นี้ ซึ่งจะทำให้สินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ลดลงอยู่ในระดับต่ำกว่า 10% ภายในสิ้นปี 2551 แม้ว่า BAY ยังคงมีความเสี่ยงในเรื่องของการกันสำรองหนี้สูญอยู่ แต่คาดว่ารายได้ที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่จะสามารถรองรับการกันสำรองหนี้สูญเพิ่มเติมได้
GE Capital International Holdings Corporation (GECIH)ได้เข้าเป็นผู้ถือหุ้นหลักของธนาคาร โดยมีสัดส่วนการถือหุ้นที่ 29% ในเดือนมกราคม 2550 ทั้งนี้สัดส่วนการถือหุ้นของ GECIH ในปัจจุบันได้เพิ่มขึ้นเป็น 35% โดยมีมูลค่าการลงทุนรวม 32 พันล้านบาท นอกจากนั้นยังได้มีการใช้สิทธิซื้อหุ้นสามัญของผู้ถือใบสำคัญแสดงสิทธิอีก 9.7 พันล้านบาทในปี 2550 ส่งผลให้ธนาคารเป็นหนึ่งในธนาคารที่มีระดับเงินกองทุนสูงที่สุด เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ไทยรายอื่น โดยธนาคารมีเงินกองทุนชั้นที่ 1 อยู่ที่ 13% และมีเงินกองทุนรวมที่ 17% อย่างไรก็ตามคาดว่าเงินกองทุนของธนาคารจะลดลงเล็กน้อย จากการปฏิบัติตามหลักเกณฑ์สำหรับความเสี่ยงด้านปฏิบัติการของ Basel 2 ภายในสิ้นปีนี้
กลุ่มรัตนรักษ์มีสัดส่วนการถือหุ้นของธนาคารอยู่ที่ 26% จากการที่ BAY มี GECIH เข้ามาเป็นผู้ถือหุ้นหลัก ได้ทำให้สถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของ BAY แข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนี้คาดว่าจะทำให้ เครือข่ายการดำเนินงานและการบริหารของธนาคารแข็งแกร่งขึ้นในระยะกลาง ฟิทช์คาดว่าผลการดำเนินงานโดยรวมและคุณภาพสินทรัพย์ของธนาคารจะปรับตัวดีขึ้นในปีหน้า แม้ว่าผลการดำเนินงานในครึ่งปีหลังนี้จะมีแนวโน้มอ่อนแอลงเมื่อเทียบกับครึ่งปีแรก
BAY ก่อตั้งขึ้นในปี 2488 เป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 5 ของประเทศไทย โดยมีสาขาทั้งสิ้น 570 สาขา และมีส่วนแบ่งการตลาดทางด้านสินเชื่อและทางด้านเงินฝากอยู่ที่ 9% และ 8% ตามลำดับ ธนาคารมีบริษัทในเครือซึ่งดำเนินธุรกิจเช่าซื้อรถยนต์ ธุรกิจสินเชื่อบัตรเครดิต ธุรกิจหลักทรัพย์ และธุรกิจบริหารกองทุน เนื่องจากธนาคารมีส่วนแบ่งทางการตลาดของเงินฝากและสินเชื่อในสัดส่วนที่ค่อนข้างใหญ่ จึงมีความเป็นไปได้ที่ธนาคารจะได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลหากมีความจำเป็น
ติดต่อ
Vincent Milton, กรุงเทพฯ +662 655 4759
พชร ศรายุทธ, กรุงเทพฯ +662 655 4761

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ