ลุ้นชมเงาโลกพาดดวงจันทร์ ...ปรากฏการณ์จันทรุปราคา 17 ส.ค. นี้

ข่าวทั่วไป Wednesday August 13, 2008 14:08 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--13 ส.ค.--สวทช.
นักดาราศาสตร์ชวนประชาชนจากทุกภาคของประเทศไทยลุ้นชมปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนในเช้าวันที่ 17 สิงหาคม 2551 นี้ ตั้งแต่เวลาประมาณ 01.20 น. เป็นต้นไป โดยดวงจันทร์จะถูกบดบังมากที่สุด 81% เวลา 04.10 น.
ปรากฏการณ์จันทรุปราคา เป็นปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์ที่เกิดขึ้นเมื่อดวงอาทิตย์ โลก และดวงจันทร์ โคจรเข้ามาอยู่ในแนวเดียวกัน และดวงจันทร์มีการโคจรเข้าไปอยู่ในเงาของโลก ซึ่งเงาของโลกที่เกิดขึ้นมี 2 ชนิด คือ เงามืดและเงามัว
ทั้งนี้ในการเกิดจันทรุปราคาแต่ละครั้งตำแหน่งของดวงจันทร์มีการเคลื่อนที่ผ่านเงาของโลกไม่เหมือนกัน จึงสามารถแบ่งประเภทการเกิดจันทรุปราคาได้ 3 ชนิด คือ
- จันทรุปราคาเต็มดวง (Total Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์ทั้งดวงเข้าไปอยู่ในเงามืดของโลก
- จันทรุปราคาบางส่วน (Partial Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อบางส่วนของดวงจันทร์เคลื่อนที่ผ่านเงามืดเท่านั้น
- จันทรุปราคาเงามัว (Penumbra Lunar Eclipse) เกิดขึ้นเมื่อดวงจันทร์โคจรผ่านเข้าไปในเงามัวของโลก โดยไม่ได้ผ่านเข้าในส่วนของเงามืดเลย จึงยังคงมองเห็นเต็มดวงอยู่แต่ความสว่างลดน้อยลง
สำหรับปรากฏการณ์จันทรุปราคาที่จะเกิดขึ้นในเช้าวันที่ 17 สิงหาคมนี้ ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ปรึกษาด้านวิชาการศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย สวทช. กล่าวว่า เป็นปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วน ซึ่งดวงจันทร์จะเริ่มเคลื่อนเข้าสู่เงามัวของโลกในเวลา 01.24 น.ขณะนั้นเราจะมองเห็นดวงจันทร์เต็มดวงอยู่ แต่ความสว่างจะลดน้อยลง ซึ่งอาจสังเกตเห็นได้ไม่ชัดเจน จากนั้นดวงจันทร์จะเริ่มเข้าสู่เงามืดของโลกในเวลา 02.36 น. จะสังเกตเห็นดวงจันทร์ถูกเงามืดบดบังไปบางส่วนมีลักษณะเว้าแหว่งไปเรื่อยๆ และเมื่อเวลาผ่านไป ดวงจันทร์จะค่อยๆเคลื่อนเข้าสู่เงามืดของโลกมากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งดวงจันทร์ถูกบดบังมากที่สุด 81% ที่เวลา 04.10 น. ทั้งนี้ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนจะสิ้นสุดลงในเวลา 05.44 น.เมื่อดวงจันทร์พ้นจากเงามืดของโลก และเคลื่อนออกจากเงามัวของโลกสิ้นสุดลงในเวลา 06.55 น. แต่เนื่องจากดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าที่เวลา 06.12 น. ดังนั้นจึงไม่สามารถติดตามจนจบเหตุการณ์ได้
“ สิ่งที่น่าสนใจและเรียนรู้ได้จากปรากฏการณ์จันทรุปราคาคือ ในช่วงที่ดวงจันทร์เคลื่อนที่เข้าสู่เงามืดของโลก จะเห็นว่าดวงจันทร์ไม่ได้มืดสนิทแต่กลับเห็นเป็นสีแดงอิฐ เพราะแม้ว่าแสงจากดวงอาทิตย์ส่วนใหญ่จะถูกโลกบดบัง แต่ก็ยังมีแสงบางส่วนไปสู่ดวงจันทร์ได้ ซึ่งเมื่อแสงจากดวงอาทิตย์เดินทางผ่านชั้นบรรยากาศของโลกจะเกิดการหักเห โดยแสงสีน้ำเงินซึ่งมีความยาวคลื่นสั้นจะถูกกระเจิงออกไปเหลือแต่แสงสีแดงหรือส้มที่มีความยาวคลื่นยาวไปตกกระทบบนดวงจันทร์จึงทำให้เราเห็นเป็นสีแดงอิฐ ซึ่งเคยมีผู้วิจัยพบว่าความเข้มสีที่ปรากฏบนดวงจันทร์มีความสัมพันธ์กับปริมาณฝุ่นและอนุภาคในบรรยากาศโลกรวมถึงการยืดหดตัวของบรรยากาศโลกชั้นบนด้วย
นอกจากนี้ผลพลอยได้จากการติดตามปรากฏการณจันทรุปราคายังช่วยให้เยาวชนได้พิสูจน์ทฤษฎีที่เรียนรู้จากตำราด้วยตนเอง เช่นว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคาบางส่วนเหมือนหรือต่างจากจันทรุปราคาเต็มดวงอย่างไร? จริงหรือไม่ที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลก? รู้ได้อย่างไรว่าโลกกลม? เพราะหากสังเกตเงาของโลกที่พาดผ่านดวงจันทร์จะพบว่ามีลักษณะโค้งกลมเหมือนเหรียญบาท ซึ่งในอดีตนักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ความโค้งของเงาโลกที่ปรากฏขึ้นบนพื้นผิวดวงจันทร์ระหว่างการเกิดจันทรุปราคาบางส่วนเป็นหลักฐานอย่างหนึ่งที่ชี้ให้เห็นว่าโลกกลม ทั้งนี้การเรียนการสอนดาราศาสตร์เป็นวิชาที่ต้องใช้จินตนาการสูง ดังนั้นการที่เยาวชนมีโอกาสในการเรียนรู้จากปรากฏการณ์จริงในธรรมชาติจะช่วยให้เขามีความรู้ความเข้าใจมากขึ้น”
ดร.ศรัณย์ กล่าวว่า ปรากฏการณ์จันทรุปราคานับเป็นหนึ่งในกลไกของธรรมชาติที่น่าติดตามชม เพราะไม่ได้มีโอกาสชมบ่อยนัก เนื่องด้วยระนาบของโลกที่โคจรรอบดวงอาทิตย์ และระนาบที่ดวงจันทร์โคจรรอบโลกมิใช่ระนาบเดียวกัน หากแต่ตัดกันเป็นมุม 5 องศา ดังนั้นโอกาสที่จะเกิดจันทรุปราคาจึงมีเพียงประมาณปีละ 1-2 ครั้ง ซึ่งประเทศไทยก็ไม่สามารถเห็นได้ทุกครั้ง สำหรับวิธีการติดตามดูจันทรุปราคาสามารถดูดวงจันทร์ได้ด้วยตาเปล่าโดยให้ยืนหันหน้าไปทางทิศตะวันตกในช่วงเวลาดังกล่าว
อย่างไรก็ดีด้วยอุปสรรคสำหรับการติดตามปรากฏการณ์ครั้งนี้ได้แก่เมฆฝน ดังนั้นผู้ที่สนใจชมคงต้องติดตามรายงานอากาศด้วยว่าจะมีโอกาสได้ชมปรากฏการณ์ดังกล่าวได้หรือไม่
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์สื่อสารวิทยาศาสตร์ไทย ส่วนงานกลาง สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ โทรศัพท์ 0-2564-7000 ต่อ 1461 ,1462 โทรสาร 0-2564-7000 ต่อ 1482 e-mail : thaismc@nstda.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ