กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ร่วมพัฒนางานวิจัยพืชพลังงานและพลังงานทดแทนเชิงพาณิชย์

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 21, 2005 14:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ธ.ค.--ส.อ.ท.
กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน ส.อ.ท. จับมือมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่ง ร่วมพัฒนางานวิจัยพืชพลังงานและพลังงานทดแทนเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับวางหลักสูตรระดับอุดมศึกษา รองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในอนาคต
กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคล 9 แห่งได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลพระนคร มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลสุวรรณภูมิ และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลอีสาน ได้จัดให้มีการลงนามข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาและด้านพัฒนาบุคลากรระหว่างกันขึ้น ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งภายหลังนายพิชัย ถิ่นสันติสุข ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน เสร็จสิ้นการลงนามในข้อตกลงฯ กับผู้ช่วยศาสตราจารย์นำยุทธ สงค์ธนาพิทักษ์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ซึ่งเป็นผู้แทนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลทั้ง 9 แห่ง ได้เปิดเผยถึงความเป็นมาของความร่วมมือในครั้งนี้ว่า เกิดจากสภาอุตสาหกรรมฯ เห็นความสำคัญของการจัดหาและการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทนให้มีประสิทธิภาพและคุณภาพดี สามารถรองรับกับการต้องการใช้พลังงานของประชาคมโลกที่มีแนวโน้มขยายตัวมากขึ้น โดยเมื่อวันที่ 13 ตุลาคม 2548 ที่ผ่านมา ได้มีการจัดตั้งกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนขึ้น เพื่อเป็นเวทีกลางให้ผู้ประกอบการในอุตสาห-กรรมดังกล่าวมีโอกาสแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินธุรกิจ สร้างความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์ให้มีคุณภาพสอดรับกับความต้องการใช้ของภาคธุรกิจอุตสาหกรรม และร่วมกันยกระดับขีดความสามารถของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนไทยให้พร้อมแข่งขันบนเวทีการค้าโลกได้ ซึ่งกลุ่มฯ เชื่อมั่นว่าความร่วมมือด้านวิชาการระหว่างภาคเอกชนและสถาบันการศึกษาที่กลุ่มฯ พยายามผลักดันให้เกิดขึ้นในครั้งนี้ จะเป็นแนวทางสำคัญที่จะช่วยวางรากฐานให้การพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของไทยดำเนินไปได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืนในอนาคต
โดยกรอบความร่วมมือตามข้อตกลงนี้ ประกอบด้วย ความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาพืชพลังงาน และพลังงานทดแทน เพื่อพัฒนาความร่วมมือสู่เชิงพาณิชย์ในรูปแบบ Public Private Partnership (PPP) ความร่วมมือด้านการวิจัยพัฒนาอุปกรณ์และเครื่องมือที่เกี่ยวข้องกับพลังงานทดแทน และการส่งเสริมความร่วมมือทางด้านวิชาการ โดยกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลจะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรพลังงานงานทดแทนในระดับอุดมศึกษา และสนับสนุนให้คณาจารย์และนักศึกษาได้มีโอกาสทัศนศึกษาและฝึกงาน เพื่อรับทราบข้อมูลข้อเท็จจริงในการประกอบธุรกิจของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนจากสถานประกอบการโดยตรง
สำหรับสภาวะของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในช่วงปี 2548 ที่ผ่านมา ผู้ประกอบการเห็นว่า เป็นปีแห่งการเริ่มต้นของการดำเนินธุรกิจประเภทดังกล่าว เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จนทำให้ภาคเอกชนหันมาให้ความสนใจกับพลังงานทดแทนมากขึ้น ขณะที่ภาครัฐได้ประกาศนโยบายที่ชัดเจนในการสนับสนุนการผลิตพลังงานทดแทนให้มีความคุ้มค่าในเชิงพาณิชย์ ส่งผลให้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนเกิดความมั่นใจที่จะขยายการลงทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งแผนงานของกลุ่มฯ ในปี 2549 นอกจากการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิชาการร่วมกับสถาบันการศึกษาต่างๆ เพื่อรองรับการขยายตัวของอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนในอนาคต กลุ่มฯ ยังมีแผนงานจะเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติให้มาลงทุนอุตสาหกรรมดังกล่าวในไทยเพิ่มขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา พบว่ามีการลงทุนจากอังกฤษในธุรกิจแปลงขยะเป็นพลังงานไฟฟ้า และในปี 2549 บริษัทเอกชนจีนมีแผนลงทุนในธุรกิจผลิตเอทานอล และบริษัทเอกชนสหรัฐจะลงทุนในธุรกิจไบโอดีเซล ทั้งนี้ คาดว่าหลังจากกลุ่มฯ ได้ดำเนินการชักชวนให้ต่างชาติขยายการลงทุนในไทยอย่างจริงจัง ภายใน 2 ปี จะสามารถดึงเม็ดเงินลงทุนต่างชาติเข้าประเทศได้กว่า 10,000 ล้านบาท ซึ่งนอกจากผลประโยชน์ที่ไทยจะมีแหล่งพลังงานทดแทน เพิ่มปริมาณการจ้างงานในประเทศ ยังก่อให้เกิดการถ่ายทอดและแลกเปลี่ยนเทคโนโลยี ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมพลังงานทดแทนของไทยในอนาคต--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ