ปภ. เตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์คลื่นพายุซัดฝั่ง (Storm Surge)

ข่าวทั่วไป Friday August 22, 2008 09:25 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--22 ส.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งอ่าวไทยอย่า ตื่นตระหนก หลงเชื่อข่าวลือ เพราะหากเกิดคลื่นพายุซัดฝั่งขึ้น สามารถตรวจจับการเคลื่อนตัวของพายุได้ล่วงหน้า 5 — 7 วัน จึงสามารถอพยพประชาชนออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที พร้อมจัดเตรียมกำลัง ประสานเครือข่ายติดตามสถานการณ์ อย่างใกล้ชิด รวมถึงจัดตั้งชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ ซึ่งสามารถสนธิกำลังให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยขนาดใหญ่ได้ทันที
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า กรณีนักวิชาการได้ออกมาแจ้งเตือนว่าในช่วงเดือนสิงหาคม — ตุลาคมนี้ พื้นที่ริมชายฝั่งทะเลาอ่าวไทยมีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลยกตัวสูง ที่เรียกว่าคลื่นพายุซัดฝั่ง หรือสตอร์มเซิร์จ (Storm Surge) ซึ่งมีกำลังรุนแรงใกล้เคียงกับพายุไซโคลนนาร์กีสที่พัดถล่มประเทศพม่า ว่าจากการติดตามข้อมูลจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง พบว่า ความรุนแรงของพายุจะขึ้นอยู่กับกำลังลมและความชื้น ซึ่งกำลังลมและความชื้นในอ่าวไทยมีปริมาณน้อยกว่าในอ่าวเบงกอลของประเทศพม่า ทำให้ภัยพิบัติดังกล่าวมีความรุนแรงลดน้อยลง สำหรับพื้นที่ที่น่าเป็นห่วง ได้แก่ บริเวณจังหวัดเพชรบุรีถึงสงขลา สำหรับกรุงเทพฯยังไม่น่าเป็นห่วงมากนัก เนื่องจากตั้งอยู่บริเวณพื้นที่ปากอ่าวแคบ ทำให้ไม่เอื้อต่อการเกิดสตอร์มเซิร์จ อย่างไรก็ตาม เพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมป้องกันและรับมือภัยพิบัติดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามประสานงานข้อมูลกับกรมอุตุนิยมวิทยา และกรมอุทกศาสตร์ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อติดตามการเคลื่อนตัวของพายุหมุนเขตร้อน อย่างใกล้ชิด หากมีความเสี่ยงที่จะเกิดสตอร์มเซิร์จจะสามารถประกาศเตือนให้ประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า ๕ — ๗ วัน จึงสามารถที่จะขนย้ายทรัพย์สินสิ่งของ และอพยพผู้ประสบภัยออกจากพื้นที่ได้อย่างทันท่วงที รวมทั้งได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย เพื่อดำเนินการตามแผนเฉพาะกิจฯ ป้องกันและแก้ไขปัญหา จัดวางระบบเฝ้าระวัง การแจ้งเตือนภัย ปรับข้อมูลพื้นที่เสี่ยงภัย และพื้นที่ปลอดภัย ตลอดจนได้ประสานสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดในพื้นที่เสี่ยงภัย จัดเจ้าหน้าที่และประสานเครือข่ายทั้งอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) ทีมกู้ชีพกู้ภัยประจำตำบล (OTOS) มิสเตอร์เตือนภัย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ติดตามเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด จัดเตรียมกำลังคน และความพร้อมด้านอุปกรณ์ เครื่องมือ ให้มีประสิทธิภาพและสามารถใช้งานได้ในทันทีที่เกิดเหตุการณ์ พร้อมทั้งยังได้จัดตั้งชุดเผชิญสถานการณ์วิกฤติ (Emergency Response Team : ERT) ซึ่งสามารถปฏิบัติงานสนธิกำลังกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันที ที่สำคัญ ปภ. ยังได้ จัดให้มีการฝึกซ้อมแผนอพยพประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้ประชาชนที่อาศัยในพื้นที่เสี่ยงได้เรียนรู้ขั้นตอนกระบวนการ ในการอพยพหลบหนีภัย ตลอดจนได้เร่งเสริมสร้างให้ชุมชนในพื้นที่เสี่ยงภัยมีความพร้อมในการรับมือภัยพิบัติฉุกเฉินในเบื้องต้น
สำหรับประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ริมชายฝั่งทะเล ให้ปฏิบัติตน ดังนี้ ก่อนเกิดภัย ควรติดตามรับฟังพยากรณ์อากาศ ประกาศแจ้งเตือนภัยคลื่นพายุซัดฝั่งจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด รวมทั้งจัดเตรียมอุปกรณ์สิ่งของเครื่องใช้ที่สำคัญเอาไว้ให้เป็นที่ เพื่อที่ จะสามารถนำมาใช้งานได้ ทันที่ที่เกิดภัยพิบัติ และให้ความร่วมมือกับการฝึกซ้อมแผนการอพยพหลบภัย ตลอดจนศึกษาเรียนรู้เส้นทางอพยพหนีภัย พื้นที่ปลอดภัย และวิธีการช่วยเหลือตนเองและผู้อื่นในเบื้องต้น ขณะเกิดภัย หากได้รับแจ้งเตือนภัยการเกิดสตอร์มเซิร์จ ประชาชน ไม่ควรตื่นตระหนกตกใจ ตั้งสติให้มั่น ดำเนินการอพยพตามแผนและขั้นตอน ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด หากต้องมีการอพยพออกจากพื้นที่ประสบภัยจริง ให้ทยอยออกจากพื้นที่เสี่ยงภัยอย่างเป็นระเบียบ โดยอพยพไปยังพื้นที่ที่ห่างจากชายฝั่งทะเลพอสมควรหรือบริเวณที่สูงกว่าปกติ หากอยู่ในทะเล แล้วเกิดคลื่นพายุซัดฝั่ง ให้รีบนำเรือไปหลบคลื่นในบริเวณที่อับลม หรือบริเวณพื้นที่ที่ปลอดภัยทันที
สุดท้ายนี้ ขอฝากเตือนประชาชนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ หมั่นติดตามรับฟังข่าวสารการแจ้งเตือนภัยจากกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และพยากรณ์อากาศจากกรมอุตุนิยมวิทยาอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้เตรียมความพร้อมในการรับมือสถานการณ์ภัยพิบัติฉุกเฉินได้อย่างทันท่วงที

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ