กทม.แต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบอาคารใบหยก 1

ข่าวทั่วไป Thursday April 28, 2005 11:01 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--28 เม.ย.--กทม.
ตามที่เกิดเหตุเพลิงไหม้บริเวณชั้น 2 ของอาคารใบหยก 1 เขตราชเทวี กทม. เมื่อเวลาประมาณ 12.30 น. วันที่ 26 เม.ย. 48 ที่ผ่านมา เหตุดังกล่าวต้นเพลิงได้ลุกไหม้จากบริเวณชั้น 2 ซึ่งเป็นร้านขายเสื้อผ้าและเป็นห้องควบคุมแผงไฟฟ้าของอาคาร โดยสามารถควบคุมเพลิงไว้ได้หลังจากเกิดเหตุประมาณ 20 นาที โดยไม่มีการลุกลามไปยังห้องข้างเคียง
ต่อมาเวลาประมาณ 14.00 น. นายอภิรักษ์ โกษะโยธิน ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วย นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายสุกิจ ก้องธรนินทร์ เลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายนิยม กรรณสูต ผู้อำนวยการสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. ได้เดินทางมาตรวจที่เกิดเหตุ ซึ่งผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครได้ประกาศให้พื้นที่อาคารใบหยก 1 เป็นพื้นที่อันตราย ห้ามผู้ใดเข้าไปใช้งานอย่างเด็ดขาด ในส่วนชั้นที่ 1—4 ซึ่งเป็นร้านค้านั้นได้ประสานเจ้าของอาคารให้แจ้งเจ้าของร้านค้าแล้ว ซึ่งที่ผ่านมากรุงเทพมหานครได้เชิญเจ้าของอาคารสูงมาทำความเข้าใจ พร้อมขอความร่วมมือในการเข้าไปตรวจสอบอุปกรณ์การป้องกันอัคคีภัยและการแจ้งเตือนภัยว่ามีพร้อมหรือไม่ ซึ่งในขณะนี้ได้ทยอยตรวจสอบเกือบหมดแล้ว รวมถึงการตรวจสอบประปาหัวแดงเพื่อใช้จ่ายน้ำหากเกิดอัคคีภัยด้วย
นายวัลลภ สุวรรณดี รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า เหตุเพลิงไหม้ดังกล่าวได้สงบลงเมื่อเวลาประมาณ 20.00 น.ภายหลังการตรวจสอบพบว่าพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากที่สุดคือชั้น 5 มีเนื้อที่ประมาณ 50 ตารางเมตร ขณะนี้ขอบเขตและความเสียหายกำลังอยู่ในระหว่างการตรวจสอบและประเมินราคาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานเขต และเจ้าของอาคาร ทั้งนี้กรุงเทพมหานครได้มีคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมตรวจสอบความมั่นคงของอาคารแล้ว ประกอบด้วยวิศวกรจากสำนักการโยธา และสำนักงานเขต เพื่อตรวจสอบดูความมั่นคงแข็งแรงของอาคาร หากภายหลังการตรวจสอบพบว่าความเสียหายเป็นเพียงฝ้าเพดาน อุปกรณ์เฟอร์นิเจอร์ ไม่กระทบต่อความมั่นคงแข็งแรงของอาคารก็จะมีคำสั่งให้เปิดใช้อาคารได้ทันที
อย่างไรก็ตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคารกำหนดว่าเมื่อเกิดเพลิงไหม้อาคารต้องประกาศเป็นอาคารเพลิงไหม้ซึ่งจะเป็นผลให้ไม่สามารถใช้อาคารได้ หากภายหลังการตรวจสอบพบว่าอาคารไม่สามารถใช้ได้ก็ต้องแจ้งกับเจ้าของอาคารเพื่อดำเนินการต่อไป แต่หากเจ้าของอาคารต้องการกลับไปใช้อาคารอีกต้องดำเนินการหาวุฒิวิศวกรที่เชื่อถือได้ร่วมกับหน่วยงานที่น่าเชื่อถือ ดำเนินการการตรวจสอบความมั่นคงทางวิศวกรรมศาสตร์ ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวอาจหมายถึงสถาบันการศึกษาหรือสถาบันวิชาชีพที่จะร่วมกับวุฒิวิศวกรท่านนั้นในการที่จะยืนยันกับกทม.ว่าอาคารมีความมั่นคงแข็งแรงและพร้อมที่จะกลับเข้าไปใช้งานได้ โดยคงไม่สามารถกำหนดระยะเวลาในการตรวจสอบที่ชัดเจนได้ เนื่องจากการตรวจสอบต้องยึดหลักความรอบคอบ และความมั่นคงของประชาชนเป็นที่ตั้ง
รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวต่ออีกว่า ขอความร่วมมือจากประชาชนผู้ที่พักอยู่ในอาคารสูงไม่ว่าจะเป็นผู้ที่พักอาศัยก็ดีหรือผู้ที่เป็นเจ้าของอาคารก็ดีในการปฏิบัติตามข้อกำหนดของกฎหมาย ด้วยการตรวจสอบระบบทางหนีไฟ ระบบดับเพลิงที่ต้องมีสำรองไว้ในอาคารหรือแม้กระทั่งการซ้อมหนี โดยในส่วนของกทม.ในฐานะผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบดูแลประชาชนทั้งในอาคารและนอกอาคารโดยรอบจะดำเนินการตรวจสอบอย่างต่อเนื่องและรอบคอบอย่างสม่ำเสมอ และในส่วนของสาธารณชนที่ต้องเข้าไปใช้ประโยชน์ในอาคารจะต้องช่วยกันดูแลสอดส่องด้วย ในกรณีที่พบว่ามีอาคารใดก็ตามที่ไม่ได้ดำเนินการดังกล่าวและจะนำมาซึ่งความไม่ปลอดภัยต้องแจ้งกับฝ่ายบ้านเมืองทันที ไม่ว่าจะเป็นทางหนีไฟที่เอาสินค้าไปกั้นไว้ หรือทางเดินแต่ว่ามีการวางแผงมากั้นทำให้เมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้ประชาชนไม่สามารถออกจากอาคารได้ทันท่วงที เหล่านี้เป็นสิ่งที่เป็นอันตรายและเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมายและประชาชนทุกคนควรให้ความสนใจ
อนี่ง กรุงเทพมหานคร โดยสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้จัดอบรมแก่ประชาชนทั่วไปและเจ้าของอาคารในพื้นที่ของกทม. เกี่ยวกับการอยู่ตึกแถวอย่างไรจึงจะปลอดอัคคีภัยไปแล้ว โดยให้ผู้ที่อยู่อาศัยหรือเจ้าของอาคารสูงได้ยึดหลักบัญญัติ 7 ประการของการอยู่ตึกแถวอย่างไรให้ปลอดภัย ดังนี้ 1. การสะสมน้ำมันเชื้อเพลิง วัตถุไวไฟ ในอาคารเป็นจำนวนมากโดยไม่มีระบบการป้องกันที่ดีพอทำให้เกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย 2. ลูกกรงเหล็กดัดต้องเปิดได้จากด้านในเมื่อเกิดไฟไหม้ ถ้าใส่กุญแจไว้ ต้องแขวนกุญแจไว้ในจุดที่หยิบฉวยได้ง่าย 3. อย่าวางของหนักและอย่ากองของมาก หากเป็นตึกแถว อาคารประเภทพาณิชย์ — พักอาศัย 2ชั้นขึ้นไป เพราะส่วนใหญ่อาคารเหล่านี้จะรับน้ำหนักได้เพียงประมาณ 200 ก.ก. ต่อ ตร.ม.เท่านั้น หากมากกว่านั้นอาจทำให้ตึกพังหรือทรุดได้ 4.บริเวณอย่าวางของกีดขวางทางหนีไฟได้โดยเด็ดขาด 5.ทางหนีไฟ ทางออกเพื่อหนีไฟต้องมีอย่างน้อย 2 ทาง ทั้งที่เป็นบันไดหลัก บันไดหนีไฟ หน้าต่าง ระเบียง เพื่อว่าเมื่อเกิดไฟไหม้ด้านหน้า ก็สามารถหนีออกทางด้านหลังได้ หรือในทางกลับกัน เมื่อเกิดไฟไหม้ด้านหลังตึกแถว ก็สามารถหนีออกทางด้านหน้าได้ 6.เครื่องดักจับควัน (Smoke detectors) หากอาคารไม่เกิน 2 ชั้น ควรมีอย่างน้อย 1 เครื่อง หากอาคารตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ควรมีชั้นละ 1 เครื่อง โดยเฉพาะจุดที่ใกล้ห้องนอน และ 7. เครื่องดับเพลิงมือถือ หากเป็นอาคารไม่เกิน 2 ชั้น ควรมีอย่างน้อย 1 เครื่อง และหากอาคารตั้งแต่ 4 ชั้นขึ้นไป ควรมีชั้นละ 1 เครื่อง ทั้งนี้เหตุเพลิงไหม้ส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท เช่น การใช้อาคารเพื่อกิจกรรมผิดประเภท การไม่ดูแลรักษาอาคารและส่วนประกอบของอาคาร ดังนั้นประชาชนจึงจำเป็นต้องศึกษาและให้ความสนใจคำแนะนำในการปฏิบัติตนเพื่อให้เกิดความปลอดภัยจากหน่วยงานราชการ โดยหากพบเห็นเหตุเพลิงไหม้สามารถแจ้งได้ที่ หมายเลขโทรศัพท์ 199--จบ--

แท็ก เพลิงไหม้  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ