ความรุนแรง..ที่เกิดขึ้นในสังคม เหล้า..คือตัวการสำคัญที่ทำให้ครอบครัวล่มสลาย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 29, 2005 11:30 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 มี.ค.--สถาบันครอบครัวรักลูก
“สุรา” ถือว่าเป็นสิ่งเสพติดอีกอย่างที่ทำให้ผู้ดื่มขาดสติ ทำร้ายร่างกายและจิตใจของคนรอบข้าง ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัว และคนที่เป็นที่รัก นอกจากนั้นยังส่งผลต่อสุขภาพของผู้ดื่มด้วย ดังนั้นโครงการครอบครัวเข้มแข็ง สถาบันครอบครัวรักลูก จึงร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนาพิเศษในเรื่อง “เหล้า..กับผลกระทบที่เกิดขึ้นกับครอบครัว ชุมชน และสังคม”
คุณจะเด็ด เชาน์วิไล ผู้จัดการมูลนิธิเพื่อนหญิง กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาผู้หญิงถูกละเมิดสิทธิ สาเหตุเกิดจากความไม่เท่าเทียมกัน การที่เกิดวัฒนธรรมที่ว่าผู้ชายต้องเป็นใหญ่ อยู่เหนือผู้หญิง ทำให้ผู้ชายมักจะมองผู้หญิงเป็นพียงวัตถุทางเพศ หรือเป็นสมบัติส่วนตัว ผู้ชายหลายคนเมื่อแต่งงานแล้วมักจะคิดว่า ผู้หญิงต้องทำงานบ้านทุกอย่าง และต้องปรนนิบัติสามี ซึ่งเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาด้านความรุนแรงตามมา เพราะฉะนั้นความรุนแรงที่เกิดขึ้นในสังคมทุกวันนี้ จึงอยู่ที่ทัศนคติของคนในสังคม
สำหรับความรุนแรงเกิดขึ้นได้หลายทาง ไม่ว่าจะเป็นทางกาย เช่น การทุบตี ลงไม้ลงมือทางจิตใจ เช่น การด่า ต่อว่าด้วยคำพูดไม่ดี
ยุทธศาสตร์ที่ทำให้สามารถแก้ไขความรุนแรงได้ดีคือ ต้องทำให้ผู้หญิงมีพลังในการต่อรอง โดยการทำให้ผู้หญิงเห็นปัญหาของตัวเอง แล้วนำไปสู่การป้องกันสิทธิของตนเองให้มากกว่าการไปรณรงค์และเปลี่ยนแปลงโครงสร้าง ปัจจุบันผู้หญิงมีพื้นที่สาธารณะไม่มากนักมีบ้านกับที่ทำงาน ทำให้ผู้หญิงไม่มีการพัฒนาศักยภาพ ปัญหาที่เกิดขึ้นคือ เมื่อผู้หญิงใช้ความรุนแรงในครอบครัว สังคมก็จะมองว่า ฝ่ายหญิงทำตัวไม่ดี จึงเกิดความรุนแรงในครอบครัว
สำหรับการเปลี่ยนแปลงความคิดนี้คงจะต้องเปลี่ยนที่ทัศนคติของคนในสังคม เช่น จะทำอย่างไรคนในสังคมมองว่า ผู้หญิงเมื่อแต่งงานแล้วจะมีสิทธิเท่าเทียมผู้ชาย ผู้หญิงไม่จำเป็นต้องทำงานบ้านฝ่ายเดียว ซึ่งการแก้ไขเรื่องทัศคติจะต้องแก้ที่ระดับรากหญ้าก่อน เช่น ถ้าจะให้เกิดความเสมอภาคทางเพศ จะต้องเริ่มที่คนที่ได้รับผลกระทบ มากกว่าที่จะไปเริ่มคนที่ไม่รู้เรื่อง เพราะเขาไม่เข้าใจปัญหาที่ลึกซึ้ง และคนที่ได้รับผลกระทบนี้จะเป็นปากเสียงของปัญหาเหล่านี้ วิธีการนำไปสู่สิทธิความเท่าเทียมกันนั้น ไม่ได้เพียงตั้งเป็นกฎหมายหรือข้อปฏิบัติในเชิงทฤษฎีเท่านั้น แต่จะต้องให้ชาวบ้านในชุมชนต่างๆ ได้เรียนรู้ข้อกฎหมายเหล่านี้ในทางปฏิบัติด้วย
ปัญหาที่เกิดขึ้นดังที่กล่าวมานั้น จะเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในชุมชนชนบท ซึ่งปัญหาความรุนแรงต่างๆ สาเหตุหลักเกิดจากเหล้า ซึ่งผลกระทบของความรุนแรงต่อครอบครัวนั้นมีสูงมาก จากงานวิจัย เราพบว่า สาเหตุของการดื่มเหล้านำมาสู่ความรุนแรงในครอบครัว ประมาณ 70-80 % นอกจากนั้นก็จะมีเรื่องความรุนแรงทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นการข่มขืน การทำอนาจาร มาจากเหล้าเช่นกัน
คนที่สามารถลด ละ เลิก เหล้าได้ สติเขาก็จะกลับคนมา โดยเฉพาะฝ่ายชาย จุดที่สำคัญคือ คนไหนที่สามารถลด ละ เลิกเหล้าได้เราจะเข้าไปพูดคุยกับเขาได้ง่าย และทำให้เรามองหาประเด็นปัญหา ผลกระทบได้ง่ายขึ้น เพราะหากเราไปพูดคุยกับคนที่ดื่มเหล้าเขาจะไม่มีสติ เขาจะไม่มีเหตุมีผล จะพูดคุยกันยาก และในการแก้ไขปัญหาเรื่องเหล้า ต้องให้ฝ่ายชายเข้ามามีส่วนร่วม การที่ให้ฝ่ายชายที่ลด ละ เลิกเหล้าได้เข้ามามีส่วนร่วมจะทำให้มีน้ำหนัก ชาวบ้านจะเชื่อว่าเขาเลิกเหล้าได้ ทำให้ครอบครัวเขาดีขึ้น เพราะการให้ผู้ชายที่ไม่เคยดื่มเหล้ามาพูดชาวบ้านก็จะไม่เชื่อ จะช่วยให้ปัญหาความรุนแรงลดลงได้ จากการสำรวจเราพบว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้ผู้ชายเลิกเหล้าคือ ครอบครัว
ด้านคุณขวัญชนก ชูเกียรติ จากสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า กล่าวว่า สถานการณ์การบริโภคแอลกอฮอล์ ของคนไทยมีทวีความรุนแรงมากขึ้น และมีผลกระทบต่อสังคมโดยตรง โดยเฉพาะผลกระทบด้านความรุนแรงที่มีผลกับครอบครัว ในปี 43 ไทยเราอยู่ในอันดับ 5 ของโลก ที่บริโภคแอลกอฮอล์และจากการศึกษาต่อเราพบว่าคนไทยดื่มแอลกอฮอล์เพิ่มขึ้น 3 เท่า ภายในระยะเวลา 14 ปี
กลุ่มที่ติดแอลกอฮอล์มากที่สุดคือวัยทำงาน ช่วงอายุประมาณ 25-48 ปี ส่วนใหญ่เป็นเพศชาย ส่วนสถานการณ์ของแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน อายุ 15-19 ปี ร้อยละ 46.9 เริ่มทดลองดื่มสุรา ซึ่ง เยาวชนไทยในปัจจุบันดื่มเป็นอันกับ 2 รองจากวัยทำงาน
สาเหตุที่ทำให้วัยรุ่นลองดื่มนั้นเกิดจากพฤติกรรมเลียนแบบของคนในครอบครัว ปัญหาความรุนแรงในครอบครัวเกิดจากการที่พ่อแม่หรือผู้นำในครอบครัวดื่มแอลกอฮอล์ ถึงร้อยละ 47.1 % การโฆษณาผ่านสื่อต่างๆ ที่นำเสนอภาพออกมาอย่างสวยงาม ใช้คำชักจูงใจได้เป็นอย่างดี ก็เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เยาวชน และคนที่รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หันมาทดลองดื่มแอลกอฮอล์ได้เช่นกัน เพราะเด็กเล็กก็สามารถรับรู้สิ่งต่างๆ จากสื่อ หากเราไม่ได้สนใจวันหนึ่งลูกของท่านก็อาจจะไปแอบทดลองดื่มโดยที่เราไม่รู้เรื่องก็เป็นได้
สำหรับแนวทางการแก้ปัญหา จะต้องแก้ปัญหาที่ระดับพื้นฐานที่สุดคือ “ครอบครัว” การดูแลเอาใจใส่ การให้ความรู้ความเข้าใจในเรื่องการรู้เท่าทันสถานการณ์ปัจจุบันแก่พ่อแม่ รวมทั้งการรู้เท่าทันสื่อโฆษณาที่มีหลากหลายรูปแบบ ส่วนภาครัฐควรมีการดูแล ควบคุม การโฆษณาประชาสัมพันธ์เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ผ่านสื่อต่างๆ ส่วนชุมชนเองก็สามารถแก้ปัญหานี้ได้ โดยความร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็น ในการจัดงานต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นงานบวช แต่งงาน หรืองานศพ ควรงดเหล้าในงานต่างๆ เหล่านี้
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่
ฝ่ายประชาสัมพันธ์ โครงการครอบครัวเข้มแข็ง
โสภิดา ธนสุนทรกูร(แบม)
โทรศัพท์ 0 2913 7555 ต่อ 4640 โทรสาร 0 2831 8499--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ