ปภ. แนะวิธีขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์อย่างถูกต้องและปลอดภัย

ข่าวทั่วไป Wednesday September 3, 2008 17:04 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--3 ก.ย.--ปภ.
จากสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่า ยานพาหนะที่ประสบอุบัติเหตุสูงที่สุด คือ รถจักรยานยนต์ โดยสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุรถจักรยานยนต์ส่วนใหญ่เกิดจากความประมาท คึกคะนอง และการไม่ปฎิบัติตามวินัยจราจร ของผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์ ซึ่งผู้ประสบอุบัติเหตุจำนวนมากเป็นวัยรุ่นอายุประมาณ ๑๕ — ๒๕ ปี กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จึงขอแนะวิธีการขับขี่รถจักรยานยนต์ที่ถูกต้องและปลอดภัย เพื่อลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ดังนี้ สวมหมวกนิรภัยขณะขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ หมวกนิรภัยเป็นอุปกรณ์ที่มีความจำเป็นที่สุดอย่างหนึ่ง เพราะหากประสบอุบัติเหตุ หมวกนิรภัยจะช่วยลดความรุนแรงที่อาจเกิดกับสมองของผู้สวมใส่ ดังนั้นทุกครั้งที่ขับขี่และ ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ควรสวมหมวกนิรภัยที่ได้มาตรฐาน ไม่ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพื่อความปลอดภัยและเพิ่มประสิทธิภาพในการขับขี่รถจักรยานยนต์ กฎหมายได้กำหนดให้มีผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ได้เพียงคนเดียวเท่านั้น หากมีผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากกว่า ๑ คน ความสามารถในการรองรับน้ำหนักของรถจะไม่ดีเท่าที่ควร และส่งผลต่อประสิทธิภาพในการควบคุมรถ ทำให้รถเสียการทรงตัว ได้ง่าย และเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน สำหรับวิธีการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ที่ถูกต้อง ผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ต้องสวมหมวกนิรภัยและสวมใส่เสื้อผ้า ที่รัดกุม เช่น สุภาพสตรีควรนุ่งกางเกง หากสวมใส่กระโปรง ให้เพิ่มความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะชายกระโปรงอาจเข้าไปพันกับซี่ลวดหรือโซ่รถจักรยานยนต์ ทำให้ประสบอุบัติเหตุพลัดตกจากรถได้ กรณีผู้ปกครองนำบุตรหลานซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ควรให้เด็ก นั่งด้านหลังแบบนั่งคร่อม ไม่ควรนำเด็กนั่งด้านหน้าผู้ขับขี่ เพราะอาจเกิดการกระแทกหรือการเบรกกะทันหัน ซึ่งเด็กอาจถูกกระแทกจนได้รับบาดเจ็บ สำหรับเด็กทารกอายุประมาณ ๓ เดือนขึ้นไป ซึ่งกล้ามเนื้อคอของเด็กยังไม่แข็งแรง ควรใช้เป้หรือถุงจิงโจ้แทนการอุ้มซ้อนท้าย เพื่อที่จะได้ใช้มือในการโอบกอดผู้ขับ ซึ่งจะช่วยป้องกันเด็กพลัดตกจากรถ หากใช้ผ้าห่มหรือผ้าอ้อมห่อตัวเด็กไว้ ควรเพิ่มความระมัดระวัง มิให้ชายผ้าเกี่ยวหรือเข้าไปในซี่ล้อรถขณะที่รถกำลังวิ่ง เพราะอาจทำให้เด็กหลุดเข้าไปติดในซี่ล้อรถจนเป็นเหตุให้เด็กเสียชีวิตได้ หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มที่ผสมแอลกอฮอล์หากรู้ว่าต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ เมาแล้วขับเป็นสาเหตุหนึ่งของการเกิดอุบัติเหตุทางถนน เนื่องจากฤทธิ์ของแอลกอฮอล์ทำให้มีอาการมึนเมาและคึกคะนอง ไม่สามารถควบคุมตัวเองได้ สายตาพร่ามัว สูญเสียความสามารถในการควบคุมสติและการทรงตัว สมรรถนะในการขับขี่ลดลง เช่น การทรงตัว การบังคับรถ การเบรก การเข้าเกียร์ การตัดสินใจ การตอบสนองต่อเหตุการณ์ฉุกเฉินต่างๆ ช้าลงกว่าปกติถึง ๘ เท่า ซึ่งเพิ่มโอกาสและความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน หากผู้ขับขี่ ที่คิดว่าต้องดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ไม่ควรขี่รถจักรยานยนต์ด้วยตนเอง ควรใช้บริการรถโดยสารประจำทาง รถแท็กซี่สาธารณะ หรือให้เพื่อนที่ไม่ได้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นผู้ขับขี่รถจักรยานยนต์แทน จะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนลงได้ การเร่งความเร็วเพื่อฝ่าสัญญาณไฟจราจร การขี่รถจักรยานยนต์ฝ่าสัญญาณไฟเหลืองและไฟแดง เป็นพฤติกรรมที่เพิ่ม ความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ เนื่องจากการเร่งฝ่าสัญญาณไฟเหลืองเพื่อข้ามทางแยก หากขับอยู่กลางทางแยกและอีกฝั่งหนึ่ง เปิดสัญญาณไฟเขียว ทำให้รถที่แล่นออกมาไม่ทันสังเกต ส่งผลให้เกิดการปะทะกันจนถึงขั้นได้รับบาดเจ็บหรือเสียชีวิตได้ หากผู้ขับขี่ เห็นสัญญาณไฟเปลี่ยนเป็นสีเหลืองควรชะลอความเร็วลง ไม่เร่งความเร็ว และจอดรถบริเวณพื้นที่ที่ไม่กีดขวางการจราจรเส้นทางอื่น สุดท้ายนี้ ผู้ขับขี่และผู้ซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ควรสวมหมวกนิรภัยทุกครั้ง หลีกเลี่ยงการซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์มากกว่า ๑ คนขึ้นไป ถ้าต้องขับขี่รถจักรยานยนต์ด้วยตนเองควรหลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่ม ที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์ ตลอดจนไม่ควรเร่งความเร็วฝ่าสัญญาณไฟจราจร เพราะจะเพิ่มความเสี่ยง ต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนน

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ