กลุ่มอุตสาหกรรม เผยผลกระทบที่เกิดจากปัญหาทางการเมือง

ข่าวทั่วไป Wednesday September 10, 2008 08:48 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--สภาอุตสาหกรรมฯ
ฝ่ายส่งเสริมและสนับสนุนอุตสาหกรรม ได้ดำเนินการสอบถามเรื่องผลกระทบที่เกิดจากปัญหาทางการเมือง ไปยังกลุ่มอุตสาหกรรมทั้ง 39 กลุ่ม เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2551 โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมได้ให้ข้อมูล ดังนี้
1. กลุ่มอุตสาหกรรมอาหาร
ก่อนหน้านี้ (หลังจากการเลือกตั้ง) อุตสาหกรรมอาหารของประเทศไทย กำลังมีโอกาสในการป้อนอาหารให้แก่ชาวโลก (สนองนโยบายครัวไทยสู่โลก) ถึงแม้ที่ผ่านมาการผลิตอาหารจะได้รับผลกระทบจากค่าเงินบาทและต้นทุนพลังงาน แต่ผู้ซื้อยังมีความเชื่อมั่น โดยเฉพาะญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่ให้ความสำคัญกับอาหารที่สะอาด ปลอดภัย และมีเป้าหมายที่จะให้ไทยเป็นฐานในการผลิตอาหารให้แก่ชาวญี่ปุ่น ภายหลังจากเกิดวิกฤตอาหารและพลังงาน ยิ่งทำให้หลายประเทศในโลกต้องการสินค้าอาหารจากประเทศไทยมากยิ่งขึ้น
จากการเกิดปัญหาทางการเมือง และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน รวมถึงการนัดหยุดงานในบางหน่วยงาน ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้ซื้อในต่างประเทศจึงเกิดความไม่มั่นใจว่า
1. ผู้ซื้อสามารถเดินทางมาเพื่อติดต่อเจรจาซื้อขาย หรือเซ็นสัญญา ในช่วงเวลานี้ จะมีความปลอดภัยหรือไม่
2. สินค้าที่สั่งซื้อไว้ จะได้รับการส่งมอบตรงเวลาหรือไม่ (การสั่งซื้อปัจจุบัน จะไม่เก็บเป็น Stock)
3. จะเกิดความมั่นใจอย่างไรว่าอุตสาหกรรมการผลิตสินค้าจะไม่กระทบการบริหารจัดการในด้านห่วงโซ่อุปทานในประเทศ ซึ่งส่งผลต่อราคาและการส่งมอบสินค้าในอนาคต
2. กลุ่มอุตสาหกรรมสมุนไพร
1. การนำเข้าวัตถุดิบมีการจัดส่งล่าช้า และมีการปรับราคาเพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้ว ประมาณ 18%-20%
2. ยอดจำหน่าย ซึ่งมีปัญหามาตลอดตั้งแต่ต้นปี ตอนนี้แย่กว่าเดิม ทำให้ยอดขายลดลง อาจทำให้จำเป็นต้องมีการหยุดงานบ้าง
3. การเก็บเงินจากร้านค้า มีระยะเวลายาวขึ้น
4. ปัญหาการเมืองขณะนี้แย่มาก ยังไม่เห็นอนาคตเลยว่าจะจบได้อย่างไร เพื่อที่จะมานั่งคิดถึงการขยายการผลิตและลงทุนปรับปรุงโรงงาน ทุกอย่างหยุดหมด
3. กลุ่มอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์กระดาษ
1. Shipment Delay เนื่องจาก ท่าเรือคลองเตยปิดเข้าไม่ได้
2. เรือสินค้าหลายเอเย่นต์ OMIT ไม่เข้าท่าเรือกรุงเทพ จึงต้องเลื่อนการส่งของออกไปอีก ไม่มี กำหนดแน่นอน
3. ผลกระทบจากการหยุดงานที่การท่าเรือ ทำให้การออกของที่การท่าเรือล่าช้ากว่ากำหนด เสียค่าเช่าเพิ่มขึ้น
4. อัตราดอกเบี้ยในการกู้ยืมเงินสูงขึ้น
5. ผลกระทบจากการหยุดเดินรถไฟ ทำให้การขนส่งสินค้าและวัตถุดิบล่าช้า ไม่ตรงตามกำหนดเวลา
6. สภาพเศรษฐกิจซบเซา ทำให้ยอดขายสินค้าต่างๆลดลง ผลกระทบทำให้ยอดสั่งซื้อสินค้าของบริษัทลดลง
7. ขาดการวางแผนสนับสนุน เพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจจากภาครัฐอย่างจริงจัง ทั้งระยะสั้นและระยะยาว
8. ค่าครองชีพสูงขึ้น สภาพปัญหาของภาคประชาชนเพิ่มขึ้น ทั้งด้านการเงิน สุขภาพกาย และจิตใจ
4. กลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์
1. จากภาพรวมของภาคอุตสาหกรรมยานยนต์ ไม่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่หากสถานการณ์มีความรุนแรงหรือยืดเยื้อมากขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงการนัดหยุดงานของแต่ละสหภาพแรงงาน โดยเฉพาะด้านโลจิสติกส์ ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมยานยนต์ เนื่องจากมีการนำเข้าและส่งออกสินค้าและชิ้นส่วน ที่นำมาผลิตเป็นรถยนต์ต่างๆ รวมถึงการส่งออกชิ้นส่วนและสินค้าสำเร็จรูปไปทั่วโลก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการผลิตได้ ทั้งนี้ส่วนใหญ่การประท้วงหยุดงานของสหภาพแรงงานการท่าเรือจะรุนแรงที่ท่าเรือกรุงเทพ จึงมีผลกระทบต่อภาคการส่งออกด้วย
2. สมาชิกกลุ่มอุตสาหกรรม มักจะมีการประชุมประจำภูมิภาคเอเชีย ซึ่งส่วนใหญ่มักจะประชุมที่กรุงเทพฯ หลังจากประกาศพระราชกำหนดภาวะฉุกเฉินของรัฐบาล ทำให้การประชุมที่เคยกำหนดที่จะจัดในกรุงเทพฯ ถูกย้ายไปประชุมในประเทศอาเชียนอื่นๆ ทำให้ธุรกิจโรงแรมและบริการสูญเสียรายได้เป็นอย่างมาก รวมทั้งการตัดสินใจการลงทุนในประเทศไทย มีโอกาสถูกเลื่อนหรือยกเลิกย้ายไปประเทศอื่นๆ ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
3. ความสูญเสียที่เกิดขึ้นกับภาคการท่องเที่ยว จะมีผลกระทบทำให้ยอดจำหน่ายสินค้าของอุตสาหกรรมยานยนต์โดยเฉพาะอย่างยิ่งรถจักรยานยนต์มีจำนวนลดลง
5. กลุ่มอุตสาหกรรมยา
1. ระบบขนส่งภายในประเทศค่อนข้างลำบาก โดยเฉพาะการขนส่งออกทางอากาศและทางเรือ จำเป็นต้องย้ายการขนส่งไปทางท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้เพิ่มค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
2. การส่งวัตถุดิบจากต่างประเทศ มีปัญหาเสียเวลาออกของ เพราะพนักงานที่ท่าเรือ และที่สนามบินสุวรรณภูมิ ได้หยุดงานบางส่วน
ถ้าสถานการณ์ยังเป็นอย่างนี้ คงจะเกิดความเสียหายมากกว่านี้ จึงวิงวอนให้เร่งการแก้ไขด่วน
6. กลุ่มอุตสาหกรรมอลูมิเนียม
จากการนัดหยุดงานของสหภาพแรงงาน ทำให้เกิดผลกระทบกับอุตสาหกรรมอลูมิเนียม ดังนี้
1. มีตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือกรุงเทพ ไม่สามารถส่งออกได้เพราะเรือเข้าเทียบท่าไม่ได้
2. ต้องย้ายตู้สินค้าที่อยู่ในท่าเรือกรุงเทพไปท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
7. กลุ่มอุตสาหกรรมไม้อัด ไม้บาง และวัสดุแผ่น
จากการเกิดปัญหาทางการเมือง และการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ทำให้กำลังซื้อภายในประเทศในช่วงนี้ลดลง
8. กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร
1. ยอดขายลดลง เนื่องจากลูกค้าชะลอการซื้อ
2. ลูกค้าลดปริมาณการซื้อ และเก็บออมเงินมากขึ้น
3. เกษตรกรหันไปทำอาชีพอื่นแทน เพราะเกรงว่าภาครัฐจะไม่สนับสนุนภาคเกษตร และงบลงทุน
4. ไม่มีรัฐบาลถาวร ทำให้เกษตรกรไม่มั่นใจสินค้าเกษตร เพราะไม่รู้ว่านโยบายภาครัฐ ว่าจจะไปทางด้านใด
9. กลุ่มอุตสาหกรรมเฟอร์นิเจอร์
1. มีตู้สินค้าตกค้างในท่าเรือ ไม่สามารถส่งออกได้เพราะเรือเข้าเทียบท่าไม่ได้
2. ต้องย้ายตู้สินค้าที่อยู่ในท่าเรือกรุงเทพไปท่าเรือแหลมฉบัง ทำให้เสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น
10. กลุ่มอุตสาหกรรมหลังคาและอุปกรณ์
1. ยอดขายได้รับผลกระทบโดยตรง เมื่อเทียบกับระยะเวลาเดียวกันของปีก่อนลดลง โดยติดลบประมาณ 40% ซึ่งมีอาการมาตั้งแต่เดือนกรกฎาคม และส่งผลต่อเนื่องรุนแรงขึ้นเรื่อยมาถึงปัจจุบัน สาเหตุหลัก ๆ มาจากความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคต่อสถานการณ์บ้านเมือง
2. การที่ พธม. ปิดสนามบิน และประท้วงต่อเนื่องส่งผลกระทบต่ออุตสาหรรมการท่องเที่ยว ซึ่งกระทบต่อการลงทุนโดยตรง ถ้าเป็นในระยะยาว จะส่งผลให้การก่อสร้างโรงแรม รีสอร์ทเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวมีการหยุดชะงัก ส่งผลต่ออุตสาหกรรมวัสดุก่อสร้างโดยตรง โดยเฉพาะในพื้นที่ท่องเที่ยว ภาคใต้ ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ และสุราษฏร์ธานี
3. การปิดท่าเรือกรุงเทพ และต้องไปใช้ที่แหลมฉบัง ส่งผลให้เกิดความแออัดของท่าเรือ ทำให้การนำสินค้าออกมาล่าช้า และมีค่าใช้จ่ายสูงขึ้น (รัฐวิสหกิจทั้งหลายเหล่านี้ ขอให้สภาเสนอรัฐบาลทำ Privatization หรือไม่ก็ให้เอกชนเข้ามาแข่งขันได้ จะได้ไม่ลืมไปว่ารัฐวิสหกิจอยู่ได้เพราะ ค้าขายแบบผูกขาดอยู่กับประชาชน)
4. การปิดท่าเรือส่งผลต่อการส่งออก ทำให้ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น อาจใช้ระยะเวลาในการส่งนานขึ้น(ถ้าท่าเรือแหลมฉบังไม่สามารถรองรับได้) ทำให้บริการตกลง และด้อยศักยภาพในการแข่งขัน
5. การเจรจาในการลงทุนทำธุรกิจมีการหยุดชะงักเพื่อรอดูสถานะการณ์ ทั้งการลงทุนในประเทศเองหรือการร่วมทุนจากจ่างประเทศ
11. กลุ่มอุตสาหกรรมชิ้นส่วนและอะไหล่ยานยนต์
ได้รับผลกระทบที่เกิดจากการหยุดให้บริการของการท่าเรือแห่งประเทศไทย ทำให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนที่เพิ่มสูงขึ้นจากการขนย้ายสินค้าจากท่าเรือคลองเตยไปยังท่าเรือแหลมฉบัง นอกจากนี้ยังทำให้มีการขนส่งเกิดการล่าช้าซึ่งจะส่งผลกระทบกับเงื่อนไขใน L/C ของบริษัทผู้ประกอบการ เป็นต้น
12. กลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง
1. การปิดถนนของภาคต่าง ๆ ส่งผลกระทบในการขนย้ายวัตถุดิบมายังสถานประกอบการปลายน้ำเกิดการล่าช้า ซึ่งโดยส่วนใหญ่ผู้ประกอบการปลายน้ำจะอยู่ในเขตกรุงเทพฯ ปละปริมณฑล
2. การปิดให้บริการของการท่าเรือกรุงเทพ ส่งผลกระทบให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนในการขนส่ง เพิ่มขึ้นและทำให้เกิดการล่าช้าในการขนส่ง
3. ในภาพรวมทำให้ตลาดในประเทศหดตัวลง
13. กลุ่มอุตสาหกรรมรองเท้า
1. ทำให้เสียภาพพจน์ของการเป็นประเทศประชาธิปไตย โดยสิ้นเชิง
2. ทำให้เกิดความรู้สึกว่ากฏหมู่อยู่เหนือกฏหมาย
3. คู่ค้าต่างประเทศไม่มั่นใจต่อสภาวะการเมืองของประเทศ ทำให้เสียโอกาสในการทำธุรกิจไป โดยทางอ้อม
4. อยากให้ภาครัฐมีความเด็ดขาดในการแก้ปัญหา
5. อยากให้เกิดความชัดเจนว่าปัญหาจะยุติอย่างไร
14. กลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก
1. การปิดให้บริการของการท่าเรือกรุงเทพ ส่งผลกระทบในการนำเข้าและการส่งออกวัตถุดิบ และสินค้าสำเร็จรูป
2. การชลอตัวของคำสั่งซื้อ — คำขอให้เสนอราคา ลูกค้าไม่มั่นใจในเศรษฐกิจ (ลูกค้าทั้งภาครัฐ และเอกชน)
15. กลุ่มอุตสาหกรรมแก้วและกระจก
1. กระทบการลงทุนเนื่องจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การเมือง
2. เศรษฐกิจในประเทศซบเซา
3. เกิดความไม่สงบในจิตใจของพนักงาน ทำให้มีผลกระทบต่อการผลิต
4. เกิดความขัดแย้งภายในองค์กร
5. ความเชื่อมั่นของชาวต่างชาติที่ลดลง
6. ค่าเงินบาทที่อ่อนตัวลงอย่างมาก
16. กลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลและโลหะการ
1. ทำให้ธุรกิจชลอตัว
2. ต้องการเห็นกฏหมายเป็นกฏหมาย ไม่ต้องการให้กฏหมายเป็นกฏหมู่
3. ต้องการระบบประชาธิปไตย ประเทศปกครองโดยระบบเสรี ทำให้การค้าและธุรกิจต่าง ๆ ขยายตัว และเกิดการแข่งขันแบบเสรี
4. นักลงทุนชลอการลงทุนหรือขยายการผลิตชั่วคราว
5. นักลงทุนไม่มั่นใจในระบบกฎหมายที่มีแต่ไม่สามารถใช้ได้อย่างเต็มที่
6. นักลงทุนต่างชาติขาดความมั่นใจ ในบทกฎหมายประกาศใช้แล้ว ทำไมคนไทยไม่ปฏิบัติตาม
7. ทุกครั้งที่มีนัดปราศัยชุมนุม ยอดสั่งซื้อเครื่องจักรหยุดอย่างไม่มีกำหนดทันที จนกว่าจะสงบเรียบร้อย จึงมาเริ่มต้นเจรจาใหม่ (เริ่มนับ 1 ใหม่)
17. กลุ่มอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์
1. ตามที่สหภาพแรงงานของรัฐวิสาหกิจ สนับสนุนกลุ่มพันธมิตร และมีการหยุดการทำงานของพนักงานกรมศุลกากร ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการนำเข้า และส่งออกสินค้าผ่านด่านศุลกากร โดยเฉพาะสินค้าไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่มีคำสั่งซื้อจากลูกค้าต่างประเทส ซึ่งหากส่งสินค้าไม่ทันเวลาจะมีผลต่อการยกเลิกคำสั่งซื้อ และกระทบต่ออุตสาหกรรมผู้ส่งออกในประเทศอย่างมหาศาล
2. ทำให้นักลงทุนต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น เกิดการชะลอตัวของนักลงทุนรายใหม่ และอาจส่งผลให้นักลงทุนในประเทศอยู่เดิมเกิดความไม่มั่นใจต่อเสถียรภาพและความปลอดภัย ซึ่งอาจจะตัดสินใจย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่นได้ ทำให้ประเทศไทยสูญเสียศักยภาพในการแข่งขัน
3. ความเชื่อมั่นนของผู้บริโภคลดลงส่งผลให้เศรษฐกิจภายในประเทศโดยรวมหดตัว อีกทั้งผู้บริโภคในประเทศชะลอการซื้อสินค้า ส่งผลให้ผู้ประกอบการภายในประเทศจำหน่ายสินค้าได้ลดลง ซึ่งเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขอย่างเร่งด่วน
18. กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานทดแทน
นักลงทุนชลอการลงทุน
1. โครงการที่ 1 ของที่เชียงใหม่และชลบุรี มูลค่าการลงทุนรวมประมาณ 4,000 ล้านบาท
2. โครงการปลูกพืชน้ำมัน 60,000 ไร่ มูลค่าการลงทุน 50ล้านเหรียญสหรัฐ
3. โครงการเอทานอล รอดูเกือบทั้งหมด
19. กลุ่มอุตสาหกรรมหนังและผลิตภัณฑ์หนัง
จะทำให้เศรษฐกิจชลอตัว ประชาชนจะจับจ่ายซื้อสินค้าน้อยลง โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องหนัง ซึ่งจัดเป็นสินค้าฟุ่มเฟือย ถ้าประชาชนไม่มีความมั่นใจในอนาคตการซื้อสินค้าประเภทนี้จะชลอตัวลงมาก อีกทั้งเครื่องหนังเป็นสินค้ากลุ่มหนึ่งที่นักท่องเที่ยวต่างชาตินิยมเข้ามาซื้อที่เมืองไทย ทั้งใน กรุงเทพฯ และหัวเมืองท่องเที่ยว เมื่อนักท่องเที่ยวไม่เข้ามาในระยะ 6 เดือน ข้างหน้า อุตสาหกรรมหนังฟอก และเครื่องหนังย่อมถูกผลกระทบค่อนข้างมาก
20. กลุ่มอุตสาหกรรมหัตถอุตสาหกรรม
1. บริษัทที่ทำธุรกิจเกี่ยวกับสินค้าส่งออก เมื่อมีการปิดท่าเรือ ทำให้ไม่สามารถส่งสินค้าให้ทันตามกำหนดที่ลูกค้าต้องการได้ ทำให้เกิดความเสียหายกับบริษัท และลูกค้าด้วย ทำให้ลูกค้าขาดความเชื่อมั่นกับการทำธุรกิจกับประเทศไทย
2. ทำให้ลูกค้าต่างชาติ ไม่กล้าเดินทางมาประเทศไทย เสียภาพลักษณ์ของประเทศ
3. ลูกค้าขอยกเลิกนัด เลยทำให้ไม่ได้ออร์เดอร์
4. การส่งออกสินค้าไปต่างประเทศ ไม่ค่อยสะดวก
5. การจราจรติดขัด
21. กลุ่มอุตสาหกรรมโรงเลื่อยและโรงอบไม้
การขายต่างประเทศ
1. ทำให้ลูกค้าต่างประเทศขาดความเชื่อมั่น ส่งผลทำให้ยอดขายลดลงเมื่อเทียบกับปีก่อนประมาณ 30%
2. ทำให้การส่งออกล่าช้า ผลสืบเนื่องทาจากการหยุดทำงานของท่าเรือ ซึ่งคิดมูลค่าความเสียหายต่อตู้อยู่ที่ประมาณ 2,500 บาท
3. ทำให้การเบิกเงินค่าสินค้าในระบบ LC ล่าช้า
รายละเอียดเกี่ยวกับข่าวประชาสัมพันธ์ติดต่อ
ศิวพร แสนเสนา (โม)
08-1644-6052/0-2345-1017
The Federation of Thai Industries
Queen Sirikit National Convention Center
Zone C. 4th Floor, 60 New Rachadapisek Rd.,
Klongtoey, Bangkok 10110, Thailand
Tel. 66(0)2345-1017, 66(0)2345-1000 Ext.1017
Fax. 66(0)2345-1296-9
http://www.fti.or.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ