สพก. เผยงานวิจัยการวิเคราะห์วงสวิงสำหรับการตีกอล์ฟ ให้มีประสิทธิภาพและลดการบาดเจ็บ

ข่าวทั่วไป Wednesday September 10, 2008 14:43 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.ย.--โอเค แมส
นายสมบัติ คุรุพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า “การกีฬา นันทนาการ และวิทยาศาสตร์การกีฬา เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ประชาชนสามารถพัฒนาคุณภาพชีวิตของตนเอง ครอบครัว ชุมชน และสังคม นำไปสู่การมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคม และการเมืองได้อย่างมีประสิทธิภาพ สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ จึงเร่งส่งเสริมให้ประชาชนทุกกลุ่มทุกชุมชนได้ออกกำลังกาย เล่นกีฬา เข้าร่วมกิจกรรมนันทนาการเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้ประชาชนมีสุขภาพจิตที่ดี ทั้งส่งเสริมให้นำวิทยาศาสตร์การกีฬามาใช้ในการเล่นกีฬาและออกกำลังกาย เพื่อให้เกิดผลตรงตามเป้าหมายทั้งเพื่อความเป็นเลิศและเพื่อสุขภาพ ดังนั้น สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ จึงใช้องค์ความรู้ในด้านกีฬา นันทนาการ และวิทยาศาสตร์การกีฬา มาดำเนินการวิจัยให้เกิดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อการออกกำลังกาย ซึ่งได้นำเสนอผลงานวิจัยเกี่ยวกับกีฬากอล์ฟ เรื่อง การวิเคราะห์วงสวิงสำหรับการตีกอล์ฟ ให้มีประสิทธิภาพและลดการบาดเจ็บ ด้าน ดร.สุวัตร สิทธิหล่อ ผู้อำนวยการสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กล่าวว่า กอล์ฟ เป็นหนึ่งในกีฬาที่ได้รับความนิยมมาก พบว่า จำนวนผู้เล่นกอล์ฟมีเพิ่มขึ้นทุกปี ลักษณะการเล่นกอล์ฟ จะใช้การเดินในสนามกอล์ฟเป็นส่วนใหญ่ ร่วมกับทักษะและเทคนิคการตีกอล์ฟของผู้เล่นแต่ละคน จากลักษณะการออกกำลังที่ใช้ความหนักในการเล่นน้อย ใช้เวลาออกกำลังนาน ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อร่างกายได้ทัดเทียมกับการออกกำลังกายในรูปแบบอื่นๆ ที่ทำอย่างสม่ำเสมอ ประกอบกับการเล่นกอล์ฟไม่มีการชนปะทะกันโดยตรงและโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุในการเล่นน้อย ซึ่งแตกต่างจากการเล่นกีฬาประเภทอื่นๆ ที่ต้องใช้สมรรถภาพทางกายหลายด้านในการเล่นกีฬาและเกิดโอกาสบาดเจ็บสูง ประโยชน์ด้านหนึ่งของการเล่นกอล์ฟ ซึ่งอาจจะเป็นที่รู้จักกันน้อย คือ ใช้เป็นกีฬาสำหรับการออกกำลังเพื่อป้องกันและพื้นฟูโรคในผู้ป่วยโรคต่าง ๆ เช่น โรคระบบหลอดเลือดและหัวใจ (Cardiovascular Disease) โรคหัวใจ และโรคเบาหวาน เป็นต้น ซึ่งผู้ที่เป็นโรคเหล่านี้ นอกจากการทำงานในชีวิตประจำวันแล้ว ควรมีการออกกำลังกายที่ไม่หนักเกินไปร่วมด้วย โดยจัดโปรแกรมการออกกำลังให้เหมาะสมกับความรุนแรงของโรคและระดับสมรรถภาพทางกายของผู้ป่วยแต่ละคน การเล่นกอล์ฟ จึงเป็นทางเลือกหนึ่งที่เหมาะกับผู้สูงอายุ ผู้ป่วย หรือผู้เป็นโรคหัวใจที่เคยได้รับการผ่าตัด เนื่องจากโอกาสทำให้เกิดคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติ มีน้อยกว่าการทำงานบ้าน การเล่นกอล์ฟสำหรับประชาชนทั่วไป มีทั้งเพื่อการแข่งขันและเพื่อสุขภาพ ซึ่งต้องอาศัยทั้งสมรรถภาพทางจิตใจและทางกายเพื่อให้ตีลูกไปถึงจุดหมาย นักกอล์ฟส่วนใหญ่มักจะมุ่งตีลูกไปให้ไกล โดยใช้แรงจากการบิดหมุนลำตัว และข้อไหล่มาก หรือใช้วิธีการตีตามแบบคนอื่น โดยมีความรู้ ความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน ไม่ทราบว่าได้ใช้ร่างกายเคลื่อนไหวมากเกินไปโดยไม่จำเป็น ตีลูกได้ไกลขึ้นอีกเล็กน้อย แต่มีโอกาสเสี่ยงต่อการบาดเจ็บสูงขึ้นอย่างมาก ซึ่งการบาดเจ็บที่พบมากที่สุดในนักกอล์ฟอาชีพและสมัครเล่น คือ การปวดหลัง รองลงมา คือ การบาดเจ็บข้อไหล่ ข้อศอก และข้อมือ สาเหตุของการบาดเจ็บ คือ การตีไม้กอล์ฟขึ้น — ลงซ้ำๆ และเทคนิคการตีกอล์ฟไม่ถูกวิธี การนำความรู้ด้านชีวศาสตร์มาใช้ในการวิเคราะห์การเคลื่อนไหวขณะตีกอล์ฟ จะทำให้ทราบและได้ข้อมูลการเคลื่อนไหวร่างกายในขณะตีลูกไปถึงจุดหมายที่จะช่วยลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดบาดเจ็บ ตลอดจนเกิดประสิทธิภาพในการตีโดยไม่ต้องใช้แรงมากเกินไปตลอดช่วงวงสวิงกอล์ฟ ที่จะได้ตระหนักและใส่ใจในการที่เริ่มฝึกตีกอล์ฟหรือพัฒนาการตีกอล์ฟให้เหมาะสม ตามกระบวนการวิเคราะห์ทางชีวกลศาสตร์ และความสามารถของตนเอง สำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา สำนักงานพัฒนาการกีฬาและนันทนาการ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ซึ่งรับผิดชอบในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การกีฬามาประยุกต์ใช้กับการออกกำลังกายหรือเล่นกีฬา เพื่อให้เกิดผลของการเล่นกีฬาหรือออกกำลังกายสูงสุด และลดโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดการบาดเจ็บ จึงได้ทำโครงการวิจัยเรื่อง “การวิเคราะห์วงสวิงสำหรับการตีกอล์ฟให้มีประสิทธิภาพและลดการบาดเจ็บ” เพื่อให้ทราบลักษณะการเคลื่อนไหวของร่างกายที่เหมาะสมและศึกษาลักษณะความสัมพันธ์ของความเร็วหัวไม้กอล์ฟกับปัจจัยต่างๆ ตลอดจนการให้คำแนะนำด้านการเคลื่อนไหวร่างกายแก่ผู้เล่นกอล์ฟต่อไป นายกิตติพงษ์ ศรีทองกุล กล่าวว่า “ผู้เล่นกอล์ฟ ควรมีการฝึกหัดวงสวิงกอล์ฟโดยใช้หลักการถ่ายโยงแรงจากเท้า ลำตัว แขน ไม้กอล์ฟไปยังลูกกอล์ฟเพื่อให้ลูกกอล์ฟไปได้ระยะทางไกล การถ่ายน้ำหนักระหว่างเท้าขวา - ซ้ายและการลงน้ำหนักเท้ายันพื้นในแต่ละช่วงการตีจะเป็นตัวส่งแรงและพลังในการตี การบิดลำตัวเป็นการยืดกล้ามเนื้อและเอ็นต่างๆ เพื่อทำให้เกิดแรงและโมเมนตัมสำหรับการเหวี่ยงไม้กอล์ฟลงมาอย่างรวดเร็ว หัวไม้มีความเร็วมากก็สามารถถ่ายเทพลังงานไปยังลูกกอล์ฟได้มาก ทำให้สามารถเคลื่อนที่ไปได้ไกล ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ได้รวมปัจจัยด้านอื่นที่จะช่วยส่งผลต่อความเร็วหัวไม้และความเร็วลูกกอล์ฟ สำหรับนักกอล์ฟสมัครเล่น การตีด้วยแรงเต็มที่ทำให้ความเร็วลูกกอล์ฟเพิ่มขึ้น เคลื่อนที่ไปได้ไกลมากขึ้น แต่โอกาสที่ทิศทางของลูกอาจผิดเป้าหมายมีมากขึ้น (ซึ่งในการวิจัยนี้ไม่ได้วัดทิศทางของลูก) เสี่ยงต่อการเกิดบาดเจ็บสูง และไม่สามารถลดคะแนนของนักกอล์ฟสมัครเล่นได้ จึงไม่จำเป็นที่จะต้องตีกอล์ฟด้วยแรงเต็มที่ ส่วนนักกอล์ฟอาชีพ มักเกิดการบาดเจ็บจากการใช้ร่างกายมากเกินไป (overused) เนื่องจากมีความสม่ำเสมอของการตีวงสวิงที่มีประสิทธิภาพ และนักกอล์ฟสมัครเล่น มักเกิดการบาดเจ็บจากการเคลื่อนไหวร่างกายไม่สมดุลและไม่สม่ำเสมอในการตีแต่ละครั้ง จึงควรมีการฝึกซ้อมเป็นประจำ ยืดเหยียดร่างกายก่อนและหลังเล่นกอล์ฟ ฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อลำตัวและสะโพก ตลอดจนฝึกภาวะจิตใจด้วย”
ประสานงาน : ที่ปรึกษาด้านการประชาสัมพันธ์
บริษัท โอเค แมสจำกัด คุณธนพร สุขมี (แหม่ม) โทร.0-2618-7780-4 ต่อ 105 / (087) 338-7106
คุณปัจฉิมา พรมวงษ์ (นิก) โทร.0-2618-7781-4 ต่อ 115 / (089) 720-9848

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ