ปภ.แนะทุกฝ่ายร่วมสร้างมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ

ข่าวทั่วไป Thursday September 18, 2008 17:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะพนักงานขับรถโดยสาร ผู้โดยสาร ผู้ประกอบการเดินรถ ร่วมกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ เพื่อลดความสูญเสียทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุทางถนน
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์รถโดยสารปรับอากาศสายสุพรรณบุรี — กรุงเทพฯ ประสบอุบัติเหตุ จากการสอบสวนพบว่า เกิดจากผู้ขับขี่รถโดยสารขับรถด้วยความเร็วสูง เป็นเหตุให้รถเสียหลักพุ่งชนเกาะกลางถนน ทำให้มีผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตหลายราย เพื่อเป็นการลดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินจากอุบัติเหตุรถโดยสาร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอแนะให้ทุกคนร่วมมือกันสร้างมาตรฐานความปลอดภัยรถโดยสารสาธารณะ ดังนี้ พนักงานขับรถ ควรเตรียมสภาพร่างกายให้พร้อมก่อนการขับขี่ พักผ่อนอย่างเพียงพอ ไม่ดื่มของมึนเมาหรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการขับขี่อย่างปลอดภัย และประพฤติปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด ไม่ขับรถเร็ว มีมารยาทและน้ำใจให้กับผู้ร่วมใช้เส้นทาง มีใบอนุญาตขับขี่รถโดยสารสาธารณะ รวมทั้งมีจิตสำนึกและความรับผิดชอบด้านความปลอดภัยของผู้โดยสาร โดยระลึกอยู่เสมอว่ามีผู้โดยสารอีกหลายชีวิตฝากความปลอดภัยไว้กับพวงมาลัยของท่าน กรณีต้องขับรถในระยะไกล ควรมีผู้ขับอย่างน้อย ๒ คน หากเกิดอาการเหนื่อยล้าจะได้สามารถสลับเปลี่ยนกันขับรถ กรณีประสบปัญหารถเสียหรือรถมีอาการผิดปกติในระหว่างการเดินทาง ผู้ขับขี่ไม่ควรฝืนขับต่อไป ควรจอดรถในสถานที่ที่ปลอดภัย เพื่อตรวจสอบสภาพรถและซ่อมแซมให้เรียบร้อยจนมั่นใจว่าปลอดภัย จึงเดินทางต่อได้ ผู้โดยสาร ควรร่วมกันเป็นหูเป็นตา เพื่อสร้างความปลอดภัยให้กับตนเองและสังคม หากพบเห็นพนักงานขับรถมีพฤติกรรมผิดปกติ เช่น มีอาการมึนเมา ง่วง หลับใน โทรศัพท์ขณะขับรถ และไม่มีมารยาทในการขับขี่ เช่น ขับรถเร็ว เปลี่ยนช่องทางการเดินรถกะทันหัน ขับรถกระชั้นชิด หรือสภาพรถมีปัญหาควรแจ้งหน่วยงานที่รับผิดชอบ เพื่อหาแนวทางแก้ไข ผู้ประกอบการเดินรถ ควรเข้มงวดในการพิจารณาคัดเลือกพนักงานขับรถ หมั่นนำรถไปตรวจสอบสภาพอย่างสม่ำเสมอ ทั้งระบบเบรก เครื่องยนต์ และยาง ควรอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์และปลอดภัย และควรติดตั้งอุปกรณ์ป้องกันภัยภายในรถ เช่น อุปกรณ์ดับเพลิง ค้อนทุบกระจก ประตูฉุกเฉิน และเข็มขัดนิรภัย ไม่ควรนำรถยนต์ที่มีอายุการใช้งานนานหรือเครื่องยนต์เก่า มาให้บริการประชาชน เพราะอาจเกิดเหตุไม่คาดคิดก่อให้เกิดความสูญเสียได้ ทั้งนี้ หากทุกฝ่ายร่วมกันใส่ใจในความปลอดภัยของรถโดยสารสาธารณะ จะช่วยให้ระบบการขนส่งมวลชนของประเทศไทยมีมาตรฐานด้านความปลอดภัยมากยิ่งขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ