กทม. จัดประชุมวิชาการแพทย์ในสังกัด กทม. กว่า 200 คน เตรียมความพร้อมรับมือโรคระบบทางเดินหายใจที่ระบาดช่วงหน้าหนาว

ข่าวทั่วไป Monday September 29, 2008 17:37 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--29 ก.ย.--คอมมิวนิเคชั่น แอนด์ มอร์
กรุงเทพมหานคร จัดประชุมวิชาการแพทย์ กทม. กว่า 200 คน เตรียมพร้อมรับมือโรคระบบทางเดินหายใจที่ระบาดหนักในช่วงหน้าหนาว เผยโรคปอดบวมและโรคไข้หวัดใหญ่ยังครองแชมป์อย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ซึ่งมีภูมิต้านทานต่ำ เร่งสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องในการดูแลตนเองให้ปลอดโรค พร้อมเดินหน้ามาตรการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีน มุ่งลดสถิติผู้ป่วยโรคระบบทางเดินหายใจอย่างเป็นรูปธรรม
ด้วยเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าวข้างต้น ประกอบกับการส่งเสริมและสนับสนุนให้ประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรงสมบูรณ์ก็เป็นอีกหนึ่งพันธกิจที่สำคัญของกรุงเทพมหานคร ดังนั้น กรุงเทพมหานครจึงได้จัดการประชุมวิชาการสำหรับแพทย์ในสังกัดกรุงเทพมหานครกว่า 200 คน เรื่อง “การรับมือโรคระบบทางเดินหายใจที่แพร่ระบาดในช่วงหน้าหนาว และโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส” โดย นายสิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ รองปลัดกรุงเทพมหานคร เล่าว่า การประชุมนี้เป็นหนึ่งในมาตรการของ กทม. โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นการให้ความรู้และเตรียมความพร้อมสำหรับแพทย์ของกรุงเทพมหานครในการรับมือโรคระบบหายใจที่ระบาดในช่วงหน้าหนาวที่กำลังจะมาถึงนี้ ซึ่งประกอบด้วย โรคไข้หวัดใหญ่ โรคปอดบวม โรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส ซึ่งก่อให้เกิดโรคติดเชื้อรุนแรงต่างๆ เช่น โรคปอดบวมรุนแรง โรคติดเชื้อในกระแสเลือด และโรคเยื่อหุ้มสมองอักเสบ เป็นต้น นอกจากนี้การป้องกันควบคุมโรคระบบทางเดินหายใจ และการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรคปอดอักเสบให้กับเด็กไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือเด็กที่มีสุขภาพแข็งแรงก็ดีตามแผนการสร้างเสริมภูมิคุ้มกัน นับเป็นสิ่งที่จำเป็นและสำคัญที่จะทำให้เด็กปลอดภัยจากโรคต่างๆ ตลอดจนส่งเสริมให้เด็กมีคุณภาพชีวิตที่ดี ทั้งนี้เพื่อลดภาวการณ์เจ็บป่วย และลดภาวะแทรกซ้อนของโรคได้”
นายสิทธิสัตย์ เจียมวงศ์แพทย์ กล่าวต่อว่า โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจจำเป็นที่จะต้องได้รับการแก้ไขปัญหาทั้งด้านการป้องการการติดเชื้อระหว่างผู้ป่วยกับผู้ที่สัมผัส และมีมาตรการป้องกันอื่นๆ เสริม เพื่อให้ผู้ที่สัมผัสและคนปกติไม่ติดเชื้อ และมาตรการที่สำคัญอีกอย่างหนึ่ง คือการสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค ซึ่งโรคที่เป็นปัญหาสำหรับเด็กและกำลังจะเป็นปัญหาในอนาคต คือโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัส หรือไอ พี ดี ซึ่งในอดีตโรคนี้หากป่วยแล้วต้องใช้ยาปฏิชีวนะในการรักษา ทำให้เชื้อมีอัตราการดื้อยาสูงและใช้เวลารักษายาวนาน แต่ในปัจจุบันได้มีการผลิตวัคซีนไอพีดี ที่มีประสิทธิภาพในการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้เป็นอย่างดี
จากการศึกษาพบว่าในเด็กไทยสามารถพบเชื้อนิวโมคอคคัสในลำคอได้ถึงร้อยละ 35 (หรืออาจพูดได้ว่าในเด็กเล็ก 10 คน จะมีถึง 4 คนที่มีเชื้อตัวนี้) ซึ่งเชื้อนิวโมคอคคัสสามารถแพร่กระจายได้จากการสัมผัสละอองของน้ำมูก น้ำลายของผู้ที่มีเชื้อดังกล่าว ซึ่งก่อทำให้เกิดโรคในระบบต่างๆ ที่สำคัญของร่างกาย ซึ่งหากเด็กเล็กเป็นโรคติดเชื้อนิวโมคอคคัสรุนแรง จะมีโอกาสพิการ และเสียชีวิตสูงมาก
พญ.ป่านฤดี มโนมัยพิบูลย์ ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค สำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร เปิดเผยว่า จากสถานการณ์การเกิดโรคติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจในกรุงเทพมหานคร พบว่าประชาชนป่วยเป็นโรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจสูงเป็นอันดับ 2 รองจากโรคระบบทางเดินอาหาร ซึ่งในปี พ.ศ. 2550 ที่ผ่านมา โรคติดเชื้อระบบทางเดินหายใจโดยเฉพาะโรคปอดบวมอักเสบมีจำนวน 6,836 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 119.59 ต่อประชากรแสนคน และโรคไข้หวัดใหญ่จำนวน 2,148 ราย คิดเป็นอัตราป่วย 37.58 ต่อประชากรแสนคน
พญ.ป่านฤดี กล่าวเสริมว่า จากการระบาดของโรคระบบทางเดินหายใจในช่วงหน้าหนาวข้างต้นกองควบคุมโรค สำนักอนามัย จึงเร่งให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องเกี่ยวกับวิธีการดูแลร่างกายให้ปลอดจากโรคในช่วงหน้าหนาวนี้กับประชาชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเด็กเล็กที่ยังมีภูมิต้านทานต่ำ ด้วยการหมั่นล้างมือให้สะอาด เพราะเชื้อโรคเหล่านี้สามารถแพร่กระจายได้ด้วยการสัมผัส หากเราล้างมือบ่อยๆ จะช่วงให้ลดการแพร่กระจายของเชื้อได้ รวมทั้งสร้างสุขอนามัยที่ดีอยู่เสมอ ทำร่างกายให้แข็งแรงด้วยการออกกำลังกาย หลีกเลี่ยงสถานที่แออัด พลุกพล่านและมีคนอยู่รวมตัวกันหนาแน่น เพราะจะเพิ่มโอกาสเสี่ยงในการติดเชื้อโรคต่างๆ
สำหรับผู้ป่วยต้องดูแลร่างกายตัวเองด้วยการนอนพักผ่อนให้เพียงพอ ดื่มน้ำมากๆ รับประทานผักผลไม้ที่มีวิตามินซีสูง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่เข้าไปอยู่ในสถานที่แออัดพลุกพล่าน รวมทั้งใช้หน้ากากอนามัยเพื่อลดการแพร่เชื้อจากตนเองไปสู่บุคคลอื่น
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ
บุษบา (บุษ) / พิธิมา (ก้อย)
โทร. 0-2718-3800 ต่อ 138

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ