สรุปสาระสำคัญมาตรการเสริมสภาพคล่องของรัฐบาลอังกฤษ โดย SCBT

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday October 9, 2008 16:54 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--9 ต.ค.--ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์
รัฐบาลอังกฤษมีมาตรการช่วยฟื้นฟูสภาพคล่องและอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบการเงินธนาคารของอังกฤษ แผนดังกล่าวเปิดให้กับธนาคารต่างๆเข้าร่วม โดยมีธนาคารทั้งหมด 8 แห่งของอังกฤษเข้าร่วม ได้แก่ Royal Bank of Scotland, Lloyds TSB, HBOS, Barclays, HSBC, Nationwide, Abbey National/ Santander and Standard Chartered Bank
การที่สแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเป็นธนาคารใหญ่แห่งหนึ่งของอังกฤษ อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ FSA (Financial Service Authority) ของอังกฤษ จึงได้รับการหารือและเชิญให้เข้าร่วมแผนดังกล่าวเพื่อช่วยกันเสริมสภาพคล่องให้กับระบบการเงินของประเทศ ในหลายๆ ระดับ
สาระสำคัญของแผนดังกล่าวคือ
1. ธนาคารที่เข้าร่วมสามารถขอสภาพคล่องเพิ่มเติมจากธนาคารกลางได้ในกรณีที่จำเป็น และมีความต้องการสภาพคล่องเพิ่มเติม
2. หากธนาคารที่เข้าร่วมต้องการจะออกหุ้นกู้ใหม่เพื่อระดมทุนเสริมสภาพคล่อง รัฐบาลอังกฤษจะเข้าไปค้ำประกันหุ้นกู้ใหม่ทั้งหมด ซึ่งจำนวนเงินสำรองประกันหุ้นกู้นี้ประมาณ 250,000 ล้านปอนด์ ทั้งนี้ รัฐบาลจะคอยตรวจสอบ ทบทวนความเพียงพอของเงินสำรองดังกล่าว ผลคือ จะทำให้ธนาคารที่เข้าร่วมแผนนี้มีสภาพคล่องที่สูงขึ้นอีก
3. ธนาคารที่เข้าร่วมทั้ง 8 แห่ง หากต้องการเพิ่มทุนเพื่อสร้างความแข็งแกร่งต่อเงินกองทุน สามารถรับการสนับสนุนโดยออกหุ้นกู้บุริมสิทธิ์ให้แก่รัฐบาลอังกฤษ จำนวนที่สำรองไว้รวมทั้งสิ้น 25,000 ล้านปอนด์ และสามารถเพิ่มวงเงินให้อีก 25,000 ล้านปอนด์ในกรณีที่จำเป็น ผลคือ จะทำให้ภาคการเงินของอังกฤษมีฐานการเงินที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้น
ประเด็นข่าวที่คลาดเคลื่อน
สำนักข่าวหลายแห่งรายงานว่า มาตรการช่วยเหลือธนาคารของรัฐบาลอังกฤษในครั้งนี้ เป็นการเข้ายึดกิจการ (take over) โดยการซื้อหุ้นของธนาคาร และทำให้ธนาคารที่เข้าร่วมโครงการเหล่านั้นกลายเป็นธนาคารของรัฐ ซึ่งหากพิจารณาจากมาตรการข้างต้น และเบื้องหลังของที่ธนาคารต่างๆเข้าร่วมโครงการนี้ จะเห็นว่า รัฐบาลอังกฤษนำมาตรการนี้ออกมาใช้เพื่อเสริมเสถียรภาพของระบบการเงินโดยรวมของประเทศซึ่งเกิดจากภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่วโลก ธนาคารที่เข้าร่วมไม่ใช่ทุก
ธนาคารที่มีปัญหา หรือขาดสภาพคล่อง หลายๆธนาคาร รวมทั้งธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว เพื่อระดมกำลังเข้าไปช่วยกันเสริมสภาพคล่องให้กับทั้งระบบ
ทั้งนี้ ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดสนับสนุนการตัดสินใจที่เด็ดขาดของรัฐบาลอังกฤษในความพยายามที่จะสร้างเสถียรภาพให้แก่ระบบการเงินอังกฤษ และมองว่า เป็นการตอบสนองที่เหมาะสมและเด็ดเดี่ยวของรัฐบาลอังกฤษต่อปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งระบบได้หลายๆ ระดับ
การที่ธนาคารได้รับเชิญให้เข้าร่วมแผนนี้ พร้อมกับธนาคารรายใหญ่อีกหลายๆแห่งของอังกฤษ แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของธนาคารที่มีต่อระบบการเงินอังกฤษ เพื่อระดมกำลังช่วยกันแก้ปัญหาวิกฤตการเงินที่เกิดขึ้นทั่วโลกขณะนี้
ธนาคารไม่มีความประสงค์และไม่มีความจำเป็นที่จะต้องระดมทุนใหม่ภายใต้แผนนี้
ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดยังอยู่ในสถานภาพที่แข็งแกร่งทั่วทุกประเทศที่มีสาขา ธนาคารมีเงินกองทุนที่แข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องสูง ธนาคารยังอยู่ในสถานะผู้ปล่อยกู้สุทธิให้ตลาดกู้ยืมเงินระหว่างธนาคารพาณิชย์ (interbank market) ดังนั้น จึงไม่มีประสงค์ และไม่มีความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องเพิ่มทุนภายใต้แผนนี้ที่ผ่านมา ธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ดได้รับประโยชน์จากการที่ลูกค้ามองหาแหล่งฝากเงินที่ปลอดภัยและมั่นคง แม้ในช่วงเวลาที่ผ่านมาเมื่อเร็วๆนี้ เงินฝากของลูกค้าก็ยังไหลเข้ามาอย่างสม่ำเสมอ และยังดำเนินธุรกิจและเติบโตอย่างต่อเนื่อง
ในส่วนของธนาคารสแตนดาร์ดชาร์เตอร์ด (ไทย) ก็เช่นกัน นอกจากธนาคารจะมีสถานะการเงินที่แข็งแกร่ง และมีสภาพคล่องสูงแล้ว ธนาคารยังอยู่ในสถานะเป็นผู้ปล่อยกู้สุทธิในตลาด interbank ของไทย สัดส่วนสินเชื่อต่อเงินฝากของธนาคาร ณ วันที่ 7 ตุลาคม 2551 อยู่ที่ 72.5 เงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงอยู่ที่ 13.94% และเงินกองทุนขั้นที่ 1 ของธนาคารอยู่ที่ 13.4%

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ