ผลการดำเนินการปี 2548 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ มีรายได้รวม 22,745 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 24

ข่าวทั่วไป Wednesday March 1, 2006 16:20 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 มี.ค.--แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์
นายอดิศร ธนนันท์นราพูล กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัท แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงผลการดำเนินการของบริษัทฯ และบริษัทย่อยว่า ในปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อย มียอดขายอันเกิดจากการโอนบ้านรวมทั้งสิ้น 22,745 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 4,454 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.4 เมื่อเทียบกับปี 2547 ซึ่งมียอดขายเท่ากับ 18,291 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม บริษัทฯและบริษัทย่อยมีกำไรสุทธิเท่ากับ 5,181 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 14.9 เมื่อเทียบกับกำไรสุทธิของปี 2547 ซึ่งทำได้เท่ากับ 6,087 ล้านบาท สาเหตุที่บริษัทฯ มีผลกำไรลดลงทั้งๆที่มียอดขายเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 24.4 เกิดจากรายได้อื่นๆ เช่นรายได้จากการขายเงินลงทุน, รายได้จากส่วนแบ่งกำไรของบริษัทฯร่วม เป็นต้น ลดลงจากปีก่อนประมาณ 1,900 ล้านบาท
ในรอบปีที่ผ่านมา บริษัทฯ ได้ลงทุนซื้อที่ดินไปเกือบ 3,000 ล้านบาท และมีการจ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น 2 ครั้ง คิดเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 4,517.84 ล้านบาท กล่าวคือ
- ครั้งที่ 1 เมื่อวันที่ 11 พฤษภาคม 2548 โดยจ่ายจากผลการดำเนินงานของปี 2547 ในอัตราหุ้นละ 0.30 บาท คิดเป็นจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้น 2,455.84 ล้านบาท
- ครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 13 กันยายน 2548 โดยจ่ายจากผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2548 ในอัตราหุ้นละ 0.25 บาท คิดเป็นจำนวนเงินปันผลทั้งสิ้น 2,062 ล้านบาท
ทางด้านฐานะการเงินของบริษัทฯ ณ สิ้นปี 2548 บริษัทฯ และบริษัทย่อยมีสินทรัพย์รวมจำนวน 39,286 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 2,319 ล้านบาท จาก 36,967 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2547 และมีสภาพคล่อง ณ สิ้นปี 2548 จำนวน 2,574 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนจำนวน 1,245 ล้านบาท ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินต่อทุนสุทธิของบริษัทฯ ณ สิ้นปี 2548 ยังคงอยู่ในระดับเดียวกับ ณ สิ้นปี 2547 ซึ่งเท่ากับร้อยละ 45
สำหรับแผนงานทางด้านการลงทุนปี 2549 ของบริษัทฯ นั้น บริษัทฯ วางงบประมาณในการจัดซื้อที่ดินเพิ่มเติมอีกประมาณ 4,000 ล้านบาท และจะกันเงินอีกประมาณ 1,500 ล้านบาท ไว้สำหรับการลงทุนด้านอื่นๆ ทั้งนี้ คาดว่าสัดส่วนหนี้สินต่อทุน ณ ปลายปี 2549 จะยังคงอยู่ในระดับร้อยละ 50
นายนพร สุนทรจิตต์เจริญ กรรมการและรองกรรมการผู้จัดการ บริษัทแลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) ได้เปิดเผยถึงภาวะตลาดที่อยู่อาศัยปี 2548 ว่า ตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมมีการขยายตัวสูงขึ้นจากปี 2547 เล็กน้อย จากตัวเลขบ้านจดทะเบียนเพิ่มที่เกิดขึ้นในปี 2548 มีจำนวนทั้งหมด 67,829 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2547 (62,796 หน่วย) 8% โดยแบ่งแยกเป็นที่อยู่อาศัยประเภทสร้างเอง 25,241 หน่วย เพิ่มขึ้น 27% และที่อยู่อาศัยประเภทจัดสรร 42,588 หน่วย ลดลง 0.8% จากปี 2547 (42,937 หน่วย) อนึ่งหากพิจารณาเฉพาะบ้านจดทะเบียนเพิ่มประเภทจัดสรร ในปี 2548 จำแนกตามประเภทของที่อยู่อาศัย
โดยในปี 2548 มีหลายปัจจัยที่มีผลต่อตลาดที่อยู่อาศัย ที่สำคัญๆ ดังนี้
- การปรับตัวสูงขึ้นของราคาน้ำมันอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อต้นทุนการผลิตที่อยู่อาศัยที่สูงขึ้น
ทำให้การส่งมอบบ้านของผู้ประกอบการล่าช้า (เดือน ม.ค 2548 ก่อนการประกาศลอยตัวราคาน้ำมัน ราคาน้ำมันดีเซลลิตรละ 14.59 บาท และราคาน้ำมันเบนซิน 95 ลิตรละ 19.69 บาท มีการปรับตัวสูงสุดในช่วงระหว่างเดือน ส.ค.- ก.ย เป็นราคาลิตรละ 26.94 บาท และ 27.77 บาทตามลำดับ)
- แม้ว่าอัตราดอกเบี้ยจะมีการปรับตัวสูงขึ้น (อัตราดอกเบี้ย MLR ต้นปี อยู่ที่ 5.75% ปรับสูงขึ้นเป็น 6.75% ในช่วงปลายปี) แต่เป็นการปรับตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป ตลอดจนการให้ระยะสินเชื่อในระยะยาวขึ้น จาก 15 ปี เป็น 25 ปี หรือ 30 ปี ซึ่งไม่มีผลกระทบต่อการซื้อของผู้บริโภค (การปรับตัวที่สูงขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 1% ทำให้การผ่อนชำระต่อเดือนสูงขึ้นประมาณ 8% ของยอดผ่อนชำระต่อเดือนเดิม หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 570 บาท ต่อวงเงินกู้ 1 ล้านบาท ระยะ เวลากู้ 20 ปี )
- อัตราเงินเฟ้อ ปรับตัวสูงขึ้นจาก 2.8 % ในช่วงไตรมาสที่ 1 ของปี 2548 เป็น 3.7% และ 5.6 % ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ของปี 2548 ตามลำดับ คาดว่าทั้งปีจะอยู่ในระดับ 4.5% ถึงแม้ว่าอัตราเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แต่การปรับตัวดังกล่าวยังไม่สูงมากนัก
- ความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ ในการให้สินเชื่อทั้ง Pre-Finance และ Post-Finance ที่มากขึ้น (มูลค่าสินเชื่อที่ธนาคารพาณิชย์ให้แก่บุคคลทั่วไปที่ปล่อยใหม่ สำหรับที่อยู่อาศัย ในช่วงไตรมาส 1-3 ของปี 2547 เท่ากับ 114,313 ล้านบาท แต่ไตรมาส1 - 3 ของปี 2548 เท่ากับ 89,041 ล้านบาท ลดลง 22.1% เช่นเดียวกันกับมูลค่าของสินเชื่อที่ให้แก่ผู้ประกอบการที่ปล่อยใหม่ ลดลงจาก 34,972 ล้านบาท ในช่วงไตรมาส 1 - 3 ของปี 2547 เทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2548 ที่มีเพียง 23,612 ล้านบาท ลดลง 32.5%
- การแข่งขันด้านราคาลดลงเมื่อเทียบกับช่วงปี 2547 เนื่องจากการปรับตัวสูงขึ้นของต้นทุนการผลิต
- ปัญหาทางการเมืองช่วงปลายปี ส่งผลต่อความเชื่อมั่นและการชะลอการตัดสินใจซื้อของผู้บริโภค
บางส่วน
- ความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจในปี 2548 ยังคงมีการขยายตัวต่อเนื่องจาก ปี 2547 ทั้งปี 2548 คาดว่าจะอยู่ในระดับ 4.7% ซึ่งต่ำกว่าที่ประมาณการเมื่อต้นปี 2548 (ประมาณการต้นปี 5.5% อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ 3 ไตรมาสแรกของปี 48 อยู่ที่ 4.4%)
ผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2548
นายนพร เปิดเผยถึงผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ในปี 2548 ว่า บริษัทฯ ได้ส่งมอบบ้านให้แก่ลูกค้า จำนวน 3,879 หน่วย โดยแบ่งแยกเป็นบ้านเดี่ยว จำนวน 3,418 หน่วย และคอนโดมิเนียม 461 หน่วย เพิ่มขึ้นจากปี 2547 เท่ากับ 17.5 % (ในปี 2547 บริษัทส่งมอบบ้านจำนวนรวมทั้งสิ้น 3,300 หน่วย) และในปี 2548 บริษัทฯ มีจำนวนโครงการที่เปิดดำเนินการรวมทั้งสิ้น 40 โครงการ เป็นโครงการในต่างจังหวัด 6 โครงการ
แนวโน้มตลาดที่อยู่อาศัย ปี 2549
ตลาดที่อยู่อาศัยในปี 2549 จะเป็นตลาดที่เกิดจากความต้องการที่แท้จริงของผู้บริโภค แนวโน้มของตลาดที่อยู่อาศัย น่าจะมีการขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2548 โดยอัตราการขยายตัว จะอยู่ในระดับไม่เกิน 10% ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของปัจจัยต่างๆ ดังนี้
- อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ (GDP Growth Rate) มีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อเนื่องจากปี 2548 จากการประมาณการของทางการ อยู่ในระดับร้อยละ 4.5 ต่อปี
- หากมีการลงทุนของภาครัฐบาลในโครงการเมกะโปรเจค จะมีผลต่อการกระตุ้นความเติบโตของเศรษฐกิจ นอกจากนี้การลงทุนในด้านสาธารณูปโภคของรัฐบาล เพื่อแก้ไขปัญหาการจราจร จะส่งผลดีต่อตลาดที่อยู่อาศัยโดยรวมในอนาคต
- อัตราดอกเบี้ย มีแนวโน้มที่จะปรับตัวสูงขึ้น คาดว่าจะปรับเพิ่มขึ้นไม่เกิน 1% ซึ่งการปรับมีแนวโน้มที่จะค่อยเป็นค่อยไป นอกจากนี้ภาพรวมของสินเชื่อที่อยู่อาศัยมีแนวโน้มที่ขยายตัวจากปี 2548 ประมาณ 10%
- อัตราเงินเฟ้อ อยู่ในระดับประมาณ 4 — 5 % จะไม่ส่งผลกระทบต่อตลาดที่อยู่อาศัยมากนัก
- ระดับราคาน้ำมัน ที่มีเสถียรภาพยิ่งขึ้น ต้นทุนการผลิตที่ไม่ผันผวนมากนัก และต้นทุนที่สูงขึ้นไม่เกินกว่า 10%
- การขยายโครงการของผู้ประกอบการลดน้อยลง เนื่องจาก
o ความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่ผู้ประกอบการ
o ความเข้มงวดของธนาคารพาณิชย์ ในการพิจารณาให้สินเชื่อแก่รายย่อย
o การซื้อที่ดินใหม่ของผู้ประกอบการ น้อยลงตั้งแต่ต้นปี 2548 (ส่งผลให้ราคาที่ดิน ทรงตัว)
แผนการดำเนินงานของบริษัทในปี 2549
ณ ต้นปี 2549 บริษัทฯ มีโครงการที่เปิดดำเนินการอยู่ทั้งสิ้น 29 โครงการ โดยเป็นโครงการในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 23 โครงการ ต่างจังหวัด 6 โครงการ ในปี 2549 บริษัทฯ เตรียมเปิดโครงการใหม่อีก 13 โครงการ แบ่งเป็นโครงการบ้านเดี่ยวในกรุงเทพฯ และปริมณฑล 11 โครงการ โครงการทาวน์เฮ้าส์ 2 โครงการ จำนวนโครงการที่เปิดดำเนินการทั้งสิ้น
ในปี 2549 รวมทั้งหมด 42 โครงการ
โครงการเปิดใหม่ในปี 2549
โครงการ มูลค่าโครงการ ประมาณการเปิด
(ล้านบาท)
1. ลดาวัลย์ สาทร ราชพฤกษ์ 2,388.0 มกราคม
2. นันทวัน สาทร ราชพฤกษ์ 3,357.3 มีนาคม
3. ชัยพฤกษ์ เพชรเกษม 81 1,543.0 เมษายน
4. มัณฑนา บางแค 536.0 พฤษภาคม
5. พฤกษ์ลดา วงแหวน รัตนาธิเษศร์ 1,916.8 พฤษภาคม
6. ชลลดา สุวรรณภูมิ 6,331.4 กันยายน
7. พฤกษ์ลดา วงแหวน ติวานนท์ 1,597.0 กันยายน
8. พฤกษ์ลดา พระราม 2 (2) 1,407.0 กันยายน
9. ชัยพฤกษ์ บางนา สุวรรณภูมิ 857.8 ตุลาคม
10. พฤกษ์ลดา รังสิต คลอง 4 (2) 2,527.0 ตุลาคม
11. ชัยพฤกษ์ บางใหญ่ 2,953.0 พฤศจิกายน
12. The Terrace ลาดพร้าว 71 280.0 พฤศจิกายน
13. The Terrace พระราม 2 900.0 พฤศจิกายน
รวมทั้งหมด 26,594.3--จบ--

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ