ไอเอ็นจีเผยผลสำรวจภาวะการลงทุนไตรมาส 3 ดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยลดลง 35% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่เพิ่มขึ้นถึง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปีนี้

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday October 14, 2008 15:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 ต.ค.--อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์ จุดเด่นจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนประจำไตรมาสของ ไอเอ็นจี กรุ๊ป - ดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยลดลง 35% มาอยู่ที่ 84 ในไตรมาส 3 ปี 2551 จาก 129 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว - ดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยปรับตัวสูงขึ้นถึง 4% จาก 81 ในไตรมาส 2 ของปี 2551 - นักลงทุนชาวไทยมีมุมมองเชิงบวกน้อยที่สุดต่อภาคการลงทุนที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูงในเอเชีย และหันไปลงทุนในภาคการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำกว่า หรือมีความปลอดภัยสูง เช่น พันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาล - สถานการณ์ทางการเมืองและการชุมนุมที่รุนแรงเพื่อประท้วงรัฐบาล ยังคงส่งผลต่อเนื่องต่อสภาวะตลาด ส่วนความคาดหวังต่อการปรับตัวดีขึ้นของตลาดในระยะสั้นและกลาง ยังคงริบหรี่ - สถานการณ์ในประเทศอื่นๆ ในเอเชีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ฮ่องกงและจีน บ่งบอกถึงภาวะตลาดที่ถดถอยมากที่สุด เมื่อเทียบกับช่วงไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว ไอเอ็นจี กรุ๊ป สถาบันการเงินระดับโลก เผยข้อมูลจากรายงานการสำรวจภาวะการลงทุนรายไตรมาสว่า ความเชื่อมั่นของการลงทุนในเอเชียลดลงอย่างเด่นชัดถึง 35% ในระยะเวลา 12 เดือนที่ผ่านมา ชี้ชัดนักลงทุนไทยได้รับผลกระทบจากความปั่นป่วนของภาคการเงินทั่วโลกและการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก ดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยลดลงมาอยู่ที่ 84 ในไตรมาส 3 ปี 2551 จาก 129 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว (ไตรมาส 3 ปี 2550) อันเป็นผลมาจากวิกฤติด้านสินเชื่อในตลาดโลก ผนวกกับความตกต่ำทางเศรษฐกิจที่ลุกลามไปทั่ว อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นของการลงทุนในไทยในไตรมาส 3 ปี 2551 ที่ระดับ 84 นี้ นับว่าปรับตัวสูงขึ้นถึง 4% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ของปี 2551 ที่ระดับ 81 และจากผลสำรวจกลุ่มนักลงทุนในไทย พบว่า มีนักลงทุนจำนวนน้อยลง ที่คาดการณ์ว่าภาวะการลงทุนในไตรมาส 4 ปี 2551 จะถดถอยลงอีก ขณะที่มีนักลงทุนจำนวนเพิ่มขึ้นที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์การลงทุนในไตรมาสสุดท้ายของปี 2551 จะยังคงเป็นเช่นเดียวกับปัจจุบันไม่เปลี่ยนแปลง ซึ่งมุมมองของนักลงทุนไทยอาจผันแปรได้อย่างรวดเร็วหากภาวะการซื้อขายหุ้นในตลาดโลกยังคงตกต่ำ และการชุมนุมประท้วงรัฐบาลทวีความรุนแรงขึ้น ปัจจัยด้านภาวะตลาดและเศรษฐกิจโลก ส่งผลให้ดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคเอเชียโดยรวมมีการปรับตัวลดลง 39% จากไตรมาสที่ 3 ปี 2550 ที่ 141 มาอยู่ที่ระดับ 86 ในไตรมาสที่ 3 ปี 2551 ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนที่ลดลง 21% เมื่อเทียบกับไตรมาส 2 ปี 2551 ที่ 109 การสำรวจภาวะการลงทุนไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด (ING Investor Dashboard) เป็นการสำรวจดัชนีการลงทุนรายไตรมาสในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก (ยกเว้นญี่ปุ่น) เป็นรายแรก โดยเป็นการชี้วัดความเชื่อมั่นของนักลงทุนในภูมิภาคนี้ทั้ง 13 ประเทศ ได้แก่ ไทย ฮ่องกง จีน อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ส่วนดัชนีภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก จะรวมทุกตลาด ยกเว้น ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ พร้อมทั้งเสนอภาพรวมของตลาดการลงทุนและทัศนคติของนักลงทุน โดยสามารถใช้ดัชนีความเชื่อมั่นประจำไตรมาสของไอเอ็นจี กรุ๊ป ในการอ้างอิง ปัญหาวิกฤติสินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่องต่อทัศนคติเกี่ยวกับภาวะการลงทุนในประเทศ และสถานะการเงินส่วนบุคคลของนักลงทุนไทย ข้อมูลบ่งชี้ว่า ทัศนคติต่อสภาพเศรษฐกิจและสถานะการเงินส่วนบุคคลของนักลงทุนไทย ในไตรมาส 3 ปี 2551 มีการปรับตัวดีขึ้นเพียงเล็กน้อย เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อน - 81% ของนักลงทุนไทย ชี้ว่า สภาพเศรษฐกิจในไตรมาส 3 ปี 2551 ทรุดโทรม เทียบกับ 82% ในไตรมาส 2 ปี 2551 - 51% ของนักลงทุนไทย ชี้ว่า สถานะการเงินส่วนบุคคลในไตรมาส 3 ปี 2551 ทรุดโทรม เทียบกับ 36% ในไตรมาส 2 ปี 2551 ปัจจัยหลักที่ส่งผลให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงในไตรมาส 3 ปี 2551 ได้แก่ ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อ ปัญหาวิกฤติ สินทรัพย์ด้อยคุณภาพ และภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา - 79% ของนักลงทุนไทย ชี้ว่า ภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงทุนในไตรมาส 3 ปี 2551 - 73% มองว่า ตนได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในไตรมาส 3 ปี 2551 - 75% มองว่า ตนได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในไตรมาส 3 ปี 2551 ก้าวเข้าสู่ไตรมาส 4 ปี 2551 ภาวะเงินเฟ้อยังคงเป็นประเด็นหลักที่นักลงทุนในประเทศวิตกกังวล ทั้งนี้ นักลงทุนยังมีการคาดการณ์ว่า สภาพการณ์ทางการเงินโลกที่ตกต่ำอย่างต่อเนื่อง อันเป็นผลมาจากปัญหาวิกฤติสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา จะส่งผลกระทบรุนแรงขึ้นต่อการตัดสินใจในการลงทุน - 77% ของนักลงทุนไทย คาดว่า ภาวะเงินเฟ้อจะส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจในการลงทุนในไตรมาส 4 ปี 2551 ขณะที่ 52% คาดว่า อัตราเงินเฟ้อจะพุ่งสูงขึ้นในไตรมาส 4 ปี 2551 - 69% มองว่า ตนจะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในไตรมาส 4 ปี 2551 - 75% มองว่า ตนจะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในไตรมาส 4 ปี 2551 ขณะที่ 37% คาดว่าสภาพเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาจะทรุดโทรมในไตรมาส 4 ปี 2551 นายมาริษ ท่าราบ กรรมการผู้จัดการ บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน (บลจ.) ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า “แม้ว่าเศรษฐกิจไทยยังคงซบเซา โดยได้รับผลกระทบเชิงลบจากวิกฤติสินเชื่อและวิกฤติเศรษฐกิจโลก แต่โครงสร้างพื้นฐานของระบบเศรษฐกิจไทยนั้น ยังนับว่าอยู่ในสภาพดี นักลงทุนในไทยมีทัศนคติเชิงลบน้อยกว่านักลงทุนในประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ และเรารู้สึกมั่นใจมากขึ้น ที่ได้ทราบว่ามีนักลงทุนไทยเพียงเล็กน้อยที่คาดว่าสภาพเศรษฐกิจจะยังคงทรุดลงอย่างต่อเนื่องไปจนถึงไตรมาสที่ 4 ปี 2551 อย่างไรก็ตาม เราคงต้องจับตาดูสถานการณ์ด้วยความระมัดระวัง เพราะเศรษฐกิจโลกยังคงได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินเชื่อ และวิกฤติสภาพคล่องทางการเงิน” ตลาดการลงทุนที่พึ่งพิงสหรัฐอเมริกา เช่น ฮ่องกงและจีน มีแนวโน้มว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ในเอเชีย ตลาดการลงทุนที่พึ่งพิงสหรัฐอเมริกามาก เช่น ฮ่องกงและจีน มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากภายนอกและความผันผวนของตลาดโลกมากที่สุด ทั้งยังมีความเชื่อมั่นของนักลงทุนลดลงมากที่สุด ตลาดการลงทุนที่พึ่งพิงสหรัฐอเมริกา ดัชนี ไตรมาส2 ปี 2551 ดัชนี ไตรมาส3 ปี 2551 % ที่ลดลง ฮ่องกง 123 79 36% จีน 117 88 25% เกาหลี 87 65 25% สิงคโปร์ 90 71 21% ไต้หวัน 109 65 40% สำหรับไตรมาส 4 ปี 2551 นักลงทุนในฮ่องกง จีน เกาหลี และสิงคโปร์ มีแนวโน้มความเสี่ยงที่จะได้รับผลกระทบจากวิกฤติสินทรัพย์ด้อยคุณภาพและภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกา มากกว่าประเทศอื่นๆ ในเอเชีย - 94% ของนักลงทุนฮ่องกง; 80% ของนักลงทุนจีน; 87% ของนักลงทุนเกาหลี; 87% ของนักลงทุนสิงคโปร์ และ 69% ของนักลงทุนไทย จะยังคงได้รับผลกระทบจากปัญหาวิกฤติสินทรัพย์ด้อยคุณภาพในไตรมาส 4 ปี 2551 - 89% ของนักลงทุนฮ่องกง; 86% ของนักลงทุนจีน; 92% ของนักลงทุนเกาหลี; 93% ของนักลงทุนสิงคโปร์ และ 75% ของนักลงทุนไทย คาดว่า ตนจะยังคงได้รับผลกระทบจากภาวะถดถอยของเศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในไตรมาส 4 ปี 2551 นักลงทุนไทยเพิ่มการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ เช่น พันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาลและลดการลงทุนประเภทที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง ข้อมูลบ่งชี้ว่า นักลงทุนในเอเชีย รวมถึงประเทศไทย มุ่งความสนใจไปที่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำมากขึ้นในสภาวะเศรษฐกิจที่ผันผวนดังเช่นปัจจุบัน ทั้งนี้ 51% ของนักลงทุนไทย สนใจการลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ ขณะที่ 20% สนใจการลงทุนที่มีความเสี่ยงปานกลาง และมีเพียง 5% เท่านั้น ที่สนใจการลงทุนที่มีความเสี่ยงสูง - 29% ของนักลงทุนไทย ชี้ว่า ตนตั้งใจจะถือการลงทุนประเภทเงินสด/เงินออม อย่างต่อเนื่องในไตรมาส 4 ปี 2551 เทียบกับ 19% ที่มีความตั้งใจดังกล่าว ในไตรมาส 3 ปี 2551 - 19% ตั้งใจจะถือการลงทุนประเภทการซื้อขายหุ้นในประเทศ ในไตรมาส 4 ปี 2551 เทียบกับ 27% ในไตรมาส 3 ปี 2551 - 3% ตั้งใจจะถือการลงทุนประเภทการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ ในไตรมาส 4 ปี 2551 เทียบกับ 1% ในไตรมาส 3 ปี 2551 - 43% ตั้งใจจะถือการลงทุนประเภททรัพยากรโลก ในไตรมาส 4 ปี 2551 เทียบกับ 39% ในไตรมาส 3 ปี 2551 นอกจากนี้ นักลงทุนไทย ยังคงมีทัศนคติค่อนข้างบวกต่อราคาอสังหาริมทรัพย์ประเภทที่พักอาศัย โดยมีเพียง 23% ของนักลงทุนภายใต้การสำรวจ ที่คาดการณ์ว่าสถานการณ์จะแย่ลงในไตรมาส 4 ปี 2551 “เห็นได้ชัดเจนว่า นักลงทุนไทยยังคงได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลก และภาวะความไม่สงบทางการเมือง เราสนับสนุนให้นักลงทุนมีเป้าหมายการลงทุนในระยะยาว และคาดการณ์ว่านักลงทุนไทยจะยังคงมีรูปแบบการลงทุนประเภทที่มีความเสี่ยงต่ำ และเลี่ยงการลงทุนประเภทที่มีความเสี่ยงและผลตอบแทนสูง เรามุ่งมั่นที่จะรองรับความต้องการของนักลงทุนไทย โดยได้เปิดกองทุนใหม่ มีชื่อว่า กองทุนเปิด ไอเอ็นจี ไทย เทรเชอรี่ ฟันด์ (ING Thai Treasury Fund) ซึ่งเน้นตอบสนองความต้องการที่เพิ่มขึ้นของกลุ่มนักลงทุนไทย ที่มองหาผลตอบแทนจากการลงทุนในพันธบัตรระยะสั้นของรัฐบาล” นายมาริษ ท่าราบ กล่าว การจัดอันดับประจำไตรมาส3ปี 2551 ประเทศ ดัชนีไตรมาส3 ดัชนีไตรมาส2 ดัชนีไตรมาส 1 ดัชนีไตรมาส 4 ดัชนีไตรมาส 3 ปี 2551 ปี2551 ปี2551 ปี 2550 ปี 2550 1 อินเดีย 156 163 168 167 168 2 ฟิลิปปินส์ 138 110 121 153 148 3 อินโดนีเซีย 123 108 131 136 133 4 นิวซีแลนด์ 96 98 90 118 114 5 ออสเตรเลีย 95 105 89 131 125 6 ประเทศจีน 88 117 136 132 164 7 มาเลเซีย 87 82 128 124 148 8 ประเทศไทย 84 81 131 134 129 9 ฮ่องกง 79 123 107 148 141 10 สิงคโปร์ 71 90 88 136 141 11 เกาหลี 65 87 96 113 137 11 ไต้หวัน 65 109 105 83 134 13 ญี่ปุ่น 53 73 60 71 89 สำหรับข้อมูลดัชนีความเชื่อมั่นนักลงทุนของไอเอ็นจี กรุ๊ป สามารถดาวน์โหลดได้ที่ http://www.ing.asia/investor_dashboard ข้อมูลเพิ่มเติม การสำรวจของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด มีขึ้นเพื่อประเมินทัศนคติและพฤติกรรมการลงทุนของนักลงทุนในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก 13 ประเทศ ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน ไทย ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ เป็นประจำทุกไตรมาส โดยในแต่ละตลาดที่ทำการสำรวจจะแบ่งเกณฑ์ค่าดัชนีไปตั้งแต่ 0 (ต่ำที่สุด) จนถึง 200 (ดีที่สุด) การสำรวจดังกล่าว เป็นการสำรวจรายไตรมาสรายแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ซึ่งแสดงถึงความเชื่อมั่นด้านการลงทุนในเขตภูมิภาคดังกล่าว (ไม่รวมญี่ปุ่น) โดยได้นำดัชนีความเชื่อมั่นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกมาปรับเป็นส่วนหนึ่งของการสำรวจในแต่ละไตรมาสด้วยดัชนีความเชื่อมั่นการลงทุนในภูมิภาคดังกล่าวมาจากค่ากลางของฐานใน 10 ตลาดในภูมิภาคเอเชีย ได้แก่ จีน ฮ่องกง อินเดีย อินโดนีเซีย เกาหลี มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไต้หวัน และไทย (ไม่รวมญี่ปุ่น ออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์) ไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ แดชบอร์ด ถือกำเนิดขึ้นในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิกภายหลังความสำเร็จของไอเอ็นจี อินเวสเตอร์ บาโรมิเตอร์ในยุโรป ซึ่งตีพิมพ์เป็นประจำในประเทศเนเธอร์แลนด์และเบลเยี่ยมเพื่อประเมินความเชื่อมั่นของนักลงทุนรายย่อย และนับเป็นตัวชี้วัดความคิดเห็นของนักลงทุนรายย่อยที่น่าเชื่อถือ ที่นักลงทุนรายสำคัญในแวดวงการเงินในยุโรปให้การติดตามอย่างใกล้ชิด สำหรับการสำรวจไตรมาส 3 ปี 2550 ไตรมาส 4 ปี 2550 ไตรมาส 1 ปี 2551 และไตรมาส 2 ปี 2551 ทำขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2550 เดือนธันวาคม ปี 2550 เดือนมีนาคม 2551 และเดือนมิถุนายน 2551 ตามลำดับ สำหรับการสำรวจประจำไตรมาส 3 ปี 2551 ดำเนินการเมื่อเดือนกันยายน ปี 2551 โดยการสัมภาษณ์โดยตรงและออนไลน์จากกลุ่มตัวอย่างนักลงทุนรายใหญ่ทั่วภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก 13 ประเทศ จำนวนทั้งสิ้น 1,307 คน กลุ่มตัวอย่างมีอายุ 30 ปีหรือสูงกว่า มีสินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า ยกเว้น อินโดนีเซีย (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 56,000 เหรียญสหรัฐ หรือมากกว่านั้น) และฟิลิปปินส์ (สินทรัพย์สุทธิหรือเงินลงทุนรวม 100,000 เหรียญสหรัฐหรือรายได้ต่อเดือน 250,000 เปโซ หรือมากกว่านั้น) โดยผลสำรวจจัดทำโดยบริษัทวิจัยอิสระ ทีเอ็นเอส (TNS) เกี่ยวกับไอเอ็นจี กรุ๊ปไอเอ็นจี เป็นสถาบันการเงินระดับโลกสัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่บริการจัดการด้านการธนาคาร กรมธรรม์ และสินทรัพย์ ให้แก่ลูกค้ารายบุคคล องค์กร และสถาบันจำนวนกว่า 85 ล้านรายในกว่า 50 ประเทศ ด้วยบุคลากรที่หลากหลายราว 130,000 คนและกลุ่มบริษัทที่โดดเด่นในเครือทำให้ไอเอ็นจีสามารถให้บริการลูกค้าภายใต้แบรนด์ไอเอ็นจีได้ครอบคลุมมากขึ้น เกี่ยวกับทีเอ็นเอสทีเอ็นเอส เป็นบริษัทผู้ให้บริการงานวิจัยและการวิเคราะห์ที่มีแบบแผนชั้นยอดของโลก จากผสมผสานกับความเข้าใจเบื้องลึกในอุตสาหกรรม โดยมีผู้เชี่ยวชาญระดับโลกด้านการซื้อขายแบบเจาะลึก การจัดการผู้ประกอบการ การพัฒนาสินค้าใหม่ แบรนด์ และการสื่อสาร ทั้งนี้ ทีเอ็นเอสเป็นคู่ค้าที่สามารถสนองความต้องการของลูกค้า โดยสามารถจัดสรรข้อมูลชั้นเยี่ยม การวิเคราะห์และการประเมินสถานการณ์ล่วงหน้าผ่านเครือข่ายกว่า 70 ประเทศ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ สุภาวดี / สาธิดา อาซิแอม เบอร์สัน — มาร์สเตลเลอร์ โทร. 02-252-9871 จุมพล สายมาลา บลจ. ไอเอ็นจี (ประเทศไทย) จำกัด โทร. 02-688-7780

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ