ไทย-ญี่ปุ่น ร่วมมือวิเคราะห์ยีนเครียดเหยื่อสึนามิ

ข่าวเทคโนโลยี Wednesday December 27, 2006 15:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--27 ธ.ค.--กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์
ญี่ปุ่นทึ่งไทย สามารถเก็บกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยโรคเครียดจากเหตุสึนามิได้ในปริมาณมากที่สุดในโลก เตรียมปันห้องแล็ป-เทคโนโลยีให้นักวิจัยไทย วิเคราะห์กลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยว่าเกิดจากพันธุกรรมหรือไม่ คาด ไม่เกิน 6-12 เดือน เห็นผล “ซีอีโอ TCELS” ยันไทยเป็นเจ้าของข้อมูลไม่เสียดุลยุ่นแน่
น.พ.ธงชัย ทวิชาชาติ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (TCELS) กล่าว ว่า การเดินทางมาประเทศไทยของ ศ.ดร.ยูซุเกะ นากามูระ ผู้เชี่ยวชาญด้านเภสัชพันธุศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์พันธุกรรมมนุษย์ นอกจากจะบรรยายให้กับกลุ่มแพทย์ นักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยทั่วไปได้ฟังเพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของพันธุกรรมที่เกี่ยวกับการเกิดโรคและการตอบสนองของยาแล้ว เขายังได้เข้าเยี่ยมชม ห้องแล็ปของสถาบันราชานุกูล เพื่อดูการเก็บกลุ่มตัวอย่างผู้ป่วยจากโรคเครียดจากเหตุการณ์สึนามิ หรือ PTSD (Post Traumatic Stress Disorder) ซึ่งเป็นโรคที่ญี่ปุ่นไม่เคยศึกษาในเรื่องของยีนมาก่อน จึงให้ความสนใจเป็นพิเศษ และเห็นว่าเป็นเรื่องที่เป็นประโยชน์ต่อชาวโลกในอนาคต จึงยินดีให้ความร่วมมือเพื่อหาคำตอบว่ายีนมีส่วนเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคดังกล่าวหรือไม่
“เราจะส่งนักวิจัยจาก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และจากสถาบันราชานุกูล กรมสุขภาพจิต ไปทำการ Whole Genome Scan เพื่อวิเคราะห์ตัวอย่างเลือดของกลุ่มตัวอย่าง 3,000 ตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งผู้ป่วย PTSD และญาติ ว่าจะมีความสัมพันธ์กันหรือไม่เพียงใด และขอยืนยันว่า การที่เราเลือกญี่ปุ่นเพราะเขามีห้องแล็ปและอุปกรณ์ที่ทันสมัย สามารถวิเคราะห์ผลได้รวดเร็ว และข้อมูลทั้งหมดยังเป็นของคนไทย ไม่ใช่ของญี่ปุ่น แต่ผลที่ออกมา จะเป็นประโยชน์ต่อคนทั้งโลก ซึ่งถือเป็นผลงานชิ้นสำคัญในโอกาสครบรอบ 2 ปี เกิดเหตุการณ์สึนามิ” น.พ.ธงชัย กล่าว
ศ.ดร.ยูซุเกะ กล่าวว่า ญี่ปุ่นเองแม้จะเคยประสบเหตุการณ์ภัยพิบัติหลายครั้ง แต่ไม่รุนแรงเท่าเหตุการณ์สึนามิที่เกิดขึ้นกับประเทศไทย ซึ่งนับเป็นโอกาสที่ดีที่สามารถเก็บกลุ่มตัวอย่างเลือดของผู้ป่วยพีทีเอสดีและเครือญาติ ในปริมาณที่เพียงพอต่อการวิเคราะห์ และยืนยันผลว่ายีนมีผลต่อการเกิดโรคนี้หรือไม่ ขณะนี้ทั่วโลกยังไม่มีการวิเคราะห์โดยตรง ซึ่งหากประเทศไทยทำได้ นอกจากจะเป็นความสำเร็จของชาวเอเชียแล้ว ยังถือเป็นผลสำเร็จของคนทั่วโลกด้วย เพราะสามารถคิดค้นพัฒนายาให้เหมาะสมกับโรคต่อไป
สามารถคลิกดูภาพประกอบได้ที่ www.thaipr.net

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ