จิตแพทย์ชี้ปัญหาสุขภาพจิตปี 2552 น่าเป็นห่วง เนื่องจากแนวโน้มยาเสพติดกลับมาระบาดอีกครั้ง เตือนระวัง 7 สัญญาณอันตรายทำให้ยาเสพติดระบาดทวีความรุนแรง วอนทุกฝ่ายช่วยกันแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

ข่าวทั่วไป Friday November 21, 2008 10:39 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 พ.ย.--มายแบรนด์ เอเจนซี่ นพ.วศิน บำรุงชีพ จิตแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านสุราและยาเสพติด โรงพยาบาลมนารมย์ เปิดเผยว่า สุขภาพจิตของคนไทยในปี พ.ศ.2552 มีแนวโน้มจะแย่ลง เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ยังไม่แน่นอน บวกกับสภาพเศรษฐกิจที่เข้าขั้นวิกฤติส่งผลทำให้คนไทยป่วยเป็นโรคเครียด ซึมเศร้า วิตกกังวล มีอารมณ์สองขั้วหรือที่เรียกว่าโรคแพนิค และที่น่าเป็นห่วงมากในขณะนี้สังคมกำลังให้ความสนใจกับเรื่องการเมือง เศรษฐกิจ มากกว่าปัญหาอื่นๆ ทำให้ปัญหายาเสพติดกลับสูงขึ้น ซึ่งจากข้อมูลการรักษาพบว่าผู้ที่ติดก็มักจะมีอาการป่วยทางจิตร่วมด้วย เนื่องจากในยาเสพติดมีสารกระตุ้นที่ออกฤทธิ์ต่อระบบประสาท ทำให้เกิดภาพหลอน หวาดกลัวและหวาดระแวงอยู่ตลอดเวลา และนานเข้าก็จะทำให้ป่วยเป็นโรคเกี่ยวกับสุขภาพจิตได้ นพ.วศิน กล่าวต่อว่า แนวโน้มที่ยาเสพติดจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆและทวีความรุนแรงขึ้นเนื่องจากมีสัญญาณอันตรายเตือน 7 สัญญาณ ดังนี้ คือ (1.) เพราะสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ คนว่างงานไม่มีอาชีพ ทำให้หันมาขายยาเสพติดเช่นยาบ้า (2.) เนื่องจากว่ายาเสพติดมีราคาถูกลง และสามารถหาซื้อได้ง่าย โดยเฉพาะยาบ้าที่ปัจจุบันคนมีเงินแค่ 100 บาทก็สามารถซื้อได้แล้ว (3.) สังคมวัยรุ่นและคนในยุคปัจจุบันมีทัศนคติเกี่ยวกับยาเสพติดมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา เพราะถ้าหากมีเพื่อนหรือคนรู้จักติดยาเสพติดก็ยังคบเป็นเพื่อนกันได้ ซึ่งแตกต่างจากในอดีตที่ใครติดยาเสพติดจะไม่มีใครคบ (4.) ด้วยการตลาดที่แยบยลของกลุ่มผู้ค้า จึงโฆษณาเชิญชวนให้เกิดความอยากรู้อยากลอง ซึ่งอาจจะมีศัพท์เรียกกันไปเพื่อดึงดูดใจ (5.) สภาพสังคมกับสถาบันครอบครัวเกี่ยวกับการเลี้ยงดูที่พ่อแม่ไม่มีเวลาดูแลลูก ซึ่งจะต้องให้ความรู้พ่อแม่ใหม่เกี่ยวกับการเลี้ยงลูก เพราะเลี้ยงผิดวิธี ทำให้เด็กมีการควบคุมตนเองไม่ค่อยดีตามมา (6.) เนื่องจากผลของการเลี้ยงดูที่ผิดจึงทำให้เด็กและเยาวชนมีการควบคุมตนเองได้ไม่ดี (self control) และก่อให้เกิดการอยากรู้อยากลอง หรืออดทนรอคอยไม่เป็น ก็อาจทำให้เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดได้ง่าย (7.) การปราบปรามที่ไม่ต่อเนื่อง เกิดการเปลี่ยนแปลงทางการเมืองบ่อย ทำให้นโยบายการปราบปรามไม่ต่อเนื่อง ยาเสพติดจึงกลับมาระบาดได้ง่าย “ที่น่าห่วงมากๆ ก็คือเรื่องของทัศนคติที่เด็กในปัจจุบันมีทัศนคติเกี่ยวกับยาเสพติดที่มองว่าเป็นเรื่องธรรมดา ไม่เห็นมีอะไรน่ากลัว ในขณะที่คนรุ่นก่อนๆ จะมองว่าคนที่ติดยาอย่าไปยุ่งหรือคบด้วย แต่ปัจจุบัน กลับเห็นว่าคนติดยาก็ติดไป คบได้ เช่น แฟนติดยา แต่ก็ยังคบ เพราะตัวเองไม่ได้ติด เรื่องแบบนี้มันเป็นเรื่องของทัศนคติ ที่เห็นว่าการใช้ยาไม่ได้เป็นเรื่องรุนแรงหรือน่ารังเกียจ ซึ่งถ้าหากสังคมเป็นแบบนี้นานไปก็จะทำให้แก้ไขได้ยากทั้งๆที่ยังมีปัญหารุนแรง และที่น่าเป็นห่วงอีกประการหนึ่งก็คือ การมองว่ายาเสพติดไม่ได้ร้ายแรงอย่างที่คิด เพราะเมื่อทดลองแล้วไม่มีอะไรเกิดขึ้นก็อาจจะทำให้ภาพความน่ากลัวของยาเสพติดลดลงไป อีกทั้งสารเสพติดช่วงหลังๆ เวลาเลิกแล้วไม่ค่อยจะมีอาการถอนยาอย่างรุนแรงเหมือนในอดีตที่เรียกว่า ลงแดง ยาเสพติดปัจจุบันใช้เวลา นอนพัก 2-3 วัน ก็ไม่ทุรนทุราย ซึ่งเขาไม่รู้ว่าร่างกายจะต้องได้รับอันตรายมากเพียงใดจากการใช้ยา ตรงจุดนี้เองทำให้เด็กและวัยรุ่นในปัจจุบันติดยาเสพติดได้ง่ายขึ้น และที่น่ากลัวมากอีกสิ่งหนึ่งก็คือเรื่องของแผนการตลาดที่มักหลอกล่อทำให้เด็กอยากลอง” นพ.วศิน กล่าว พัฒนาการการติดยาเสพติดสามารถแบ่งออกได้ 5 ระดับ เพื่อให้เหมาะกับการรักษา ดังนี้ ระดับ 0 กลุ่มนี้จะรู้หมดว่าใครขาย ใครใช้ยา เป็นกลุ่มที่มองเห็นโทษแต่ไม่ทดลองใช้ ใครที่มีลูกหลานเข้าข่ายก็เริ่มไม่ค่อยจะดี เพราะความที่อยากรู้อยากเห็นว่าเพื่อนคนไหนใช้ยา เสพยา สถานที่ไหนบ้าง แบบนี้เมื่อคลุกคลีไปนานๆ ก็อาจจะริทดลองได้ ในกลุ่มนี้สำคัญมากพ่อแม่ควรจะให้ความรู้ และปลูกฝังถึงโทษยาเสพติดว่าไม่ควรลอง ระดับ 1 เป็นระดับที่เริ่มมีการทดลองใช้ มีความถี่ในการใช้เพิ่มมากขึ้น เช่นปิดเทอมครั้งหรือ ปาร์ตี้ เดือนละครั้ง ทดลองบ้าง แต่ไม่บ่อย ในกลุ่มนี้จะมีคนจัดหายามาให้ในแต่ละงานปาร์ตี้ เด็กก็จะทดลองดื่มแอลกอฮอลก่อน ดึกๆ เข้าก็เริ่มมีคนเอากัญชา ยาบ้ามาให้ทดลอง คนที่อยู่ในกลุ่มนี้จะมีความคิดและรู้สึกว่า นานๆ ลองครั้งเดียวไม่เป็นไรหรอก หรืออาจจะลองบ้างแต่ไม่บ่อย ผู้ปกครองต้องปรับทัศนคติ ต้องย้ำ และต้องมีส่วนช่วยในการป้องกัน โดยพาเข้ากลุ่มทำกิจกรรม ออกกำลังกายร่วมกับครอบครัว จะแป็นการช่วยปรับเรื่องของระเบียบวินัยให้กับเด็กไปด้วย ระดับ 2 เริ่มใช้ถี่ขึ้น เกือบทุกสัปดาห์ ส่วนมากเป็นช่วงวัยรุ่นตอนปลาย กลุ่มนี้จะเริ่มติดมากขึ้น โดยจะใช้สารเสพติดในวันศุกร์และวันเสาร์ ส่วนวันอาทิตย์จะนอนพักผ่อน เพื่อที่ว่าวันจันทร์จะได้มีแรงไปเรียน และอีกไม่นานก็จะเริ่มเข้ากลุ่ม3 ระดับ 3 ความถี่ในการใช้สารเสพติดมีบ่อยขึ้น จากเดิมที่ใช้แค่ศุกร์เสาร์ พอบ่อยขึ้น ก็เริ่มจะใช้ในวันอาทิตย์และจันทร์ เพราะต้องการที่จะมีเรี่ยวแรงไปเรียนหนังสือ โดยจะเริ่มรู้สึกสนุก และติดกับสารเสพติด นานเข้าจะเริ่มรู้ว่าขาดไม่ได้ ก็เลยต้องใช้ประจำ ถ้าหากหยุดก็จะเริ่มง่วงทันที ระดับ 4 เป็นระดับที่ติดงอมแงม ไม่ได้รู้สึกสนุกแล้ว หงุดหงิดหากไม่ได้ใช้ หากหยุดก็จะมีอาการกระวนกระวาย และอยากใช้ตลอด วอนทุกฝ่ายเร่งป้องกัน จะเห็นว่าปัญหาจะมีแนวโน้มรุนแรงเพิ่มขึ้นส่งผลกระทบต่อสุขภาพจิตหากยังไม่เร่งแก้ไข ก็จะทำให้ปัญหาบานปลาย ซึ่งสำหรับแนวทางในการป้องกันและแก้ไขนั้นคงต้องเริ่มกันตั้งแต่เนิ่นๆ โดย นพ.วศิน แนะนำว่า 1. พ่อแม่ควรจะปลูกฝังและสร้างทัศนคติใหม่เกี่ยวกับยาเสพติดว่าเป็นเรื่องไม่ดี ไม่ควรเข้าใกล้ หากมีเพื่อนก็อย่าไปอยู่ใกล้ 2. ควรสอนลูกว่าเวลามีคนเอายาเสพติดมาให้ลอง ต้องคิดเสมอว่าเขาไม่หวังดีกับเรา สอนลูกให้รู้จักการปฏิเสธ ใครเอาอะไรมาให้ทดลองก็ต้องปฏิเสธไป ต้องไม่อยากรู้อยากลอง 3. ควรมีเวลาดูแลลูกอย่างใกล้ชิด หมั่นทำกิจกรรมร่วมกันในครอบครัว เช่น เล่นกีฬา เพราะสภาพสังคมปัจจุบันที่บีบบังคับให้ครอบครัวต้องทำงาน พ่อแม่ไม่มีเวลาอยู่กับลูก ปล่อยให้ลูกเรียนรู้เอง ก็อาจทำให้เกิดการลองผิดลองถูก เพราะไม่มีใครคอยชี้แนะ 4. เฝ้าระวังคอยสอดส่องดูพฤติกรรมของลูกว่าผิดปกติหรือไม่ เช่น ออกจากบ้านไป 2-3 วันแล้วกลับมา หรือไม่ก็ควรเก็บปัสสาวะของลูกไว้เพื่อตรวจหาสารเสพติดในเช้าวันศุกร์และวันจันทร์ ควรจะพูดคุย ปรับความเข้าใจกันว่าการตรวจปัสสาวะไม่ได้เป็นการจับผิด แต่เป็นการแสดงความบริสุทธิ์ใจ ยาเสพติดทำลายประสาท ไม่เร่งรักษา อาจเข้าสู่ภาวะจิตใจล้มละลาย สำหรับผู้ที่ติดสารเสพติด หรือใครที่มีเพื่อน ญาติ หรือคนใกล้ชิด ควรตื่นตัวที่จะพาไปรับการบำบัดและรักษา เพราะว่าสารเสพติดจะไปทำลายระบบประสาท และการทำงานของสมอง หากมีปริมาณสารเสพติดที่มากเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ก็อาจจะทำให้เข้าสู่ “ภาวะจิตใจล้มละลาย” ได้ ซึ่งก็มีอาการประสาทหลอน หวาดระแวง หูแว่ว หรือคลุ้มคลั่ง จนสร้างความเดือดร้อนให้แก่ผู้อื่น หากเป็นเช่นนั้นควรจะต้องเร่งหาทางรักษาและบำบัดก่อนที่จะกลายเป็นปัญหาลุกลาม นพ.วศิน ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการรักษาว่า สำหรับการรักษาผู้ที่ติดสารเสพติดในระดับที่ 1 และ 2 นั้น นับเป็นระดับต้นๆ ไม่ค่อยรุนแรงมากนัก สามารถเลิกได้เองโดยการควบคุมตนเอง หักห้ามใจไม่ให้ทดลอง ซึ่งผู้ปกครองจะต้องดูแลอย่างใกล้ชิด พาไปออกกำลังกาย หากิจกรรมทำร่วมกัน และต้องหมั่นเก็บปัสสาวะของลูกไปตรวจหาสารเสพติด ทำเป็นประจำ เพื่อฝึกวินัยให้แก่ลูก พร้อมทั้งจะช่วยฝึกการควบคุมตนเองอีกด้วย แต่ถ้าหากผู้ป่วยที่ไม่สามารถหยุดยาเสพติดเอง หรือติดยาเสพติดและสำหรับคนที่ติดยาเสพติดในระดับที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นระดับที่รุนแรงไม่สามารถเลิกได้เองควรที่จะมาพบจิตแพทย์ เพื่อทำการรักษาและบำบัดโดยการให้ยาที่จะช่วยลดอาการถอนยาหรือกระวนกระวายทางด้านจิตใจ หลังจากนั้นก็จะเป็นการฟื้นฟูจิตใจ ซึ่งต้องมาคุยกันในระยะยาว และต้องเปลี่ยนความเคยชิน โดยจะใช้วิธีการทำกิจกรรมบำบัด โดยการออกกำลังกายทุกเช้าเย็น งดการเที่ยวผับ บาร์ ทำจนเป็นนิสัย เรียกได้ว่าต้องปรับเปลี่ยนชีวิตใหม่ “เพราะยาเสพติดเลิกได้ แต่ลืมไม่ลง” ดังนั้นจะต้องเลิกใช้รูปแบบการดำเนินชีวิตแบบเดิม เพื่อที่จะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยวกับยาเสพติดอีก โรงพยาบาลมนารมย์เปิดทีมแพทย์พร้อมให้การรักษา โรงพยาบาลมนารมย์เป็นโรงพยาบาลเอกชนที่ให้บริการสุขภาพจิตแนวใหม่ที่เน้นทั้งการป้องกัน และรักษา โดยมีทีมจิตแพทย์และพยาบาล พร้อมทั้งการบริการอย่างครบถ้วน ทั้งให้คำปรึกษา การดูแลผู้ป่วยใน ผู้ป่วยนอก รวมถึงการจัดสัมมนาให้ความรู้ด้านสุขภาพจิตที่ดี โดยโรงพยาบาลมีความมุ่งมั่นในการเป็นส่วนหนึ่งในการสร้างคนไทยให้มีพลังใจที่ดี และมีสุขภาพกายใจที่แข็งแรง และมองเห็นถึงความน่ากลัวและความสำคัญของปัญหายาเสพติด โดยเตรียมทีมจิตแพทย์และบุคลากรผู้เชี่ยวชาญไว้คอยรองรับให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยาเสพติด นำโดย นพ.วศิน บำรุงชีพ นพ.พลังสันต์ จงรักษ์ นพ.พิชัย แสงชาญชัย นพ.อิศรา รักษ์กุล นพ.กัมปนาท ตันสิถบุตรกุล นพ.จอม ชุมช่วย และ พญ.ระพีพรรณ แสงโสมวงศ์ สำหรับผู้ที่ต้องการรับคำแนะนำและขอคำปรึกษาเกี่ยวกับการเลิกยาเสพติดสามารถติดต่อแพทย์และบุคลากรของโรงพยาบาลเพื่อนัดหมายได้ที่ เบอร์โทร 02-725-9595 หรือ www.manarom.com มายแบรนด์ เอเจนซี่ เบอร์โทรศัพท์ : 028643900

แท็ก ยาเสพติด  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ