หนึ่งเสียงหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง

ข่าวทั่วไป Monday December 1, 2008 15:40 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--1 ธ.ค.--สสส. “หนึ่งเสียงหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง” ชื่อภาพยนตร์โฆษณา - “ตลาด” และ “รถเมล์” เอเจนซี่ - Matching Client — สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) นำเสนอ โฆษณารณรงค์ “หนึ่งเสียงหยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง” ได้รับพระกรุณาธิคุณจาก พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา ในฐานะ ทูตสันถวไมตรีของกองทุนพัฒนาเพื่อสตรีแห่งสหประชาชาติ (UNIFEM) ร่วมเชิญชวน ไม่เพิกเฉย ต่อความรุนแรงกับผู้หญิง โฆษณาชิ้นนี้นับว่าโดดเด่นในหลายแง่มุม นับตั้งแต่วิธีการหาไอเดีย ซึ่งนับว่าเป็นพระกรุณาธิคุณที่พระเจ้าหลานเธอ พระองค์เจ้าพัชรกิติยาภาทรงมีส่วนร่วมตั้งแต่การหาวิธีเล่าเรื่อง และการเลือกเนื้อเรื่องของความรุนแรงต่อผู้หญิงที่เหมาะสม โดยท้ายที่สุดมาลงตัวที่การนำเสนอ 2 สถานการณ์ที่ทุกคนสามารถพบเจอความรุนแรงได้ง่าย โดย โฆษณาชุด “ตลาด” นั้น เป็นสถานการณ์ที่นำเสนอรูปแบบของความรุนแรงในครอบครัวผ่านตัวละครระหว่างสามี-ภรรยาที่ทะเลาะและมีปากเสียงกัน ซึ่งเมื่อเรื่องดำเนินมาถึงจุดหนึ่ง โฆษณาจะสร้างทางเลือกออกมาเป็น 2 ทางเลือก นั่นคือ ถ้าคุณพบเจอความรุนแรงต่อผู้หญิง คุณเลือกที่จะ “อยู่เฉยๆ”หรือ “เข้าไปช่วย” ซึ่งก็จะมีโฆษณาอีก 2 ชุด ที่นำเสนอว่าถ้าคุณเลือกที่จะ “อยู่เฉยๆ” ผู้หญิงคนนั้นก็จะพบจุดจบอีกแบบ และในขณะเดียวกันหากคุณเลือกที่จะ “เข้าไปช่วย” ผู้หญิงคนนั้นอาจมีจุดจบของเรื่องที่เป็นไปในอีกแบบ สำหรับ “รถเมล์” อีกหนึ่งชุดโฆษณาที่เรียกได้ว่ากระตุกต่อมความเพิกเฉยได้ไม่แพ้โฆษณาชุด “ตลาด” นับได้ว่าเป็นสถานการณ์ที่นำเสนอถึงการถูกคุมคามทางเพศ อันรวมไปถึงการลวนลามต่างๆซึ่งเป็นอีกหนึ่งรูบแบบความรุนแรงต่อผู้หญิง โฆษณานำเสนอเรื่องราวของนักศึกษาหญิงที่ถูกชายฉกรรจ์ 3 คนลวนลามทั้งทางคำพูดและการกระทำบนรถเมล์ โดยนำเสนอ 2 ทางเลือก นั่นคือ การนิ่งเฉย หรือการเข้าไปช่วยเมื่อพบเจอเหตุการณ์ ซึ่งถ้าทุกคนบนรถเมล์เลือกที่ เข้าไปช่วย ผู้หญิงคนหนึ่งก็จะรอดพ้นต่อการถูกคุกคาม แต่หากทุกคนเลือกที่จะเพิกเฉย ผู้หญิงอาจพบจุดจบนั่นคืออาจถูกข่มขืนหรือทำร้ายร่างกาย วิธีการนำเสนอนั้นเป็นการใช้ การถ่ายแบบเสมือนจริง ทำให้ผู้ชมรู้สึกราวกับว่าเป็นผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์และทำให้ผู้ชมคิดต่อว่าถ้าหาก ตนเองอยู่ในสถานการณ์ที่พบเจอกับความรุนแรงต่อผู้หญิง แล้วจะเลือกที่จะทำอย่างไร ท้ายสุด โฆษณาปิดท้ายด้วยการกล่าวเชิญชวน รณรงค์ “หยุดความรุนแรงต่อผู้หญิง” โดย พระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และภาพสัญลักษณ์ นกหวีดไขว้ อันแสดงถึงความไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงต่อผู้หญิงในทุกรูบแบบ นับว่าเป็นครั้งแรกในการทรงมีบทบาทในภาพยนตร์โฆษณาของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิติยาภา และเป็นปรากฏการณ์ที่เราทุกคนต้องไม่เพิกเฉยต่อความรุนแรงอีกต่อไป สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อ คิธธ์ วงศ์อาษา แผนงานสื่อสารการตลาดเพื่อสังคม สำนังานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โทร 02-298-0222 ต่อ 512

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ