บทความ เรื่อง ปรากฏการณ์ดวงจันทร์ยิ้ม ส่งความสุขคนไทยก่อนปีใหม่ ฝึกเยาวชนมองดวงจันทร์อย่างมีความหมาย ....จากจันทร์ยิ้มสู่ห้องเรียนดวงดาว

ข่าวทั่วไป Thursday December 4, 2008 16:58 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ธ.ค.--สสวท. ส่วนประชาสัมพันธ์ สสวท. คนไทยทั่วประเทศมีความสุขที่ได้เห็น “จันทร์ยิ้ม” ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ในเวลาหัวค่ำของวันที่ 1 ธันวาคม 2551 คำถูกต้องที่ใช้เรียกปรากฏการณ์นี้คือ “การร่วมทิศของดวงจันทร์กับดาวเคราะห์” หรือ ชาวบ้านเรียกว่า “ดาวเคียงเดือน” ดวงจันทร์ข้างขึ้น 4 ค่ำ อยู่ไปทางเดียวกันกับดาวศุกร์กับดาวพฤหัสบดี จนทำให้เห็นดวงจันทร์เป็นริมฝีปากของคนกำลังยิ้ม โดยมีดาวศุกร์เป็นตาซ้ายที่สว่างกว่าดาวพฤหัสบดีที่เป็นตาขวา อาจารย์นิพนธ์ ทรายเพชร ราชบัณฑิตทางด้านดาราศาสตร์ และผู้เชี่ยวชาญด้านดาราศาสตร์ของสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) อธิบายว่า สาเหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะ ดวงจันทร์ ดาวศุกร์ และดาวพฤหัสบดี ต่างอยู่ห่างไปทางตะวันออกของดวงอาทิตย์เกือบเท่ากัน โดยดาวพฤหัสบดี ดาวศุกร์ ดวงจันทร์ อยู่ห่างไปทางตะวันออกของดวงอาทิตย์ 42-44 องศาหาก สังเกตดวงจันทร์นานๆ จะเห็นริ้วรอยตรงส่วนมืด เพราะโลกสะท้อนแสงอาทิตย์ไปยังดวงจันทร์ แล้วดวงจันทร์สะท้อนแสงกลับมายังโลกอีกครั้งหนึ่ง เรียกว่า แสงโลก (Earth shine)หากถ่ายรูปดวงจันทร์ข้างขึ้นน้อยๆ หรือดวงจันทร์ข้างแรมมากๆ ผ่านกล้องโทรทรรศน์ จะเห็นแสงโลกบนดวงจันทร์อย่างชัดเจน ดวงจันทร์เคลื่อนรอบโลกจากตะวันตกไปตะวันออกรอบละ 1 เดือน ดวงจันทร์จึงมีโอกาสผ่านใกล้ดาวเคราะห์แต่ละดวง เดือนละครั้ง บางโอกาสจะเห็นดวงจันทร์บังดาวเคราะห์ได้ด้วย ส่วนดาวศุกร์ปรากฏเป็นดาวประจำเมืองอยู่ใกล้ดาวพฤหัสบดีในระยะนี้ แต่ในวันที่ 23 เมษายน 2552 เวลา 5.10 น. ดาวศุกร์จะเป็นดาวรุ่ง อยู่ใกล้ดาวอังคาร และดวงจันทร์ เสี้ยวข้างแรมแก่ๆ อยู่ด้านล่าง ดูเป็นรูปคนยิ้ม เหมือนกันทางทิศตะวันออก โดยตาซ้ายยังเป็นดาวศุกร์ และตาขวาเป็นดาวอังคาร ในขณะที่ดาวพฤหัสบดีสว่างอยู่สูงกว่า “วันที่ 23 เมษายน 2552 เวลา 5.10 น. หากมองไปทางทิศตะวันออก จึงจะได้เห็นจันทร์ยิ้มที่มีดาวศุกร์กับดาวอังคารเป็นเหมือนดวงตาสองข้าง” ตามมาตรฐานการเรียนรู้การศึกษาขั้นพื้นฐาน สาระการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ที่ประกาศใช้โดยกระทรวงศึกษาธิการ เรื่องของดวงดาว จัดอยู่ใน “สาระที่ 7 ดาราศาสตร์และอวกาศ” ซึ่งใน“มาตรฐานการเรียนรู้ ว 7.1” มุ่งให้นักเรียนเข้าใจวิวัฒนาการของระบบสุริยะและกาแล็กซี ปฏิสัมพันธ์ภายในระบบสุริยะและผลต่อสิ่งมีชีวิตบนโลก มีกระบวนการสืบเสาะหาความรู้และจิตวิทยาศาสตร์ สื่อสารสิ่งที่เรียนรู้และนำความรู้ไปใช้ประโยชน์ อาจารย์เบ็ญจวรรณ ศรีเจริญ ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิทยาศาสตร์มัธยมศึกษา สสวท. กล่าวว่า ปรากฏการณ์ “จันทร์ยิ้ม” เป็นปรากฏการณ์ที่สดใสและเป็นที่สนใจแก่ทุกคนที่มองท้องฟ้า ดังนั้นครูวิทยาศาสตร์น่าจะใช้โอกาสนี้ ให้”จันทร์ยิ้ม” เป็นแหล่งเรียนรู้จากท้องฟ้า เพื่ออธิบายการเคลื่อนที่ของดวงดาวต่างๆในท้องฟ้า โดยเฉพาะดาวเคราะห์ (ดาวศุกร์ ดาวพฤหัสบดี) ดวงจันทร์ เนื่องด้วยดาวแต่ละดวงจะมีอัตราการเคลื่อนที่ไปทางทิศตะวันตกต่างกัน โดยดวงจันทร์เท่านั้นที่เคลื่อนที่รอบโลก ในขณะที่ดาวเคราะห์เคลื่อนที่รอบดวงอาทิตย์ โอกาสที่จะเคลื่อนที่มาพบกัน หรือร่วมทิศ จึงเป็นปรากฏการณ์นานๆ จะเกิดขึ้นสักครั้ง ดังเช่น ”จันทร์ยิ้ม” อาจารย์เบ็ญจวรรณอธิบายว่า “จากการมองจันทร์เสี้ยว เราจะเห็นแสงสว่างของจันทร์เสี้ยวที่เป็นแสงอาทิตย์ซึ่งดวงจันทร์สะท้อนมายังโลกโดยตรง ตาเราจะเห็นส่วนมืดลางๆ เพราะเป็นแสงกลางวันของโลกที่สะท้อนไปยังดวงจันทร์ และดวงจันทร์สะท้อนกลับมายังโลกอีกครั้งหนึ่ง ครูวิทยาศาสตร์สามารถนำไปอธิบายเรื่องการสะท้อนแสง ได้เป็นอย่างดี ถ้าเป็นการสะท้อนแสงจากแหล่งกำเนิดโดยตรง เช่น จากดวงอาทิตย์ ก็จะทำให้เราที่ยืนอยู่บนโลกเห็นเป็นแสงสว่าง สดใส ถ้าเป็นการสะท้อนแสง ที่ไม่ใช่จากแหล่งกำเนิดแสงโดยตรง แต่เป็นการสะท้อนแสงลำดับที่สอง หรือลำดับที่สาม เราก็จะเห็นแสงมัวหรือมืด ไม่ชัดเจน” ดร. เทพกัญญา พรหมขัติแก้ว นักวิชาการสาขาวิทยาศาสตร์ประถมศึกษา ของ สสวท. กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับนักเรียนชั้นประถมศึกษา ปรากฏการณ์จันทร์ยิ้มสามารถนำไปจัดกิจกรรมการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในเรื่องข้างขึ้น-ข้างแรมและปรากฏการณ์การขึ้นตกของดวงดาว ในช่วงชั้นที่ 2 ระดับชั้น ป.5-ป.6 ได้ โดยอาจเชื่อมโยงกับแนวคิดเรื่องการบอกวันทางจันทรคติและลักษณะของดวงจันทร์ในแต่ละวัน เช่น ตั้งคำถามกับนักเรียนว่าในวันที่เกิดปรากฏการณ์จันทร์ยิ้มเป็นวันข้างขึ้นหรือข้างแรม หรือ เป็นวันข้างขึ้นกี่ค่ำหรือข้างแรมกี่ค่ำ นักเรียนจะทราบได้อย่างไร และอาจถามต่อไปว่าหากมาดูดวงจันทร์ในวันถัดไป ตรงสถานที่และเวลาเดิม จะเห็นดวงจันทร์มีตำแหน่งและลักษณะ เหมือนกับวันที่มีจันทร์ยิ้มหรือไม่ อย่างไร หากนักเรียนพบว่าดวงจันทร์มีตำแหน่งและลักษณะที่เปลี่ยนไป ทราบหรือไม่ว่าเพราะเหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น ในเรื่องปรากฏการณ์ขึ้น-ตกของดวงจันทร์ ผู้สอนอาจถามนักเรียนว่า เหตุใดเราจึงเห็นดวงจันทร์บนท้องฟ้าได้เพียงแค่ในช่วงเวลาหนึ่ง เช่น เห็นปรากฏการณ์จันทร์ยิ้มได้ถึงเวลาประมาณ 21.00 น. ดวงจันทร์ก็ตกลับขอบฟ้าไป การขึ้น-ตกของดวงจันทร์เกิดขึ้นได้อย่างไร ในการจัดกิจกรรมการเรียนรู้เพื่อตอบคำถามเหล่านี้ ผู้สอนอาจให้นักเรียนได้ลองสร้างแบบจำลองในลักษณะต่างๆ โดยใช้อุปกรณ์ เช่น ลูกปิงปอง ไฟฉาย และลูกโลก เพื่อจำลองและอธิบายปรากฏการณ์ทั้งตามความคิดของผู้เรียนและเปรียบเทียบกับแนวคิดที่ครูนำเสนอ ซึ่งตัวอย่างของการจัดกิจกรรมผู้สอนสามารถศึกษาความรู้เพิ่มเติมได้จากเอกสารคู่มือครูและแบบเรียนของ สสวท. หรือทางเว็บไซต์ www.ipst.ac.th ปรากฏการณ์ทางดาราศาสตร์มักจะทำให้ผู้พบเห็นเกิดความประทับใจเสมอ เนื่องจากถือว่าเป็นโอกาสพิเศษที่นาน ๆ ถึงจะได้พบเห็น หากมีการสังเกตและค้นคว้าเพื่อที่จะเรียนรู้ต่อ ก็จะเป็นประโยชน์มาก “การที่ผู้คนได้เห็นจันทร์ยิ้ม นับเป็นการสังเกตที่มีประโยชน์ เพราะผู้พบเห็นจะสามารถเปรียบเทียบความแตกต่างของขนาด และตำแหน่งของดวงจันทร์กับดาวอื่น ๆ เพราะเมื่อเวลาผ่านไป 1 วัน จะเห็นทั้งตำแหน่ง และขนาดที่ปรากฏต่างกันมากขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงที่เป็นข้างขึ้น ซึ่งข้างขึ้นหมายความว่าสว่างขึ้น และถ้าหากสังเกตการเปลี่ยนแปลงตำแหน่งของดวงจันทร์แล้วจะสามารถสรุปได้ว่าดวงจันทร์เคลื่อนที่รอบโลกไปทางตะวันออก” อาจารย์นิพนธ์อธิบายต่อว่า การสังเกตดวงจันทร์ในแต่ละวัน เด็ก ๆ จะได้เรียนรู้ว่ารูปร่างของดวงจันทร์ที่ปรากฏไม่คงที่ ตำแหน่งที่ปรากฏก็ไม่เหมือนเดิม ก็จะช่วยให้เราเข้าใจปรากฏการณ์ข้างขึ้นข้างแรมได้ ซึ่งมนุษย์เราได้นำการสังเกตรูปร่างดวงจันทร์แบบนี้มาทำปฏิทินข้างขึ้นข้างแรม หรือเรียกว่า “ปฏิทินทางจันทรคติ” ปู่ย่าตาทวดเราใช้ปฏิทินตามการดูดวงจันทร์นี้มานาน รูปร่างของดวงจันทร์มีความสัมพันธ์แนบแน่นกับสังคมไทยมาเนิ่นนาน เพราะเราใช้ดวงจันทร์กำหนด “วันพระ” ซึ่งมี 4 วันคือ “วันพระใหญ่” 2 วัน ตรงกับ วันขึ้น 15 ค่ำ ดวงจันทร์เต็มดวง และวันแรม 14 ค่ำ หรือ 15 ค่ำ ซึ่งมองไม่เห็นดวงจันทร์ นับเป็นวันพระใหญ่เหมือนกัน ส่วน “วันพระเล็ก” ก็มี 2 วัน ถ้าเห็นดวงจันทร์ครึ่งดวง จะตรงกับวันขึ้น 8 ค่ำ ดวงจันทร์ขึ้นสูงสุดเป็นรูปครึ่งวงกลม หันด้านนูนไปทางตะวันตก นับเป็นวันพระเล็ก วันพระเล็กอีกวันคือแรม 8 ค่ำ เวลาเช้าตรูจะเห็นดวงจันทร์อยู่สูง เป็นรูปครึ่งวงกลม หันด้านนูนไปทางตะวันออก ดวงจันทร์มีส่วนทำให้เกิดสุริยุปราคา จันทรุปราคา และมีอิทธิพลทำให้เกิดน้ำทะเลขึ้นลง หรือ “น้ำขึ้น -น้ำลง” ชาวประมงใช้วิธีการสังเกตดวงจันทร์เป็นภูมิปัญญาพื้นบ้านสืบทอดกันมาเพื่อใช้ในการประกอบอาชีพ “ช่วงเวลาการเกิดน้ำขึ้นน้ำลงอาจดูได้จากตำแหน่งดวงจันทร์ คื อถ้าเห็นดวงจันทร์อยู่ที่ขอบฟ้าน้ำมักจะลง ถ้าเห็นดวงจันทร์อยู่สูงมาก น้ำจะขึ้น ถ้าดวงอาทิตย์มาหนุนช่วยก็จะทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงมากเป็นพิเศษ โดยเฉพาะวันขึ้นหรือแรม 15 ค่ำ หรือวันที่ใกล้เคียงกับวันพระใหญ่ น้ำทะเลจะขึ้นมาก ลงมาก เพราะดวงอาทิตย์กับดวงจันทร์อยู่ในแนวเดียวกันเรียกว่า วันน้ำเกิด แต่ถ้าเป็นวันพระเล็กน้ำขึ้นน้ำลงจะน้อย เรียกว่าวันน้ำตาย” ทั้งนี้ อาจารย์นิพนธ์บอกว่า วันเสาร์ที่ 12 ธันวาคม 2551 ซึ่งเป็นวันพระใหญ่ ดวงจันทร์จะอยู่ใกล้โลกมากที่สุดในรอบปีทำให้เกิดน้ำขึ้นน้ำลงมากกว่าวันพระใหญ่อื่น ๆ และจะเห็นดวงจันทร์ดวงใหญ่กว่าปกติ โดยเฉพาะเวลาประมาณเที่ยงคืน . ...วันนั้นใครที่อยู่ใกล้ทะเลควรลองสังเกตดู

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ