EU ชี้นโยบาย SCP กระทบอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์

ข่าวทั่วไป Monday December 8, 2008 15:34 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--8 ธ.ค.--คต. นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า คณะกรรมาธิการยุโรปได้ออกนโยบายส่งเสริมการบริโภคและการผลิตอย่างยั่งยืน หรือ SCP (Sustainable Consumption and Production) ซึ่งเป็นแผนปฏิบัติการที่มีเป้าหมายสำคัญเพื่อปรับปรุงรูปแบบการผลิตสินค้าให้รักษาสิ่งแวดล้อมและใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ และมุ่งปรับรูปแบบการบริโภคภายในสหภาพยุโรป ส่งเสริมให้ประชาชนเลือกใช้สินค้าและบริการที่รักษาสิ่งแวดล้อมและประหยัดพลังงานมากขึ้น ปรับปรุงกฎระเบียบโดยขยายข้อกำหนดการออกแบบผลิตภัณฑ์ประหยัดพลังงานจากเดิมที่มีผลบังคับกับผลิตภัณฑ์ที่ใช้พลังงาน (energy-using products) ให้ครอบคลุมถึงผลิตภัณฑ์ที่แม้จะไม่ได้ใช้พลังงานในช่วงระหว่างการใช้งานแต่มีผลทำให้ประหยัดพลังงานทุกชนิด องค์กร EUROPEN ซึ่งเป็นองค์กรที่มีสมาชิกเป็นบริษัทด้านบรรจุภัณฑ์ในยุโรป ได้ออกมาชี้ผลกระทบของนโยบายดังกล่าวต่ออุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ว่าอาจมีผลกระทบต่อ Supply chain ของอุตสาหกรรมการบรรจุภัณฑ์ ซึ่งในแผนปฏิบัติการ SCP นั้นส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ในส่วนที่จะมีผลต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภคภายในยุโรป โดยเฉพาะการปรับระเบียบ Eco-Label การออก Green Procurement และการจัดตั้ง Retail Forum โดยในแต่ละประเด็นมีส่วนที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมบรรจุภัณฑ์ และอุตสาหกรรมอื่น ดังนี้ 1. การออกข้อแนะนำการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Public Procurement — GPP) คณะกรรมาธิการยุโรปเรียกร้องให้ประเทศสมาชิกนำมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมมาเป็นเงื่อนไขในการเปิดการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐ โดยคณะกรรมาธิการยุโรปตั้งเป้าหมายว่าในปี พ.ศ.2553 การจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐจะต้องเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมร้อยละ 50 ของการจัดซื้อจัดจ้างของภาครัฐในยุโรป ใน 10 สาขาที่สำคัญ โดยจะมีหลักเกณฑ์กำหนดว่าการจัดซื้อจัดจ้างใดเข้าข่าย GPP ซึ่งครอบคลุมตลอดทั้งวงจรการผลิตสินค้า และต้องไม่ขัดแย้งกับกฎระเบียบที่มีอยู่ในปัจจุบัน 2. การตั้ง Retail Forum : คณะกรรมาธิการยุโรปได้เสนอที่จะจัดตั้ง Retail Forum เพื่อเป็นเวทีหารือระหว่างผู้ค้าปลีกในสหภาพยุโรป suppliers และผู้บริโภค โดยประเด็นที่องค์กร EUROPEN สนใจคือ การติดตามว่าใครจะเป็นผู้แทนกลุ่มผู้ค้าปลีกและ supplier จะเข้ามามีบทบาทอย่างไร และเห็นว่า Forum ดังกล่าวต้องคำนึงถึงห่วงโซ่การผลิตของการบรรจุภัณฑ์และผลประโยชน์ของกลุ่มอุตสาหกรรม จะต้องได้รับการดูแลในเวทีดังกล่าว 3. การปรับระเบียบ Eco-Label หรือ EU Flower : คณะกรรมาธิการยุโรปได้ยื่นข้อเสนอให้ปรับระเบียบ Eco-Label เพื่อสนับสนุนให้บริษัทต่างๆหันมาใช้แล้วเข้าร่วม Eco-Label Scheme ของสหภาพยุโรปหรือเครื่องหมาย EU Flower มากขึ้น โดยต้องการให้เป็น voluntary label of excellence นอกจากนี้จะเปลี่ยนการเก็บค่าธรรมเนียมในการใช้เครื่องหมาย EU Flower จากการจ่ายรายปีเป็นการคิดค่าสมัครขอรับใช้เครื่องหมายดังกล่าว อย่างไรก็ตาม องค์กร EUROPEN เห็นว่าประเด็นนโยบาย SCP ที่ผ่านมามีความไม่สอดคล้องกับระเบียบว่าด้วยการบรรจุภัณฑ์และซากการบรรจุภัณฑ์ และคาดว่าคณะกรรมาธิการยุโรปจะออกแผนการอื่นๆ ต่อไป เช่น การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ การส่งเสริม eco - innovation การพัฒนานโยบายอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งนี้ ผู้ประกอบการไทยควรศึกษากฎระเบียบต่างๆและแนวทางอื่นที่จะมีเพิ่มเติมในอนาคตเพื่อที่จะสามารถคงความสามารถในการแข่งขันในตลาด EU ในอนาคตได้ต่อไป โดยสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จาก เว็ปไซต์ http://ec.europa.eu/environment/ecolabel/revision_en.htm

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ