เอกชนเสนอบีโอไอเป็นหน่วยงานหลักจัดทำแผนรองรับกรณีเกิดเหตุฉุกเฉินที่ส่งผลให้ระบบขนส่งต้องหยุดชะงัก

ข่าวทั่วไป Friday December 12, 2008 16:36 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 ธ.ค.--บีโอไอ สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ แนะรัฐจัดทำแผนรองรับกรณีเกิดปัญหาระบบขนส่งของประเทศหยุดชะงัก พร้อมจัดกิจกรรมสร้างความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างประเทศ บีโอไอเตรียมเสนอเรื่องเข้าบอร์ดพิจารณาต้นปีหน้า นางอรรชกา สีบุญเรือง บริมเบิล เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน เปิดเผยภายหลังดร. สัมพันธ์ ศิลปนาฎ ประธานสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ นำสมาชิก 10 บริษัท เข้าพบเมื่อเร็ว ๆ นี้ว่า สมาคมฯได้หารือขอให้บีโอไอเป็นหน่วยงานหลักในการประสานกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านระบบการขนส่ง เพื่อจัดทำแผนรองรับ( Business Continuity Plan หรือ BCP ) กรณีเกิดเหตุฉุกเฉินหรือภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งของประเทศ และทำให้การดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนหยุดชะงัก สมาคมฯยังได้เสนอขอให้บีโอไอจัดกิจกรรมเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อนักลงทุนเช่น การประชุมร่วมกับผู้บริหารระดับสูงของภาคธุรกิจเอกชน ( CEO FORUM ) และจัดให้มีมาตรการป้องกันมิให้เกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้นอีกในอนาคต ซึ่งบีโอไอ จะพิจารณาหามาตรการเยียวยาผู้ประกอบการที่ได้รับความเสียหายจากเหตุการณ์ปิดสนามบิน โดยมูลค่าความเสียหายทั้งหมดที่เกิดขึ้น สมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์ จะรวบรวมตัวเลขจากสมาชิกมานำเสนอบีโอไอภายในสัปดาห์หน้านี้ “ แผนรองรับกรณีฉุกเฉิน หรือ BCP ตามที่สมาคม ฯ เสนอมานี้จะครอบคลุมถึงกรณีฉุกเฉินทุกกรณี ตั้งแต่ปัญหาภัยธรรมชาติ ตลอดจนเหตุการณ์อื่นๆที่จะส่งผลกระทบต่อระบบขนส่งสินค้าภายในประเทศทุกกรณี ไม่ได้เจาะจงเฉพาะเหตุการณ์ความไม่สงบเท่านั้น ซึ่งปัจจุบัน ภาครัฐยังไม่เคยมีการจัดทำแผนรองรับในสถานการณ์นี้ คาดว่าหากแผนดังกล่าวเกิดขึ้นจริง จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ประกอบการต่อระบบการขนส่งสินค้าในประเทศไทยมากขึ้น ทั้งนี้สมาคม ฯ จะร่วมกับบีโอไอเตรียมร่างกรอบของแผนเพื่อเสนอเข้าที่ประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนครั้งต่อไป” เลขาบีโอไอกล่าว สำหรับสมาคมนายจ้างอิเล็กทรอนิกส์ และคอมพิวเตอร์ มีสมาชิกจำนวน 56 บริษัท แต่ละปีมีมูลค่าการลงทุนของสมาชิกมากกว่า 30,000 ล้านบาท และมีมูลค่าการส่งออกปีละกว่า 700,000 ล้านบาท โดยผลจากการปิดสนามบินในช่วงที่ผ่านมาได้สร้างความเสียหายต่อทั้งบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ของไทย และบริษัทลูกค้าที่สั่งซื้อชิ้นส่วนจากประเทศไทย โดยบริษัทผู้ผลิตในไทยต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าปรับจากการส่งมอบสินค้าล่าช้า ซึ่งบางรายถูกปรับเป็นเงินถึง 100,000 เหรียญสหรัฐต่อชั่วโมง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ