บันไดไต่ฝันสู่การเป็นวิศวกรเคมีคุณภาพ

ข่าวทั่วไป Friday December 19, 2008 10:46 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 ธ.ค.-- อย่างที่รู้กันว่าปิโตรเคมี คือที่มาของผลิตภัณฑ์พลาสติกและวัสดุสังเคราะห์ทั้งหลาย ที่วันนี้ไม่ว่าจะเป็นอุปกรณ์เครื่องใช้ที่มีส่วนประกอบของพลาสติก เส้นใยสังเคราะห์ โฟม สีทาบ้าน กาวยืด น้ำยาซักล้าง รวมถึงปุ๋ยเคมี ล้วนเป็นผลิตภัณฑ์ปิโตรเคมีที่อยู่รอบตัว ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น และช่วยเพิ่มความสะดวกสบายกับการดำรงชีวิตของเราในปัจจุบัน แต่จะมีกี่คนที่รู้ว่า กว่าจะมาเป็นผลิตภัณฑ์เหล่านี้ต้องผ่านขั้นตอนกระบวนการผลิตที่ยุ่งยากและซับซ้อนมากมาย และบุคคลผู้อยู่เบื้องหลังที่มีความสำคัญต่อการออกแบบ การปรับปรุงและดูแลกระบวนการผลิตผลิตภัณฑ์ ปิโตรเคมีเหล่านี้ คือ วิศวกรเคมี นั่นเอง เพื่อให้เยาวชนในจังหวัดระยอง ได้มีโอกาสสัมผัสกับประสบการณ์จริงในการเป็นนักวิศวกรเคมี กลุ่ม ปตท. และภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) จึงร่วมกันจัดกิจกรรมค่ายเยาวชน “ปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตร ปี51” ขึ้นระหว่างวันที่ 9-11 ธันวาคม 2551 ณ สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ จังหวัดระยอง และ มจธ. ซึ่งเป็นกิจกรรมที่กลุ่ม ปตท. จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อให้ความรู้ ความเข้าใจเรื่องอุตสาหกรรมปิโตรเคมีในเชิงลึก โดยมีน้องๆ ระดับมัธยมปลายกว่า 56 คนจาก 7 โรงเรียนในจังหวัดระยอง ได้แก่ โรงเรียนอัสสัมชัญ ระยอง, โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร, โรงเรียนระยองวิทยาคม, โรงเรียนระยองวิทยาคม นิคมอุตสาหกรรม, โรงเรียนระยองวิทยาคม ปากน้ำ, โรงเรียนวัดป่าประดู่ และโรงเรียนบ้านฉางกาญจนากุลวิทยา เข้าร่วมค่ายปิโตรแคมป์ฯ ในครั้งนี้ สำหรับค่ายปิโตรแคมป์ปีนี้ นอกจากที่น้องๆ จะได้รับความรู้ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี ผ่านฐานทดลองทางวิทยาศาสตร์กันไปอย่างเต็มอิ่มแล้ว ทุกคนยังเข้าทัศนศึกษาโรงงานปิโตรเคมีและโรงกลั่นของกลุ่ม ปตท. รวมถึงห้องทดลองของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. ซึ่งเป็นแหล่งผลิตวิศวกรรมเคมีคุณภาพแห่งหนึ่งของไทยอีกด้วย โดยได้เห็นและสัมผัสกับอุปกรณ์สำคัญต่างๆ ในอุตสาหกรรมปิโตรเคมีอย่างใกล้ชิด ซึ่งในที่สุด “โรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา” สามารถคว้ารางวัลแชมป์ปิโตร พร้อมเงินรางวัล 25,000 บาท ส่วนรางวัลรองชนะเลิศ ได้แก่ โรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ... ก็ต้องขอปรบมือให้น้องๆ คนเก่งทุกคน น้องออย หรือ นางสาวปาริฉัตร รัตน์ปิยะภาภรณ์ ตัวแทนโรงเรียนบ้านฉางกาญจนกุลวิทยา กล่าวถึงความรู้สึกที่ได้เป็นแชมป์ว่า รู้สึกดีใจและภูมิใจที่ความสามัคคีของพวกเราทำให้พวกเราได้ที่หนึ่ง แต่ที่สำคัญกว่ารางวัลที่พวกเราได้รับคือความรู้ที่ได้จากการทำกิจกรรมในค่ายครั้งนี้ ซึ่งในแต่ละฐานกิจกรรมก็มีความรู้มากมาย เช่น หน้าที่ของหอหล่อเย็น ที่จะช่วยระบายความร้อนส่วนเกินที่เกิดขึ้นในกระบวนการต่างๆในโรงงานปิโตรเคมี ที่สำคัญ ยังได้คำตอบในสิ่งที่ตนสงสัยมานานเกี่ยวกับท่อที่เห็นอยู่มากมายในโรงงานปิโตรเคมี ว่ามีหน้าที่ในการขนส่งของไหลต่างๆ ไปสู่กระบวนการผลิต และได้รู้อีกว่า การไหลมีอยู่ 2 ประเภท เป็นการไหลแบบราบเรียบและการไหลแบบปั่นป่วน ซึ่งก็มีข้อดีข้อเสียไม่เหมือนกัน ส่วนความรู้สึกที่มีต่ออาชีพวิศวกรเคมี น้องออยบอกว่า วิศวกรเคมีเหมือนผู้ปิดทองหลังพระที่ต้องประยุกต์ใช้ทั้งความรู้และประสบการณ์ทั้งหมดในการสร้างเครื่องมือและดูแลกระบวนการต่างๆ เป็นผู้ที่ทำให้งานของฝ่ายต่างๆสำเร็จไปได้ด้วยดี ด้าน น้องนิค หรือนายจิรวัฒน์ เหมมี ตัวแทนโรงเรียนมาบตาพุดพันพิทยาคาร ผู้ใฝ่ฝันอยากจะเรียนด้านวิศวกรรมศาสตร์ และจบมาทำงานเป็นวิศวกร เล่าให้ฟังว่า ตนเองชอบเรื่องวิศวกรรมอยู่แล้ว และฝันไว้ว่าโตขึ้นอยากเป็นวิศวกร การได้เข้าร่วมค่ายปิโตรแคมป์ครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสและเป็นตัวเติมแรงจูงใจของตนเองมากขึ้น เมื่อก่อนเข้าใจว่า วิศวกรเคมีคือคนที่ผลิตสารเคมีออกสู่ท้องตลาด แต่ความจริงแล้ว วิศวกรเคมีเป็นผู้อยู่เบื้องหลังสิ่งต่างๆ ที่ออกมาสู่โลกใบนี้ จึงถือเป็นอาชีพที่น่าสนใจและสร้างคุณค่าให้แก่สังคมได้เป็นอย่างดี กับเรื่องอุปกรณ์ทางวิศวกรรมเคมีที่ชอบ น้องนิคบอกว่าชอบ เครื่องกวน เพราะดูเหมือนเป็นเครื่องช่วยกวนธรรมดา แต่จากค่ายฯ จึงรู้ว่ามันสามารถกวนได้หลายแบบ ใบพัดในเครื่องกวน ก็สามารถคิดค้นได้หลากหลายรูปแบบเพื่อให้เหมาะกับงานกวนประเภทต่างๆ ซึ่งเราต้องออกแบบให้เหมาะสมได้ทั้งประสิทธิภาพและคุ้มค่าต่อการลงทุนด้วย รศ.ดร. บุญเจริญ ศิริเนาวกุล คณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ มจธ. กล่าวว่า ทุกวันนี้กิจกรรมเพื่อส่งเสริมการเรียนรู้ของเยาวชนได้รับการสนใจจากหลายๆฝ่ายมากขึ้น ซึ่งเป็นการสร้างแรงบันดาลใจและพัฒนาศักยภาพ เด็กไทยให้มีความรู้ความสามารถเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ายินดีอย่างยิ่งที่ กลุ่ม ปตท. ให้ความสำคัญกับการพัฒนาเยาวชนนี้อย่างจริงจัง ตนว่าความสำเร็จของกิจกรรมนี้ สุดท้ายแล้วจะย้อนไปตอบปัญหาของสังคมว่า เราจะผลิตบุคลากรที่มีความสามารถด้านนี้ให้กับสังคมได้อย่างไร และจะทำอย่างไรให้เยาวชนไทยมีความรู้ด้านวิศวกรรมมากขึ้นในทุกๆสาขาโดยเฉพาะด้านปิโตรเคมี คุณประเสริฐ สลิลอำไพ ผู้จัดการฝ่ายกิจการเพื่อสังคม บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดกิจกรรมค่ายปิโตรแคมป์ สู่แชมป์ปิโตรฯ ครั้งนี้ที่นับเป็นปีที่ 3 แล้วนั้น กลุ่ม ปตท. ตั้งใจให้เป็นโอกาสในการเรียนรู้เรื่องของพลังงานและอุตสาหกรรมปิโตรเคมีของเยาวชนไทย จากประสบการณ์จริงนอกเหนือความรู้ในตำรา กลุ่ม ปตท.เชื่อว่าน้องๆทุกคนที่เข้าร่วมกิจกรรมในครั้ง จะเป็นพลังที่สำคัญของประเทศและเป็นแรงขับเคลื่อนคุณภาพให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีต่อไป แม้ค่าย “ปิโตรแชมป์ สู่แชมป์ปิโตร ปี51” จะจบลงแล้ว แต่ฝันของน้องๆ 56 คนจาก 7 โรงเรียนนี้ยังไม่จบ เพราะกลุ่ม ปตท.ร่วมกับ มจธ. ยังจะมอบโควต้าการเข้าเรียนต่อในระดับปริญญาตรีในภาควิชาวิศวกรรมเคมี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี พร้อมทุนการศึกษาให้กับเยาวชนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ จำนวน 4 คน โดยน้องๆ ทั้ง 56 คนคงจะต้องคอยลุ้นกันต่อไปว่าใครคือผู้โชคดี 4 คน ที่จะได้รับทุนจากกลุ่ม ปตท. ซึ่งจะประกาศผลประมาณปลายเดือนมกราคมปี 2552 ที่จะถึงนี้ แล้วโอกาสก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ