รายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2551

ข่าวทั่วไป Wednesday December 24, 2008 13:49 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ธ.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง นายสมชัย สัจจพงษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ได้เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนพฤศจิกายน 2551 ว่า เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอตัวลงจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านอุปสงค์จากต่างประเทศจากปริมาณการส่งออกที่ปรับตัวลดลงตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว ในขณะที่อุปสงค์ภายในประเทศทั้งในด้านการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวลงเช่นกัน อย่างไรก็ตาม ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจอยู่ในเกณฑ์ดีจากอัตราเงินเฟ้อ ที่ปรับตัวลดลงต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้ 1. การบริโภคภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2551 มีสัญญาณชะลอลง โดยภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ในเดือนพฤศจิกายนหดตัวที่ร้อยละ -4.6 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 8.4 ต่อปี เนื่องจากมีปัจจัยความกังวลต่อภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่เริ่มมีแนวโน้มชะลอตัวสืบเนื่องจากวิกฤตการณ์การเงินในสหรัฐฯ และยุโรป และปัจจัยความไม่แน่นอนทางการเมืองทำให้ผู้บริโภคระมัดระวังในการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น เช่นเดียวกับเครื่องชี้การบริโภคจากปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคที่หดตัวร้อยละ -11.1 ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี ขณะที่ปริมาณจำหน่ายรถจักรยานยนต์เดือนพฤศจิกายนหดตัวที่ร้อยละ -3.3 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 9.9 ต่อปี สะท้อนการใช้จ่ายที่ลดลงของประชาชนในส่วนภูมิภาคส่วนหนึ่งเป็นเพราะราคาสินค้าเกษตรส่วนใหญ่เริ่มปรับตัวลดลง ซึ่งส่งผลต่อรายได้เกษตรกร และกำลังซื้อของประชาชนในภูมิภาค อย่างไรก็ตาม ปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งในเดือนพฤศจิกายนยังคงขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 33.2 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 20.4 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยฐานต่ำในปีที่ผ่านมา ประกอบกับการส่งเสริมการขายผ่านงานมอเตอร์เอ็กซ์โปร์และราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคที่ปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องที่ระดับ 67.1 จุดลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 68.6 จุด ถือเป็นสัญญาณบ่งชี้แนวโน้มการบริโภคในอนาคตที่อาจชะลอตัวลงอย่างต่อเนื่อง 2. การลงทุนภาคเอกชนในเดือนพฤศจิกายน 2551 ชะลอตัวลงต่อเนื่องจากเดือนก่อน โดยเครื่องชี้ด้านการก่อสร้างและอสังหาริมทรัพย์ที่สะท้อนจากภาษีธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ในเดือนพฤศจิกายน หดตัวที่ร้อยละ -6.4 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 13.2 ต่อปี สะท้อนถึงตลาดอสังหาริมทรัพย์ที่มีสัญญาณชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจในประเทศทั้งจากความไม่มั่นใจในสถานการณ์เศรษฐกิจ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญต่อการตัดสินใจซื้ออสังหาริมทรัพย์ ในขณะที่การลงทุนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรที่วัดจากปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนขยายตัวที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี ขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 2.0 ต่อปี อย่างไรก็ตาม ปริมาณการนำเข้าสินค้าทุนหลังหักสินค้ารายการพิเศษ (เครื่องบิน แท่นขุดเจาะ รถไฟ และทองคำ) จะขยายตัวในระดับต่ำเพียงร้อยละ 1.6 ต่อปี สำหรับเครื่องชี้การลงทุนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์ในเดือนพฤศจิกายนหดตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อนมาอยู่ที่ร้อยละ -36.7 ต่อปี โดยเป็นการหดตัวของยอดจำหน่ายรถปิคอัพและรถบรรทุกขนาด 2 ตัน 3. เครื่องชี้ภาวะเศรษฐกิจด้านการคลังในเดือนพฤศจิกายน 2551 พบว่ารายได้รวมของ 3 กรมจัดเก็บภาษีเท่ากับ 108.0 พันล้านบาท หดตัวที่ร้อยละ -8.7 ต่อปี เนื่องจากภาวะเศรษฐกิจภายในประเทศที่มีสัญญาณชะลอตัวลง และผลกระทบจากการปรับลดอัตราภาษีสรรพาสามิตน้ำมันตามมาตรการ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากภาษีฐานรายได้พบว่าขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.7 ต่อปี สะท้อนผลประกอบการของภาคธุรกิจและรายได้ของประชาชนที่ชะลอลงตามแนวโน้มเศรษฐกิจ ขณะที่ภาษีฐานการบริโภค (ภาษีมูลค่าเพิ่ม) หดตัวร้อยละ -6.6 ต่อปี สะท้อนถึงการบริโภคที่ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้า สำหรับรายจ่ายรัฐบาลในเดือนพฤศจิกายน 2551 สามารถเบิกจ่ายได้ 165.2 พันล้านบาท ขยายตัวจากช่วงเดียวกันของปีก่อนที่ร้อยละ 30.1 ต่อปี เนื่องจากมีการเร่งเบิกจ่ายงบประมาณ ภายหลังจากที่พระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 มีผลบังคับใช้ล่าช้าในช่วงเดือนตุลาคม 2551 ทำให้ในเดือนพฤศจิกายน 2551 รายจ่ายประจำสามารถเบิกจ่ายได้ 131.3 พันล้านบาท ขยายตัวในระดับสูงที่ร้อยละ 39.9 ต่อปี และรายจ่ายลงทุนที่สามารถเบิกจ่ายได้ 18.0 พันล้านบาท หดตัวลงที่ร้อยละ -1.3 ต่อปี เนื่องจากปัจจัยจากฐานรายจ่ายลงทุนที่สูงในช่วงเดียวกันของปีก่อน 4. การส่งออกในเดือนพฤศจิกายน 2551 หดตัวลงเนื่องจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าของไทยที่ชะลอตัวลง และผลกระทบจากการปิดสนามบินภายในประเทศซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการส่งออก โดยมูลค่าการส่งออกรวมในรูปดอลลาร์สหรัฐในเดือนพฤศจิกายนอยู่ที่ 11.9 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวในระดับสูงที่ร้อยละ -18.6 ต่อปี โดยปริมาณการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ -21.7 ต่อปี ซึ่งเป็นเดือนที่ 4 ที่ปริมาณการส่งออกขยายตัวในระดับต่ำ เป็นผลจากการชะลอตัวและหดตัวของการส่งออกสินค้าหลัก โดยเฉพาะสินค้ากลุ่มเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้าและยานพาหนะ ซึ่งได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าหลักที่ชะลอตัวและถดถอย ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาจากมิติประเทศคู่ค้าแล้วจะพบว่าการส่งออกไปยังตลาดภูมิภาคที่ส่วนใหญ่นำเข้าสินค้าขั้นกลางจากไทย (Immediate Goods) ไปผลิตต่อ เช่น จีน สิงคโปร์ เวียดนาม ฮ่องกง และไต้หวัน หดตัวลงอย่างชัดเจน สำหรับการนำเข้าชะลอตัวลงเช่นเดียวกัน โดยมูลค่าการนำเข้าเท่ากับ 13.1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 2.0 โดยเป็นปริมาณการนำเข้าขยายตัวในระดับต่ำเช่นกันที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 13.9 ต่อปี ซึ่งเป็นผลจากการนำเข้าที่ชะลอตัวลง โดยเฉพาะในทุกหมวดสินค้าเชื้อเพลิง สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป บ่งชี้ว่า การผลิตภายในประเทศที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ปริมาณการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัวชะลอลงเช่นกัน สะท้อนถึงการใช้จ่ายภายในประเทศที่ชะลอลง ทั้งนี้ มูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่ามูลค่าการนำเข้าทำให้ดุลการค้าในเดือนพฤศจิกายน 2551 ขาดดุลจำนวน -1.2 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ 5. สำหรับเครื่องชี้ในด้านอุปทานในเดือนพฤศจิกายน 2551 พบว่า ผลผลิตภาคการเกษตร ภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการจากการท่องเที่ยวเริ่มชะลอตัวลง โดยเครื่องชี้ภาคการเกษตรที่วัดจากดัชนีการผลิตสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวในระดับต่ำที่ร้อยละ 3.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่หดตัวร้อยละ -7.2 ต่อปี เนื่องจากการขยายตัวของผลผลิตการเกษตรที่สำคัญ โดยเฉพาะข้าวนาปีที่อยู่ในช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ในขณะที่ยางพาราผลผลิตลดลง เนื่องจากสภาพภูมิอากาศที่มีฝนตกหนักไม่เอื้ออำนวยต่อการผลิตยาง ขณะที่ดัชนีราคาสินค้าเกษตรในเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวชะลอลงมากที่ร้อยละ 7.9 ต่อปี จากเดือนก่อนที่ขยายตัวร้อยละ 14.5 ต่อปี เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรในตลาดโลก โดยเฉพาะราคาข้าวและยางพาราปรับตัวลดลง ด้านเครื่องชี้เศรษฐกิจภาคอุตสาหกรรมพบว่าดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (เบื้องต้น) หดตัวร้อยละ -8.6 ต่อปี สะท้อนภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากการส่งออกที่ชะลอตัวจากวิกฤติเศรษฐกิจโลก เช่นเดียวกันกับปริมาณการนำเข้าวัตถุดิบในเดือนพฤศจิกายนหดตัวลงที่ร้อยละ -0.1 ต่อปี ชะลอลงจากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 24.3 ต่อปี ซึ่งเป็นการหดตัวครั้งแรกของปี 2551 สะท้อนการชะลอการผลิตของภาคอุตสาหกรรม ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ในขณะที่ภาคบริการจากการท่องเที่ยวยังคงชะลอตัวลงต่อเนื่อง โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางเข้าประเทศไทยในเดือนพฤศจิกายนมีจำนวนทั้งสิ้น 1.1 ล้านคน หดตัวร้อยละ -18.9 ต่อปี ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้าที่หดตัวร้อยละ -6.4 ต่อปี โดยเป็นผลกระทบจากปัจจัยทางการเมือง โดยเฉพาะเหตุการณ์การปิดสนามบินในช่วงปลายเดือนพฤศจิกายน 2551 6. เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะเสถียรภาพภายในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่องจากอัตราเงินเฟ้อที่ลดลง โดยอัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพฤศจิกายน ขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ร้อยละ 2.2 ต่อปี จากเดือนก่อนหน้าที่ขยายตัวร้อยละ 3.9 ต่อปี อันเป็นผลจากราคาน้ำมันที่ปรับตัวลดลง และผลของ 6 มาตรการ 6 เดือน ฝ่าวิกฤตเพื่อคนไทยทุกคน เช่นเดียวกับอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานเดือนพฤศจิกายนที่อยู่ที่ ร้อยละ 2.0 ต่อปี ลดลงจากเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ร้อยละ 2.4 ต่อปี นอกจากนี้ อัตราการว่างงานในเดือนตุลาคม 2551 ยังคงอยู่ในระดับต่ำที่ร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม สำหรับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) ณ สิ้นเดือนตุลาคม 2551 อยู่ที่ร้อยละ 36.9 ซึ่งยังคงต่ำกว่ากรอบความยั่งยืนทาง การคลังที่ตั้งไว้ไม่เกินร้อยละ 50.0 ค่อนข้างมาก สำหรับเสถียรภาพภายนอกประเทศยังอยู่ในระดับมั่นคงและสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของวิกฤติการเงินโลก สะท้อนได้จากทุนสำรองระหว่างประเทศสุทธิ ณ สิ้นเดือนพฤศจิกายน 2551 อยู่ในระดับสูงที่ 106.3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งสูงกว่าหนี้ต่างประเทศระยะสั้นประมาณ 4.1 เท่า

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ