ปภ. เตือนระวังภัย!!!ช่วงเฉลิมฉลองเทศกาลปีใหม่

ข่าวทั่วไป Thursday December 25, 2008 10:24 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--ปภ. กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนประชาชนที่ไปร่วมงานเฉลิมฉลอง ในคืนวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ เพิ่มความระมัดระวังอุบัติภัยต่างๆ ที่มักเกิดขึ้นในช่วงดังกล่าว โดยเฉพาะอุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ หากดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ห้ามขับรถด้วยตนเองอย่างเด็ดขาด ควรให้ผู้อื่นขับ หรือใช้บริการรถสาธารณะ อุบัติภัยจากพลุ ดอกไม้ไฟ ห้ามจุดในบริเวณใกล้บ้านเรือน และสายไฟฟ้า ควรจุดในที่โล่ง เพราะอาจเกิดเพลิงไหม้ และอุบัติภัยจากลูกโป่งอัดก๊าซ ไม่ควรแขวนลูกโป่งอัดก๊าซจำนวนมากๆ ไว้ด้วยกัน และไว้ใกล้หลอดไฟ กองไฟ หรือแหล่งความร้อน เพราะอาจเกิดการระเบิดและเพลิงไหม้ สร้างอันตรายให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้ นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า ในช่วงคืนวันส่งท้าย ปีเก่าต้อนรับปีใหม่ สถานที่ต่างๆ มักจัดงานเฉลิมฉลองโดยประดับประดาสถานที่ด้วยลูกโป่งอัดก๊าซหลากสีสัน การดื่มสังสรรค์ด้วยเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมถึงการจุดพลุ ดอกไม้ไฟในช่วงนับเวลาถอยหลังเข้าสู่ศักราชใหม่ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดอุบัติภัยต่างๆ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนประชาชนให้เพิ่มความระมัดระวังอุบัติภัยที่มักเกิดในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลองปีใหม่ ดังนี้ อุบัติเหตุทางถนนจากการเมาแล้วขับ ผู้ขับขี่ไม่ควรดื่มเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ เนื่องจากแอลกอฮอล์มีฤทธิ์กดประสาท ทำให้ผู้ดื่มมีอาการมึนเมา คึกคะนอง มีพฤติกรรมไม่ป้องกันตนเอง ความสามารถในการขับรถลดลง การตัดสินใจและการตอบสนองต่อสถานการณ์ฉุกเฉินช้ากว่าปกติ ๘ เท่า สายตาพร่ามัว ทัศนวิสัยในการมองเห็นลดลง จึงมีความเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุทางถนนสูงกว่าปกติ หากดื่มแอลกอฮอล์ ไม่ควรขับรถเองอย่างเด็ดขาด ควรจอดพักในบริเวณที่ปลอดภัยจนกว่าจะหายเมาแล้วค่อยขับรถ หรือใช้บริการรถโดยสารสาธารณะหรือรถแท็กซี่จะปลอดภัยมากกว่า กรณีไปด้วยกันหลายคน ควรให้ผู้ที่ไม่ดื่มเป็นผู้ขับรถแทน อุบัติภัยจากพลุ และดอกไม้ไฟ ไม่ควรจุดพลุ และดอกไม้ไฟบริเวณใกล้สายไฟหรือในอาคารบ้านเรือน อย่างเด็ดขาด ควรจุดในที่โล่ง ไม่มีใบไม้แห้งและวัตถุอันตราย เพื่อป้องกันเหตุเพลิงไหม้ รวมทั้งไม่ควรนำพลุและดอกไม้ไฟที่จุดแล้วมาโยนใส่ฝูงชน เพราะอาจได้รับบาดเจ็บ กรณีพลุดับก่อนระเบิด ไม่ควรนำมาจุดซ้ำทันที เพราะแรงเสียดสีอาจทำให้เกิดระเบิดได้ ควรทิ้งไว้ประมาณ ๑๕ นาที แล้วค่อยจุดซ้ำอีกครั้ง อุบัติภัยจากลูกโป่งอัดก๊าซ หากนำลูกโป่งอัดก๊าซมาประดับงาน ควรแขวนหรือผูกไว้บนที่สูงให้พ้นจากระดับการเอื้อมถึงของเด็ก ไม่ควรไว้ใกล้กับหลอดไฟ กองไฟหรือแหล่งความร้อนอื่นๆ เพราะความร้อนจะทำให้ก๊าซในลูกโป่งระเบิดออกมา ก่อให้เกิดอันตรายกับผู้ที่อยู่บริเวณใกล้เคียง ไม่ควรผูกลูกโป่งจำนวนมากไว้ด้วยกัน เพราะหากระเบิดอาจก่อให้เกิดเปลวไฟ ทำให้เกิดเพลิงไหม้ ในกรณีที่ลูกโป่งแตกให้นำเศษลูกโป่งไปทิ้งในทันที เพื่อป้องกันมิให้เด็กนำเศษลูกโป่งไปกัดเล่น เพราะอาจลื่นหลุดลงลำคอและกีดขวางระบบทางเดินหายใจ ทำให้ขาดอากาศหายใจจนเสียชีวิตได้ นายอนุชาฯ กล่าวต่อว่า แม้เทศกาลปีใหม่จะเป็นช่วงเวลาแห่งความรื่นเริงที่เต็มไปด้วยความสุข ความสนุกสนานแต่หากเฉลิมฉลองอย่างขาดความระมัดระวังแล้ว เทศกาลปีใหม่ก็อาจกลายเป็นช่วงเวลาแห่งความโศกเศร้าและความสูญเสียได้ สุดท้ายนี้ หากประชาชนพบเห็นหรือประสบอุบัติภัยในช่วงเทศกาลปีใหม่ สามารถติดต่อขอความช่วยเหลือได้ทางสายด่วนสาธารณภัย ๑๗๘๔ ตลอด ๒๔ ชั่วโมง เพื่อประสานให้ความช่วยเหลือต่อไป

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ