P/L Law กับการยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหาร “สถาบันอาหาร” เตือนภาคอุตสาหกรรมอาหารรับมือก่อนประกาศใช้ 20 ก.พ. 52

ข่าวทั่วไป Thursday December 25, 2008 12:05 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--25 ธ.ค.--โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ สถาบันอาหาร ร้องผู้เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารไทย ทั้ง SMEs เกษตรกร ร้านขายอาหารริมทางหรือบาทวิถี หน่วยงานรัฐ เตรียมการรับมือ พ.ร.บ. ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 (Product Liability Law: P/L Law) ที่จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 20 ก.พ. 2552 เป็นต้นไป ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ภายใต้การเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมอาหารในปัจจุบัน ความปลอดภัยของอาหารมักจะถูกหยิบยกขึ้นมากล่าวกันมากที่สุดประเด็นหนึ่ง เนื่องจากเมื่อเกิดการปนเปื้อนในส่วนใดส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อาหาร จะส่งผลให้เกิดการปนเปื้อนในผลิตภัณฑ์อาหารสุดท้ายที่บริโภคและก่อให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพได้ ดังนั้น การผลิตหรือแปรรูปอาหารจึงจำเป็นต้องสร้างความปลอดภัยในทุกขั้นตอนหรือกระบวนการผลิตของผู้เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่อุปทานอาหาร (Food Supply Chain) นับตั้งแต่ผู้ผลิตอาหารสัตว์ ผู้ผลิตวัตถุดิบ ผู้แปรรูปอาหาร ผู้ขนส่ง ผู้ส่งสินค้า ผู้ค้าปลีก และผู้บริการอาหารทุกชนิด ทั้งนี้ นับตั้งแต่วันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2552 เป็นต้นไป พระราชบัญญัติความรับผิดต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 (Product Liability Law: P/L Law) จะมีผลบังคับใช้ โดยกฎหมายฉบับนี้ได้นำหลักกฎหมายสำคัญมาใช้ คือ หลักความรับผิดโดยเคร่งครัด (Strict Liability) กล่าวคือ ผู้ประกอบการจะมีความรับผิดในความเสียหายที่เกิดจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย โดยไม่คำนึงว่าความเสียหายนั้นเกิดจากการกระทำโดยจงใจหรือประมาทเลินเล่อ ทำให้ผู้ประกอบการต้องรับผิดต่อการพิสูจน์ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้านั้น พ.ร.บ. ฉบับนี้เป็นกฎหมายที่ตราขึ้นมาเพื่อสร้างความเป็นธรรมหรือความเสมอภาคระหว่างผู้ประกอบการและผู้บริโภค ซึ่งบังคับใช้กับสินค้าสังหาริมทรัพย์ทุกชนิดที่ผลิตหรือนำเข้าเพื่อขาย รวมทั้งผลิตผลทางการเกษตรที่ยังไม่ได้ผ่านกระบวนการ หรือสินค้าเกษตรปฐมภูมิ ด้วย “ในต่างประเทศ อาทิ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น มี P/L Law บังคับใช้มาเป็นเวลานานแล้ว และมีกรณีที่ผู้บริโภคมีการฟ้องคดีต่อศาลเมื่อได้รับความเสียหายจากการบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัย เช่น กรณีในประเทศญี่ปุ่น ในปี 2544 ผู้บริโภค 12 คน ได้ยื่นฟ้องบริษัทผู้ผลิตนม (Snowbrand) ต่อศาลเมืองโอซากา เนื่องจากได้รับความเจ็บป่วยจากอาหารเป็นพิษจากการดื่มนมไขมันต่ำที่ปนเปื้อนเชื้อก่อโรค โดยเรียกร้องให้บริษัทผู้ผลิตนมชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 64 ล้านเยน ต่อมาในปี 2546 ศาลได้ตัดสินให้บริษัทผู้ผลิตนมชดใช้ค่าเสียหายจำนวน 1.1 ล้านเยน สำหรับผู้เสียหาย 8 คน และอีก 4 คน ศาลเห็นว่าได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ดังนั้น สำหรับประเทศไทยเมื่อ P/L Law มีผลบังคับใช้ย่อมก่อให้เกิดผลกระทบต่อผู้ที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอาหารอย่างแน่นอน” ดร. ยุทธศักดิ์ กล่าวย้ำ จากการพิจารณาผลกระทบในแต่ละกลุ่มของอุตสาหกรรมอาหาร พบว่าผู้ที่ได้รับประโยชน์หรือผู้ที่ไม่ต้องปรับตัวมากนักต่อ พ.ร.บ. ฉบับนี้ คือ ผู้บริโภค เป็นผู้ที่ได้รับประโยชน์จากกฎหมายฉบับนี้มากที่สุด เพราะเจตนารมณ์ของกฎหมายมุ่งคุ้มครองผู้บริโภคเป็นหลัก ผู้ผลิตรายใหญ่ ถือว่าเป็นกลุ่มที่มีความพร้อมมากที่สุดและให้ความสนใจในการผลิตสินค้าอาหารที่ปลอดภัยเพื่อจำหน่ายทั้งในและต่างประเทศอยู่แล้ว โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญ ได้แก่ สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป และญี่ปุ่น ซึ่งเป็นประเทศที่มีการบังคับใช้ P/L Law มาเป็นเวลานาน กิจการการค้าสมัยใหม่ (Modern Trade) ได้แก่ ซูเปอร์มาร์เก็ต และไฮเปอร์มาร์เก็ต ถือเป็นอีกกลุ่มหนึ่งที่มีความพร้อมในการจำหน่ายสินค้าที่มีความปลอดภัย โดยคัดเลือกซัพพลายเออร์ที่มีแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐาน สามารถตรวจสอบย้อนกลับได้ ซึ่งกิจการการค้าสมัยใหม่มีความพร้อมอยู่แล้วจึงทำให้ได้เปรียบ ภัตตาคารหรือร้านอาหารที่มีชื่อเสียง เพื่อเป็นการป้องกันการถูกฟ้องร้องดำเนินคดี เจ้าของต้องมีความพิถีพิถันในการจัดหาจัดซื้อวัตถุดิบจากซัพพลายเออร์ที่มีแหล่งผลิตที่ได้มาตรฐานหรือจากแหล่งที่น่าเชื่อถือได้มากขึ้น และธุรกิจประกันภัย จะมีช่องทางด้านการประกันภัยความรับผิดจากสินค้า (Product Liability Insurance) ซึ่งมีแนวโน้มที่จะขยายตัวได้อีกมากในอนาคต เนื่องจากผู้ประกอบการสามารถป้องกันความเสี่ยงของอันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากความชำรุดบกพร่องของสินค้านั้นได้ด้วยการทำประกันภัยความรับผิดจากสินค้า ผอ.ยุทธศักดิ์ ชี้ว่า P/L Law ที่จะมีผลใช้บังคับในเร็วๆ นี้ ถือได้ว่าเป็นอีกมาตรการหนึ่งที่จะช่วยยกระดับมาตรฐานอาหารปลอดภัยของไทยเพื่อให้ผู้บริโภคได้บริโภคอาหารที่มาตรฐานและความปลอดภัยสูงขึ้น และผู้ที่ต้องเร่งปรับตัวต่อ พ.ร.บ.ความรับผิดชอบต่อความเสียหายที่เกิดขึ้นจากสินค้าที่ไม่ปลอดภัย พ.ศ. 2551 (P/L Law) คือ ผู้ผลิตขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เกษตรกร ร้านขายอาหารริมทางหรือบาทวิถี และหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งผลของกฎหมายฉบับนี้จะทำให้ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม เกษตรกร ร้านขายอาหารริมทางหรือบาทวิถี ต้องปรับปรุงกระบวนการผลิตหรือการปรุงอาหารให้มีมาตรฐานความปลอดภัยและความสะอาดสูงขึ้น รวมถึงหน่วยงานภาครัฐที่ทำหน้าที่ดูแลการบังคับใช้ตามกฎระเบียบและการรับรองระบบต้องมีการเฝ้าระวัง การติดตาม การวิเคราะห์ สินค้าที่วางจำหน่ายในท้องตลาดอย่างเป็นระบบและจริงจังมากขึ้น อย่างไรก็ตาม การยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยของอาหารในประเทศให้มีมาตรฐานเดียวกับสินค้าที่ส่งออกนั้น ต้องอาศัยความร่วมมือจากหลายฝ่ายทั้งผู้ผลิต ผู้บริโภค และหน่วยงานภาครัฐที่มีหน้าที่กำกับดูแลและมีบทบาทต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมอาหารของไทย รายละเอียดเพิ่มเติม : บริษัท โปรคอมมิวนิเคชั่นส์ แอนด์ คอนซัลแตนท์ จำกัด สุขกมล งามสม โทร. 0 2158 9416-8, 0 89484 9894

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ