กรมวิชาการเกษตรพร้อมตรวจรับ “ยางชำถุง” ในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางใหม่ 1 ล้านไร่ระยะสุดท้าย

ข่าวทั่วไป Tuesday March 14, 2006 14:56 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--14 มี.ค.--กรมวิชาการเกษตร
กรมวิชาการเกษตรพร้อมตรวจรับ “ยางชำถุง” ในโครงการขยายพื้นที่ปลูกยางใหม่ 1 ล้านไร่ระยะสุดท้าย ซี.พี.เร่งปั๊มเตรียมทยอยส่งตรวจกว่า 46 ล้านต้น กำหนดเส้นตายส่งมอบเสร็จสิ้นไม่เกินเดือน ส.ค.นี้ มั่นใจกระจายพันธุ์สู่เกษตรกรได้ครบ 1.4 แสนครอบครัว ทันเวลา
นายจิรากร โกศัยเสวี รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ระยะที่ 3 ว่า ปี 2549 นี้ เป็นระยะสุดท้ายของโครงการปลูกยางพาราเพื่อยกระดับรายได้และเพิ่มความมั่นคงให้เกษตรกรในพื้นที่ปลูกยางใหม่ ตามนโยบายรัฐบาลโดยตั้งเป้าขยายพื้นที่ปลูกยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือให้ครบ 700,000 ไร่ และภาคเหนือ 300,000 ไร่ ซึ่งตามสัญญาส่งมอบกล้ายางในปีนี้ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์เมล็ดพันธุ์ จำกัด หรือซี.พี. ต้องส่งมอบยางชำถุงที่เหลือ 50 % หรือประมาณ 45 ล้านต้น ให้กรมวิชาการเกษตรตรวจสอบเพื่อส่งมอบให้เกษตรกรที่ขึ้นทะเบียนไว้นำไปปลูกในพื้นที่เป้าหมายที่เหลือ 496,000 ไร่
ขณะนี้ซี.พี.อยู่ระหว่างจัดเตรียมยางชำถุงกว่า 46 ล้านต้น เพื่อทยอยส่งให้กรมวิชาการเกษตรตรวจรับ ซึ่งตามแผนในเดือนพฤษภาคม กำหนดให้ ซี.พี.ส่งมอบกล้ายางพาราล็อตแรก จำนวน 10 % หรือประมาณ 4.5 ล้านต้น เดือนมิถุนายน ส่งมอบอีก 40 % ประมาณ 18 ล้านต้น เดือนกรกฎาคม จำนวน 30 % จำนวน 13.5 ล้านต้น และส่วน 9 ล้านต้นที่เหลือ ต้องส่งให้ครบภายในเดือนสิงหาคม 2549 ซึ่งปีนี้คาดว่าการขับเคลื่อนโครงการดังกล่าว จะทำได้คล่องตัวและรวดเร็วยิ่งขึ้น ไม่น่ามีปัญหา โดยเฉพาะการส่งมอบยางชำถุงจะเสร็จสิ้นเร็วขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา และจะเร่งกระจายพันธุ์ยางไปสู่เกษตรกรให้ครบ 140,000 รายโดยเร็วที่สุด เบื้องต้นจะมอบให้เกษตรกรในโครงการฯ ซึ่งอยู่ในพื้นที่ที่ฝนมาเร็วก่อน อาทิ จังหวัดริมฝั่งแม่น้ำโขง เช่น เลย และมุกดาหาร
นายจิรากรกล่าวต่ออีกว่า ปัจจุบันกรมวิชาการเกษตรได้เร่งให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ปลูกยางใหม่ เพื่อสำรวจและติดตามผลการปลูกยางพาราในปี 2548 ว่า มีต้นยางตายจำนวนเท่าใด และมีปัญหาหรือไม่ ซึ่งปกติยางปลูกใหม่ไม่น่าจะตายเกินไร่ละ 10 % รวมทั้งให้สำรวจแปลงเกษตรกรที่ปลูกในปี 2547 ด้วย ว่ามียางพาราตายเพิ่มขึ้นหรือไม่ เพื่อจะได้นำข้อมูลมาวางแผนแก้ไขปัญหาช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เช่น เตรียมแผนการปลูกซ่อม ตลอดจนหาแนวทางเพื่อป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
“นอกจากนี้กรมวิชาการเกษตรยังได้ประสานและขอความอนุเคราะห์จาก ซี.พี. ให้สนับสนุนกล้ายางพาราเพิ่มเติมนอกเหนือสัญญาประมาณ 970,000 ต้น เพื่อนำไปปลูกซ่อมในแปลงเกษตรกรที่ประสบปัญหากล้ายางตายในปี 2547 ซึ่งทางซี.พี.ยังไม่ให้คำตอบ อย่างไรก็ตาม ระยะ 2 ปีที่ผ่านมา โครงการฯสามารถขยายพื้นที่ปลูกยางพาราได้แล้วกว่า 504,000 ไร่ ซึ่งเกินเป้าที่ตั้งไว้เล็กน้อย ถึงแม้ปีนี้ปริมาณกล้ายางจะเพิ่มมากขึ้นถึง 2 เท่า ก็ไม่มีปัญหา เชื่อว่าสามารถจัดการได้ เกษตรกรต้องได้รับกล้ายางที่มีคุณภาพ และทันเวลาที่กำหนด” รองอธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ