เยาวชนไทยไอเดียเด็ด พิชิตรางวัลการประกวดแผนธุรกิจ ก้าวสู่การเป็นผู้แทนภูมิภาคเอเชีย ไปแข่งขันในเวทีระดับโลก

ข่าวทั่วไป Wednesday January 21, 2009 11:29 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--21 ม.ค.--ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี เยาวชนไทยจากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาฯ คว้าชัยในการประกวดแผนธุรกิจ รอบภูมิภาคเอเชีย ด้วยแผนการผลิตชุดตรวจโรคฉี่หนูที่มีราคาไม่แพง ใช้ง่าย ลดการนำเข้าชุดตรวจราคาแพงจากต่างประเทศ ที่สำคัญ วินิจฉัยได้เร็ว ช่วยให้แพทย์รักษาคนไข้ได้อย่างทันท่วงที พร้อมสู่การเป็นตัวแทนภูมิภาคไปแข่งขันระดับโลกที่สหรัฐอเมริกา “การแข่งขันแนวความคิดทางธุรกิจ” มีจุดเริ่มต้นมาจากมหาวิทยาลัยเท็กซัส ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งปีนี้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ร่วมเป็นเจ้าภาพจัด “การแข่งขันแนวความคิดทางเทคโนโลยี จากงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์-รอบภูมิภาคเอเชีย” (Idea to Product Competition, I2P) ขึ้น ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย ระหว่างวันที่ 18-19 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา รศ. ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (TMC) ด้านถ่ายทอดเทคโนโลยี กล่าวว่า สำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) ภายใต้ TMC เป็นหน่วยงานบริหารจัดการทรัพย์สินทางปัญญาจากผลงานการวิจัยและพัฒนาด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของ สวทช. โดยมีบทบาทในการส่งเสริม อนุญาต ให้ผู้ที่สนใจหรือบริษัทเอกชน ได้ใช้สิทธิเทคโนโลยีเพื่อประโยชน์เชิงพาณิชย์ แต่บางครั้งการนำงานวิจัยไปใช้ก็เกิดปัญหา เนื่องจากว่างานวิจัยบางชิ้น ยากที่จะทำให้เป็นผลิตภัณฑ์ที่ตรงกับความต้องการในเชิงพาณิชย์ได้ ดังนั้น เพื่อให้เกิดความสำเร็จในการนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ จึงต้องมีกิจกรรมที่ช่วยส่งเสริมให้เกิดความเป็นไปได้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมขึ้นจากงานวิจัย อย่างเช่นการประกวดแผนธุรกิจครั้งนี้ ดร.เอ็ดเวิร์ด รูเบช รักษาการผู้อำนวยการสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยี (TLO) กล่าวว่า การแข่งขันแนวความคิดทางธุรกิจเป็นหนึ่งใน “โครงการ Lab to Market” ซึ่งเป็นโครงการที่ TMC จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและกระตุ้นให้มีการนำผลงานวิจัยไปใช้ในเชิงพาณิชย์มากขึ้น โดยโครงการดังกล่าวประกอบด้วย 3 กิจกรรมหลัก ได้แก่ กิจกรรม “ค่ายฝึกอบรม Lab to Market Boot Camp” ซึ่งจัดเสร็จสิ้นไปแล้วเมื่อเดือนสิงหาคม 2551, กิจกรรม “การแข่งขันแนวความคิดทางธุรกิจ” หรือ Idea to Product ที่เพิ่งจัดผ่านไป และกิจกรรม “NSTDA Technopreneurship Prizes” ที่เป็นการมอบรางวัลพิเศษให้แก่ทีมที่เข้าถึงรอบสุดท้ายของการแข่งขันแผนธุรกิจชั้นนำของประเทศที่มีการนำเทคโนโลยีของ สวทช. ไปใช้ในการแข่งขัน “การแข่งขันแนวความคิดทางเทคโนโลยี จากงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์-รอบภูมิภาคเอเชีย” ประกอบด้วยทีมนักศึกษาในสาขาธุรกิจและนักวิจัย 20 ทีม จากประเทศในภูมิภาคเอเชีย อาทิ อินเดีย ไต้หวัน และไทย เป็นต้น โดยแต่ละทีมจะนำเสนอแผนธุรกิจ ซึ่งจะอธิบายประโยชน์ที่เกิดจากการใช้เทคโนโลยี และกลุ่มเป้าหมายที่จะได้รับประโยชน์หรือคุณค่านั้น โดยในวันศุกร์ที่ 19 ธันวาคม 2551 ที่ผ่านมา เป็นการแข่งขันรอบชิงชนะเลิศ เพื่อเฟ้นหาตัวแทนภูมิภาคไปแข่งขันในระดับโลกที่ประเทศสหรัฐอเมริกาต่อไป ซึ่งเป็นที่น่ายินดีว่า เยาวชนไทยเป็นผู้คว้ารางวัลชนะเลิศมาได้ ทีมที่ชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Castor&Pollux จากสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วย นายธนาพัทธ์ เลาหวิศิษฏ์, นางสาวพัชรินทร์ ประทีปธรรม, นายสรดิเทพ ศุภจรรยา, นายฐานันดร์ สุทธิพงศ์ไมตรี และ นายกษมา รักเพชรมณี นายธนาพัทธ์ เลาหวิศิษฏ์กล่าวถึงสาเหตุที่ทีมเข้าประกวดแผนธุรกิจในครั้งนี้ว่า การประกวดแผนธุรกิจจะเป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการระดมทุนจากนักลงทุน ซึ่งสนใจในงานวิจัยที่มีความเป็นไปได้ โดยจะทำให้มีการนำเทคโนโลยีดังกล่าวไปพัฒนาต่อเนื่อง จนเกิดเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่ายได้จริง ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนของประเทศ “ส่วนสาเหตุที่เลือกทำแผนธุรกิจเกี่ยวกับชุดตรวจโรคฉี่หนู เนื่องจากชุดตรวจที่มีใช้กันในปัจจุบัน มีความยุ่งยากเพราะเป็นการตรวจแอนติบอดีในระบบภูมิคุ้มกัน หากคนไข้ยังไม่มีอาการมากก็ยากที่จะตรวจพบ และใช้เวลาในการวินิจฉัยนานถึง 7 วัน ทำให้กว่าจะทราบผลว่า คนไข้ที่มารับการวินิจฉัยนั้น เป็นโรคฉี่หนูจริงหรือไม่ คนไข้คนนั้นก็อาจจะมีอาการรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตแล้ว นอกจากนี้ การตรวจแบบเดิมยังต้องทำโดยผู้เชี่ยวชาญ และทำในห้องปฏิบัติการที่มีเครื่องมือครบครันเท่านั้น ทีมของเราจึงคิดทำแผนธุรกิจเพื่อจำหน่ายชุดตรวจโรคฉี่หนูที่มีต้นทุนต่ำ ทำงานได้รวดเร็ว และมีประสิทธิภาพ” นายธนาพัทธ์กล่าวว่า “ชุดตรวจของเรานั้นใช้นาโนเทคโนโลยีที่ราคาไม่แพง เป็นการตรวจหาโปรตีนที่อยู่ในเชื้อที่ก่อโรคฉี่หนู ซึ่งหากพบโปรตีนดังกล่าวในน้ำเลือดของคนไข้ ก็สามารถวินิจฉัยได้ทันทีว่า คนไข้เป็นโรคฉี่หนู ซึ่งสามารถทราบผลได้ภายในเวลาไม่ถึง 1 ชั่วโมง และสามารถตรวจพบโปรตีนนี้ได้ภายในเวลา 3 วันของการติดเชื้อ โดยไม่ต้องรอให้คนไข้แสดงอาการมากๆ เสียก่อนเหมือนแบบเดิม จึงสามารถรักษาคนไข้ได้ทันเวลา โดยขั้นตอนการตรวจ ก็เพียงนำน้ำเลือดของคนไข้มาสกัดให้ได้น้ำเหลือง แล้วนำน้ำเหลืองมาหยดในน้ำยาที่คิดค้นขึ้นพิเศษโดย ดร. อมรพันธ์ เสรีมาศพันธุ์ จากนั้นนำน้ำยาไปปั่นดูการตกตะกอน หากมีการตกตะกอน แสดงว่าคนไข้เป็นโรคฉี่หนู ซึ่งจะเห็นว่าชุดตรวจของเรามีจุดเด่นตรงที่ สามารถตรวจได้เร็วขึ้น ไม่ต้องใช้เครื่องมือที่ยุ่งยาก และบุคลากรทางการแพทย์ทั่วไป ไม่ต้องเป็นผู้เชี่ยวชาญ ก็สามารถตรวจได้ ทำให้ช่วยคนไข้ไว้ได้ทันท่วงที และนอกจากความสะดวกในการใช้งานแล้ว ราคาก็ยังถูกกว่าชุดตรวจที่นำเข้าจากต่างประเทศถึงร้อยละ 60 อีกด้วย” รศ. ดร.สมชายกล่าวว่า “การจัดแข่งขันขึ้นที่ สวทช. ครั้งนี้ นักวิจัยได้มีโอกาสเข้ามาฟังแผนธุรกิจต่างๆ ทำให้รู้ว่าจริงๆ แล้วตลาดของผลิตภัณฑ์ที่จะเกิดจากงานวิจัยคืออะไร ผู้ใช้หรือผู้บริโภคต้องการอะไร ซึ่งช่วยให้สามารถกลับไปพัฒนางานวิจัยได้ตรงกับตลาดความต้องการของผู้ใช้มากขึ้น นอกจากนี้ยังทำให้นักวิจัยจากแหล่งอื่นและนักลงทุนได้ทราบว่า สวทช. มีผลงานวิจัยอะไรบ้าง ซึ่งผลงานวิจัยหลายชิ้นนั้นเป็นประโยชน์มาก สามารถสร้างความยั่งยืนทางเศรษฐกิจให้กับประเทศได้ และคิดว่าน่าจะมีการจัดอย่างต่อเนื่อง เพราะผลตอบรับครั้งนี้ดีมาก กรรมการบางท่านก็ให้ความสนใจในแผนธุรกิจที่ส่งเข้าประกวด สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เองก็มีความสนใจที่จะให้ทั้ง 20 ทีมนี้ไปนำเสนอแผนธุรกิจที่ ส.อ.ท. เพราะจะได้เชิญนักลงทุนรายใหญ่ๆ ให้มาฟังด้วย ซึ่งเรื่องนี้คงต้องมีการพูดคุยในรายละเอียดกันต่อไป” หากสามารถผลิตชุดตรวจโรคฉี่หนูนี้ออกมาสู่เชิงพาณิชย์ได้จริง จะทำให้มีการนำไปใช้อย่างแพร่หลาย แม้แต่ในสถานีอนามัย หรือถิ่นทุรกันดาร ซึ่งจะช่วยประหยัดเวลาของคนไข้ในการเดินทางเข้าไปตรวจในโรงพยาบาลประจำจังหวัด ประหยัดค่าใช้จ่าย ที่สำคัญอาจจะช่วยรักษาชีวิตของคนไข้ไว้ด้วยก็ได้ จึงนับว่าแผนธุรกิจของเยาวชนไทยกลุ่มนี้ จะช่วยทำให้การแพทย์และสาธารณสุขของไทยสามารถพัฒนาไปได้อย่างยั่งยืน งานประชาสัมพันธ์ ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี โทร. 0 2564-7000 ต่อ 1476-8 www.tmc.nstda.or.th สอบถามเพิ่มเติม ติดต่อ : คุณธณาพร (เอ็ม), คุณสุธิดา (ไก๋) โทร. 0 2270 1350-4 ต่อ 104-105 มือถือ 08 6612 0912, 08 5930 7166 อีเมล: prtmc@yahoo.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ