สช. นัดสภาวิชาชีพถกแนวทางปฏิบัติขอใช้สิทธิปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต

ข่าวทั่วไป Monday January 26, 2009 17:40 —ThaiPR.net

Bangkok--26 Jan--สช. วันนี้ (26 มกราคม 2552 ) สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ (สช.) ร่วมกับศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ จัดเวทีเสวนา “พิจารณาร่างกฎกระทรวงการดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาไม่ประสงค์จะรับบริการสาธารณสุข” ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 โดยมีสภาวิชาชีพ เช่น แพทยสภา สภาการพยาบาล และ เครือข่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย เช่น อาสาสมัครข้างเตียง แพทย์พยาบาลที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง มาร่วมประชุมเพื่อหาแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสมกับทุกฝ่าย นพ.อำพล จินดาวัฒนะ เลขาธิการคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ กล่าวว่า สช.ได้รับความร่วมมือจากศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ ศึกษาแนวทางการจัดทำกฎกระทรวงเพื่อดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต ซึ่งปีที่ที่ผ่านมาทางศูนย์ฯ ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อแนวทาง การยกร่างกฎกระทรวงดังกล่าวมาเป็นระยะ และขณะนี้ได้ยกร่างกฎกระทรวงออกมาแล้ว ดังนั้นก่อนที่ สช. จะเสนอเข้าสู่การพิจารณาของ คสช. และ ครม. จึงต้องนำมาให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องมาพิจารณากฎกระทรวงที่ยกร่างขึ้นมา ให้ช่วยกันพิจารณาให้รอบคอบก่อนที่จะประกาศใช้เพื่อให้ไม่มีปัญหาในทางปฎิบัติ และเพื่อให้ตรงกับเจตนารมณ์ของ พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ ที่ให้สิทธิกับทุกคนสามารถตัดสินใจเกี่ยวกับการรับการรักษาพยาบาล ได้ด้วยตนเอง ในขณะที่ไม่อยู่ในสภาพที่สามารถตัดสินใจได้ หนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาฉบับนี้ จะสามารถช่วยทำให้การตัดสินใจของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องดีขึ้น “สิทธิปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต ตาม พ.ร.บ.สุขภาพแห่งชาติ มาตรา 12 ประชาชนสามารถทำหนังสือแสดงเจตนารมณ์ได้เลยโดยไม่ต้องรอให้มีกฎกระทรวง แต่กฎกระทรวงจะช่วยให้แนวทางการทำหนังสือและสำคัญคือ ให้แนวทางการปฏิบัติของแพทย์ พยาบาล ตามหนังสือแสดงเจตนารมณ์ได้อย่างชัดเจนและสะดวกยิ่งขึ้น กรณีของคุณยอดรัก สลักใจ นั้น ท่านได้แสดงเจตนาที่จะปฏิเสธการรักษาด้วยวาจา ไม่ได้แสดงโดยหนังสือ แต่ทุกฝ่ายไม่ว่าญาติ แพทย์ผู้รักษา และสื่อมวลชนทุกฝ่ายทราบและตระหนักถึงเจตนารมณ์และได้ปฏิบัติตามเจตนารมณ์ข้างต้นด้วยดี ” นายแพทย์อำพล กล่าว ด้าน ศ.แสวง บุญเฉลิมวิภาส ผู้อำนวยการศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงวัตถุประสงค์ของร่างกฎกระทรวงคือ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในเนื้อหาที่ควรระบุแนวทางการจัดทำหนังสือแสดงเจตนาให้แก่บุคคลทั่วไป และกำหนดสิทธิ บทบาทหน้าที่ของผู้ทำหนังสือแสดงเจตนาของผู้ป่วย แพทย์ พยาบาล สถานพยาบาล รวมทั้งผู้เกี่ยวข้อง อาทิ ญาติของผู้ป่วย บุคคลใกล้ชิด ซึ่งจะทำให้การดำเนินการตามหนังสือแสดงเจตนาเป็นไปด้วยความเรียบร้อย และสามารถปรับใช้ในทางปฏิบัติ โดยผู้ป่วยยังคงได้รับการดูแลจากแพทย์อยู่ ศูนย์กฎหมายสุขภาพฯ จะจัดทำเอกสารแนะนำการทำหนังสือแสดงเจตนาเผยแพร่ในวงกว้าง ร่วมมือกับเครือข่ายพุทธิกาและภาคีสุขภาพในการขยายความร่วมมือกับกลุ่มแพทย์ พยาบาลที่ให้การดูแลผู้ป่วยในโรงพยาบาล โดยเฉพาะผู้ป่วยสูงอายุ ผู้ป่วยที่ไม่สามารถรักษาให้หายได้ รวมทั้งผู้ป่วยระยะสุดท้ายด้วย การประชุมหารือในวันนี้สภาวิชาชีพ และเครือข่ายดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย ให้ความเห็นกันอย่างกว้างขวาง ทั้ง ชื่อกฎกระทรวง วิธีการเขียนหนังสือแสดงเจตนาปฏิเสธการรักษาในวาระสุดท้ายของชีวิต และแนวทางปฏิบัติที่เหมาะสม อย่างไรก็ตามการมีกฎกระทรวงฉบับนี้ขึ้นมาเพื่อต้องการให้ทุกฝ่ายมีความสุข เป็นไปตามเจตนารมณ์ของกฎหมายที่ต้องการเสริมความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ป่วยและญาติ กับแพทย์ ซึ่งศูนย์กฎหมายสุขภาพและจริยศาสตร์รับข้อเสนอทั้งหมดเพื่อแก้ไขให้ครอบคลุม และไม่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติในอนาคต โดยทางศูนย์ฯ จะนำกลับมาเสนอต่อที่ประชุมอีกครั้งในวันที่ 11 กุมภาพันธ์นี้ ผู้ประสานงานข่าว : พลินี เสริมสินสิริ 02-590-2307 / 089-775-9281 Download ภาพและเสียงได้ที่ www. healthstation.in.th

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ