ก.ไอซีที พร้อมสนับสนุนโทรคมนาคมไทยสู่โครงข่ายสมัยใหม่ NGN

ข่าวเทคโนโลยี Friday January 30, 2009 10:21 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--30 ม.ค.--ก.ไอซีที นายธานีรัตน์ ศิริปะชะนะ ผู้ตรวจราชการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยภายหลังการเป็นประธานในพิธีเปิดงานและบรรยายพิเศษ งานสัมมนา “การพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยในอนาคตที่เกี่ยวกับโครงข่ายสมัยใหม่ “NGN Broadband Development and Implementation” ว่า ในอนาคตการให้บริการด้านโทรคมนาคมจำเป็นต้องมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านสถาปัตยกรรมโครงข่ายใหม่ โดยจะมีการรวมเอา Voice Network และ Data Network เข้าไว้เสมือนเป็นโครงข่ายเดียวกัน เพื่อให้เกิดการบริการที่หลากหลาย มีความรวดเร็ว รวมทั้งช่วยลดต้นทุนให้ต่ำลงและทำให้เกิดความสามารถในการแข่งขันเพื่อประโยชน์ของผู้บริโภค Next Generation Network หรือ NGN ถือเป็นโครงข่ายสมัยใหม่ที่จะเข้ามาปฏิวัติสถาปัตยกรรมโครงข่ายโทรคมนาคมหลัก (Telecommunication Core Network) ตลอดจนวิธีการเข้าถึงโครงข่าย (Access Network) ที่จะเริ่มแปรเปลี่ยนโครงข่ายโทรคมนาคมทั่วโลกจากระบบ Analog ไปสู่โลกแห่ง Digital ซึ่งรวมถึงในประเทศไทยด้วย โดยรัฐบาลปัจจุบันได้มีการกำหนดนโยบายเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ทั้งนโยบายการพัฒนาโครงข่ายสื่อสารโทรคมนาคมพื้นฐานให้ครอบคลุมทั่วประเทศ และสร้างโอกาสในการเข้าถึงบริการสื่อสารอย่างเท่าเทียม นโยบายการพัฒนาบริการสื่อสารที่ทันสมัย เพื่อรองรับความต้องการของภาคธุรกิจและการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ และนโยบายการพัฒนาอุตสาหกรรมเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งด้าน Software และ Hardware รวมทั้งการพัฒนาศักยภาพของบุคลากรเพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลางด้าน ICT ในภูมิภาค ซึ่งในแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศไทย ฉบับที่ 2 ได้ระบุให้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารโทรคมนาคม ไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 3 และการพัฒนาอุตสาหกรรม ICT เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของประเทศ ไว้ในยุทธศาสตร์ที่ 6 ด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงนโยบายรัฐที่ต้องการให้ประเทศไทยเป็นผู้นำด้านไอซีทีของภูมิภาค “ดังนั้น ในช่วงรอยต่อปีพ.ศ. 2552 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร จึงให้ความสำคัญในการพัฒนาและกำหนดแนวทางปฏิบัติไว้หลายด้าน คือ ด้านโครงสร้างพื้นฐาน มีเป้าหมายที่จะขยายโครงสร้างพื้นฐานด้านอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง หรือ Broadband Internet ให้ได้ 5 ล้านพอร์ต (port) ในปี พ.ศ. 2553 รวมทั้งประสานงานกับคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กทช. เพื่อติดตามและเร่งรัดการออกใบอนุญาตดำเนินกิจการโทรศัพท์เคลื่อนที่ 3G ตลอดจนใบอนุญาตในเรื่อง WIMAX และโครงข่ายสมัยใหม่ หรือ NGN รวมถึงวางแนวทางการพัฒนาศึกษาและวิจัยในเรื่อง Long Term Evaluation หรือ LTE ในอนาคต” นายธานีรัตน์ กล่าว ส่วนด้านกฎหมาย นอกจากกฎหมายที่มีข้อบังคับใช้แล้ว และร่างกฎหมายที่รอการพิจารณาจากสภาฯ ยังมีกฎหมายไอซีที เพื่อเตรียมพัฒนาประเทศให้ก้าวไปสู่สังคมสารสนเทศที่ต้องมีการผลักดัน ทั้งกฎหมายเกี่ยวกับการโอนเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการในการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ภาครัฐ กฎหมายว่าด้วยการกำกับดูแลธุรกิจบริการ การให้บริการออกใบรับรองอิเล็กทรอนิกส์ (Certification Authority หรือ CA) และกฎหมายการประกอบกิจการไปรษณีย์ “สำหรับด้านเวทีระหว่างประเทศ ที่จะมีการเลือกตั้งสมาชิกของสภาบริหาร สหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ หรือ ITU ที่ประเทศไทยได้เป็นสมาชิกสภานี้มาแล้ว 7 สมัย ต่อเนื่องกัน จึงควรจะได้เตรียมการหาเสียงเรื่องนี้ไว้แต่เนิ่นๆ เพื่อเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศ และในปี พ.ศ. 2554 จะมีการประชุมวิทยุโลกของ ITU ซึ่งเรียกว่า World Radio Conference 2011 เพื่อจัดสรรคลื่นความถี่วิทยุให้แก่กิจการต่างๆ กระทรวงฯ จึงต้องเตรียมแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมกับ กทช. เพื่อเตรียมการในเรื่องนี้ซึ่งเป็นการปกป้องผลประโยชน์ของประเทศไทย นอกจากนี้ยังมีด้านทรัพยากรมนุษย์ ที่กระทรวงฯ จะต้องเร่งสร้างบุคลากรด้านโทรคมนาคมให้เพียงพอ รวมทั้งต้องมีการลดช่องว่างด้านดิจิตอล ด้วยการจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ICT ชุมชน เพื่อให้ประชาชนสามารถเข้าถึงเทคโนโลยีสมัยใหม่ และสามารถเข้าถึงอินเทอร์เน็ต เพื่อค้นหาข้อมูลข่าวสาร อันเป็นการพัฒนาสังคมไทยให้ก้าวไปสู่สังคมแห่งการเรียนรู้ และกระทรวงฯ ยังให้ความสำคัญในด้าน Green IT เนื่องจากปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์ อาทิ เครื่องคอมพิวเตอร์ ชิ้นส่วนอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆ ตลับหมึกที่ใช้จนหมด ล้วนเป็นขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่นับวันจะก่อให้เกิดปัญหาต่อผู้ใช้และสังคม กระทรวงฯ จึงให้ความสำคัญในการจัดเก็บและทำลาย รวมทั้งการนำของเหล่านี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อไปด้วย” นายธานีรัตน์ กล่าว สำหรับงานสัมมนา “การพัฒนากิจการโทรคมนาคมของประเทศไทยในอนาคตที่เกี่ยวกับโครงข่ายสมัยใหม่ NGN Broadband Development and Implementation” นี้ จัดขึ้นโดยสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และสมาคมโทรคมนาคมแห่งประเทศญี่ปุ่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ความรู้แก่สมาชิกและประชาชนทั่วไป ตลอดจนเป็นการแลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับความก้าวหน้าด้านโทรคมนาคมของไทยและญี่ปุ่น ซึ่งถือเป็นส่วนสำคัญประการหนึ่งในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสารโทรคมนาคมของประเทศไทย สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ทวิติยา เบอร์โทรศัพท์ : 02-5682453

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ