สสส. จัดงาน “วันเด็ก” รักษ์สุขภาพ หนุนเยาวชนไม่กินหวาน-ต้านน้ำอัดลม

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2009 14:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.-- จากการสำรวจพฤติกรรมการบริโภคขนมและอาหารว่างของเด็กและเยาวชนของสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดแพร่ในปี พ.ศ. 2546 พบว่า เด็กๆ ชอบกินขนมกรุบกรอบมากเป็นอันดับ 1 รองลงมาคือน้ำอัดลม ส่งผลให้เด็กวัย 12 ปี ร้อยละ 70 ฟันผุมากถึง 6 ซี่ต่อคน ซึ่งพฤติกรรมการบริโภคที่ไม่ถูกต้องในลักษณะนี้อาจส่งผลต่อสุขภาพ โดยก่อให้เกิดโรคอ้วน เบาหวาน ความดันโลหิตสูง และโรคหัวใจได้ในอนาคต กลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จังหวัดแพร่ จึงได้จัดทำ “เครือข่ายเด็กแพร่ไม่กินหวาน” โดยร่วมกับสถานศึกษา และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดกิจกรรมเพื่อปรับพฤติกรรมเด็กให้ลดการบริโภคขนมกรุบกรอบ น้ำอัดลม ซึ่งมีส่วนผสมของน้ำตาลสูง โดยมี สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ให้การสนับสนุน ทันตแพทย์หญิงจันทนา อึ้งชูศักดิ์ ผู้จัดการแผนงานรณรงค์เพื่อเด็กไทยไม่กินหวาน สสส. เปิดเผยว่า การให้ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโทษของการกินหวานเป็นวิธีการหนึ่งในการที่จะช่วยลดการบริโภคน้ำตาลในเด็กได้ แต่สำหรับเด็กเล็กๆ ที่ยังไม่สามารถตัดสินใจเลือกรับประทานอาหารด้วยตนเองได้อย่างถูกต้องนั้น การจัดการสิ่งแวดล้อมรอบๆ โรงเรียนและชุมชนให้ปลอดขนมหวานเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยสนับสนุนความรู้ที่เด็กได้รับจากโรงเรียน “การที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้เข้าเป็นแนวร่วมในการจัดการสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสมให้แก่เด็ก ด้วยการกำหนดพื้นที่ปลอดขนมหวานในเขตโรงเรียนและชุมชน จะช่วยส่งเสริมให้โครงการประสบความสำเร็จได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยในปี 2552 มีองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 40 แห่ง ใน 20 จังหวัดทั่วประเทศ เข้าร่วมเป็นเครือข่ายเพื่อรณรงค์ลดการบริโภคน้ำตาลในเด็ก เนื่องจากเล็งเห็นถึงความสำคัญของดูแลสุขภาพตั้งแต่อายุยังน้อย ซึ่งจะเป็นการปูทางให้เขาได้โตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรงต่อไปในอนาคต” ทันตแพทย์หญิงจันทนากล่าว ด้าน ทันตแพทย์หญิงสุขจิตตรา วนาภิรักษ์ หัวหน้ากลุ่มงานทันตสาธารณสุข สำนักงานสาธารณสุข จ.แพร่ เปิดเผยว่า จากปัญหาฟันผุอย่างรุนแรงที่เกิดขึ้นในเด็กแพร่ ก่อให้เกิดการรวมกลุ่มเครือข่ายเด็กแพร่ไม่กินหวานในปี พ.ศ.2547 โดยร่วมกับโรงเรียนและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่เห็นความสำคัญในการพัฒนาสุขภาพของเด็ก โดยร่วมกันวางแผนการทำงานต่างๆ เพื่อป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น “โรงเรียนที่เข้าร่วมเครือข่ายเด็กแพร่ไม่กินหวาน จะมีการจัดกระบวนการเรียนการสอน โดยเน้นให้เด็กๆ ได้เรียนรู้โทษของการกินหวานจากการปฏิบัติจริง เช่น การทดลองทางวิทยาศาสตร์ ที่จะชี้ให้เห็นว่าน้ำอัดลมมีผลเสียอย่างไร เด็กก็จะเกิดความตระหนักด้วยตนเอง แต่ปัญหาที่สำคัญที่ทำเด็กยังชื่นชอบการบริโภคอาหารเหล่านี้ก็คือ สื่อโฆษณาต่างๆ ที่กระตุ้นให้เกิดความอยากลองรับประทาน อีกทั้งพ่อค้าแม่ค้าก็มักจะหาขนมในโฆษณามาขาย หวังเพิ่มกำไรโดยไม่คำนึงถึงสุขภาพของเด็ก ดังนั้นการจัดพื้นที่ทั้งในโรงเรียนและในระดับชุมชนให้มีสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อสุขภาพของเด็กจึงเป็นสิ่งสำคัญ ที่ทุกหน่วยงานต้องเข้ามามีส่วนร่วม” ทันตแพทย์หญิงสุขจิตตรากล่าว ปัจจุบันจังหวัดแพร่ได้ประกาศนโยบายโรงเรียนและศูนย์เด็ก ปลอดน้ำอัดลม ลูกอม ขนมกรุบกรอบ ให้เป็นนโยบายสาธารณะเรียบร้อยแล้ว ทำให้แนวทางการทำงานของเครือข่ายเด็กแพร่ไม่กินหวาน สามารถดำเนินไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ ในขณะเดียวกันองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งที่มีนโยบายในการพัฒนาคุณภาพชีวิตและการศึกษาของเยาวชน ก็ได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเครือข่ายเด็กแพร่ไม่กินหวานอย่างจริงจัง โดยนำแนวคิดการทำงานแบบมีส่วนร่วมมาประยุกต์ใช้ในกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น องค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อ อ.เมือง จ.แพร่ เป็นอีกตำบลหนึ่งที่ให้การสนับสนุนเครือข่ายเด็กแพร่ไม่กินหวาน โดยได้มีการประกาศนโยบายพร้อมสนับสนุนงบประมาณให้แก่โรงเรียนและชุมชน และกระตุ้นให้ชุมชนได้ร่วมทำกิจกรรมกับโรงเรียนในการรณรงค์ไม่กินหวานให้แก่เด็กด้วย ซึ่ง นายบัญชา บรรเลง นายกองค์การบริหารส่วนตำบลเหมืองหม้อ เปิดเผยว่าทาง อบต.ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาศักยภาพของคน หากเยาวชนซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของชาติในอนาคตมีสุขภาพพลานามัยที่แข็งแรง ก็จะทำให้เกิดการเรียนรู้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยในปีนี้ทาง อบต.ได้ให้การสนับสนุนงบประมาณอย่างเต็มที่แก่โรงเรียนในพื้นที่จำนวน 4 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนชุมชนบ้านเหมืองหม้อ, โรงเรียนบ้านปทุม, โรงเรียนบ้านกาซ้อง และโรงเรียนวัดเหมืองค่า ในการจัดกิจกรรมเพื่อส่งเสริมโภชนาการที่ดีให้แก่เด็กนักเรียน นายจักรพันธ์ รอดทุกข์ ที่ปรึกษาสภาเด็กและเยาวชน ต.เหมืองหม้อ เปิดเผยว่า ทาง อบต.เหมืองหม้อ ได้ส่งเสริมให้ชุมชนได้ทำงานร่วมกับโรงเรียนผ่านทางกิจกรรมต่างๆ ที่จัดขึ้น เช่น งานสัปดาห์วิชาการ งานกีฬา หรืองานรื่นเริงต่างๆ โดยงานวันเด็กในปีที่ผ่านมาทาง อบต.ได้ประกาศใช้นโยบายชุมชนห้ามขายน้ำอัดลม ขนมกรุบกรอบในบริเวณงาน แล้วเปิดโอกาสให้พ่อค้าแม่ค้านำขนมไทยและอาหารที่มีประโยชน์มาขายแทน ซึ่งในงานแม้จะขาดน้ำอัดลมหรือขนมกรุบกรอบ แต่เด็กๆ ก็ยังมีความสนุกสนานเหมือนเดิม “วันเด็กปีนี้ทางสภาเด็กและเยาวชนฯ ได้รับการสนับสนุนจาก อบต. เป็นขนมไทยจากภูมิปัญญาในท้องถิ่น ซึ่งจะมีผู้เฒ่าผู้แก่มาสาธิตการทำขนมให้เด็กด้วย และยังได้ประกาศงดรับของแจกประเภทขนมกรุบกรอบและน้ำอัดลมจากสปอนเซอร์รายต่างๆ โดยแจ้งว่าหากต้องการสร้างความสุขให้เด็กก็ขอเปลี่ยนเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และคุณค่าทางโภชนาการเท่านั้น และภายในงานวันเด็กปี 2552 นี้ทั้งเด็กนักเรียน ผู้ปกครอง และผู้ร่วมงานทุกคนจะได้กล่าวคำปฏิญาณตนขอทำดีเพื่อพ่อ ไม่ง้อขนมหวาน ร่วมกันอีกด้วย” นายจักรพันธ์ระบุ การทำงานอย่างมีส่วนร่วมของทุกฝ่ายในจังหวัดแพร่ได้ส่งผลให้เกิดเป็นการประสานการทำงานในเชิงรุกที่สามารถป้องกัน และแก้ไขปัญหาอันเกิดจากการกินหวานได้อย่างเป็นระบบครบทุกองค์ประกอบ อีกทั้งยังสร้างให้เด็กๆ เกิดความตระหนักและใส่ใจในการดูแลรักษาสุขภาพของตัวเอง ครอบครัว และชุมชน ภายใต้สภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อการดูแลรักษาสุขภาพอย่างแท้จริง.

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ