รมช.ประดิษฐ์ กำชับกรมศุลกากรเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้

ข่าวทั่วไป Tuesday February 10, 2009 15:57 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--10 ก.พ.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง วันนี้ (วันที่ 10 กุมภาพันธ์ 2552) เวลา 13.30 น. นายประดิษฐ์ ภัทรประสิทธิ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้าร่วมประชุมกับผู้บริหารกรมศุลกากร เพื่อหารือปัญหาและอุปสรรคการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร ณ ห้องประชุมอนุมานราชธน กรมศุลกากร รมช.ประดิษฐ์ฯ กล่าวว่า ตามที่ได้มอบหมายให้กรมศุลกากรเร่งดำเนินการจัดเก็บรายได้ศุลกากร ในปีงบประมาณ 2552 ให้ได้ตามเป้าหมาย จำนวน 99,600 ล้านบาทนั้น ผลการจัดเก็บรายได้ของศุลกากร ในช่วง 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ต.ค. 51-ม.ค. 52) ต่ำกว่าประมาณการ 3,837.3 ล้านบาท หรือร้อยละ -11.24 (จัดเก็บได้จำนวน 30,312.7 ล้านบาท ประมาณการ 34,150 ล้านบาท) และต่ำกว่าระยะเวลาเดียวกันของปีก่อน 2,990.7 ล้านบาท (-8.98 %) โดยเฉพาะการจัดเก็บรายได้ในเดือนมกราคม 2552 กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 6,135.22 ล้านบาท จัดเก็บได้ต่ำกว่าประมาณการ 2,114.78 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 25.63 (ประมาณการ 8,250 ล้านบาท) และต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อน จำนวน 2,296.461 ล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 27.25 (มกราคม 2551 จัดเก็บได้ 8,433.681 ล้านบาท) โดยกรมศุลกากรจัดเก็บรายได้จากการนำเข้า-ส่งออกให้หน่วยงานอื่น รวม 15,870.405 ล้านบาท ได้แก่ ภาษีมูลค่าเพิ่ม 12,304.899 ล้านบาท ภาษีสรรพสามิต 2,055.464 ล้านบาท และภาษีเพื่อมหาดไทย 1,510.042 ล้านบาท สาเหตุหลักของการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากรต่ำกว่าประมาณการในช่วงที่ผ่านมาเนื่องจาก มูลค่าการนำเข้าเดือนมกราคมหดตัวอย่างรุนแรง ต่อเนื่องจากเดือนธันวาคมที่ผ่านมา (-3.11 %) โดยข้อมูลการนำเข้าเบื้องต้นของเดือนมกราคม (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ.52) มีมูลค่า 299,239 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน 194,542 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ - 39.4 ) ซึ่งการนำเข้าที่หดตัวอย่างรุนแรงนี้ เป็นผลจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลง ส่งผลต่อเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย เช่น สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และจีน หดตัวตาม และส่งผลต่อความต้องการสินค้านำเข้า ทำให้การส่งออกในภาพรวมของไทยชะลอตัวตาม โดยในเดือนพ.ย. และ ธ.ค. ที่ผ่านมาอัตราการเติบโตของการส่งออกลดลง ร้อยละ 20.47 และ 14.56 (ในรูปสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ) ตามลำดับ เมื่อการผลิตสินค้าเพื่อส่งออกลดลงทำให้การนำเข้าสินค้าวัตถุดิบในการผลิตชะลอตัวตาม รวมทั้งผลกระทบของการปรับลดอัตราอากรสินค้านำเข้าบางรายการ ตามข้อผูกพันการค้าเสรี ซึ่งมีผลตั้งแต่ ม.ค. 52 เช่น การลด ยกเว้นอากรขาเข้า ตามข้อผูกพันทางการค้า เช่น ไทย- ออสเตรเลีย (เช่น ปาล์มสเตียรินดิบ จากอัตราอากรร้อยละ 6 เป็นยกเว้นอากร กระดาษบางประเภท ส่วนประกอบอุปกรณ์ประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าอุปกรณ์ตัดต่อ จากอัตราอากรร้อยละ 5 เป็นยกเว้นอากร เป็นต้น) อาเซียน-จีน (เช่น เครื่องจักรสำหรับบรรจุขวด ปิดผนึกฯ จากอัตราอากรร้อยละ 5 เป็นยกเว้นอากร ยานยนต์สำหรับขนส่งของบางประเภท ลวดทำด้วยเหล็กหรือเหล็กกล้าไม่เจือ จากอัตราร้อยละ 12 ลดลงเหลือร้อยละ 5 เป็นต้น สำหรับ ข้อผูกพันทางการค้า ไทย-ญี่ปุ่น (JTEPA) เป็นการลดอย่างต่อเนื่องในพิกัดสินค้าประมาณ 5,000 กว่ารายการ ซึ่งหากเปรียบเทียบอัตราอากรที่ลดลงจะลดลงในช่วงร้อยละ 0.13ถึงร้อยละ 13.34 อย่างไรก็ตาม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังก็ได้กำชับให้กรมศุลกากรจัดเก็บรายได้ให้ได้ตามเป้าหมาย และเข้มงวดกวดขันในการตรวจสอบสินค้านำเข้า-ส่งออก ป้องกันและปราบปรามสินค้าหนีภาษี สินค้าที่ลักลอบนำเข้า-ส่งออกผ่านทางด่านชายแดน และท่าที่มีการนำเข้า-ส่งออกสินค้าทั่วประเทศ รวมทั้งเร่งรัดการจำหน่ายของกลางและของตกค้างเพิ่มขึ้น สำหรับผลการป้องกันและปราบปรามสินค้าลักลอบและหลีกเลี่ยงศุลกากร ใน 4 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2552 (ต.ค.51-ม.ค.52) กรมศุลกากรสามารถจับกุมสินค้าลักลอบหนีศุลกากรได้ทั้งสิ้น 1,585 ราย มูลค่า 464.46 ล้านบาท สินค้าหลีกเลี่ยงศุลกากร 995 ราย มูลค่า 832.77 ล้านบาท รวมทั้งสิ้น 2,580 ราย มูลค่า 1,297.22 ล้านบาท โดยมีผลการจับกุมสินค้า(เรียงตามมูลค่า) 5 อันดับแรก ได้แก่ ประเภทสินค้า มูลค่า(บาท) แผ่นซีดี ดีวีดี 97,357,769 รถยนต์นั่งส่วนบุคคล 42,431,886 ยาเสพติด 19,150,331 เครื่องสำอาง 15,468,074 เรือยอร์ช 15,000,000

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ