แพทย์ศิริราชร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียฯ จัดฝึกอบรมการพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย

ข่าวทั่วไป Monday February 16, 2009 16:03 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--16 ก.พ.--คอร์ แอนด์ พีค โครงการพัฒนาระบบสุขภาพธาลัสซีเมีย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล ร่วมกับมูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยฯ จัดโครงการฝึกอบรมหลักสูตร การพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย เพื่อพัฒนาศักยภาพพยาบาลทั่วประเทศ และรองรับคลินิกธาลัสซีเมีย ในสถานบริการสาธารณสุขในส่วนภูมิภาคต่าง ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคต รศ.ดร.นพ. วิปร วิประกษิต แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโลหิตวิทยา ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยว่า โรคโลหิตจางทางพันธุกรรม หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ “โรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” เป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของประเทศไทย เนื่องจากประชากรชาวไทยมากกว่า 30% หรือ 20 ล้านคน มีภาวะแฝง (ยีนแฝง) ของโรคดังกล่าว และประมาณการว่ามีผู้ป่วยด้วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียไม่น้อยกว่า 1% หรือ 600,000 คนทั่วประเทศ ผู้ป่วยจะมีอาการซีดเรื้อรัง เหลือง ตับ ม้ามโต การเจริญเติบโตไม่สมอายุ มีการเปลี่ยนแปลงของกระดูกบาง และมีอายุขัยสั้น หากไม่ได้รับการดูแลและรักษาที่เหมาะสมเต็มที่ตามระดับความรุนแรงของโรค ถึงแม้ว่าในปัจจุบันจะมีความพยายามที่จะควบคุมป้องกันโรคดังกล่าว ด้วยการตรวจกรองหาภาวะแฝงในหญิงที่ตั้งครรภ์ และการวินิจฉัยคู่สมรสเสี่ยงเพื่อการวินิจฉัยทารกที่ป่วยด้วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแล้วก็ตาม กระบวนการดังกล่าวก็ต้องอาศัยปัจจัยด้านเวลา และความเข้าใจของสาธารณชนในวงกว้าง จึงจะสามารถประสบความสำเร็จได้ในระดับประเทศ ดังนั้นการพัฒนาการดูแลและรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียจึงมีความจำเป็น และมีความสำคัญที่จะต้องกระทำควบคู่กันไปกับโครงการควบคุมป้องกัน แม้ว่าในปัจจุบันจะมีความสำเร็จในการรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมียให้หายขาดด้วยการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิด (stem cell transplantation) แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายของการรักษาด้วยวิธีการดังกล่าว ทั้งในด้านจำนวนของผู้บริจาคไขกระดูกที่มีจำกัด ความเสี่ยงจากการรักษาที่ต้องใช้ยาเคมีบำบัด และค่าใช้จ่ายในการรักษา ดังนั้นวิธีการรักษาด้วยการให้เลือดเพื่อชดเชยภาวะซีด และทดแทนการทำงานของไขกระดูกที่ผิดปกติ จึงยังมีความสำคัญและจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งประมาณการว่ามีผู้ป่วยในประเทศไทยไม่ต่ำกว่า 50,000 ราย ที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยวิธีการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอ รศ.ดร.นพ. วิปร กล่าวว่า หลังจากที่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาลได้จัดตั้งคลินิกธาลัสซีเมียขึ้น เพื่อเป็นคลินิกต้นแบบในสถานบริการทางด้านสาธารณสุขในระดับต่าง ๆ และในส่วนภูมิภาคทั่วประเทศ เพื่อให้บริการให้เลือดอย่างสม่ำเสมอแก่ผู้ป่วยจำนวนมาก ไม่ต่ำกว่า 250 รายต่อปี มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2535 จึงมีองค์ความรู้และประสบการณ์เป็นอย่างสูง ในการดูแลรักษาผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ดังนั้นทางโครงการพัฒนาระบบสุขภาพธาลัสซีเมีย คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล จึงมีดำริร่วมกับ มูลนิธิโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียแห่งประเทศไทยฯ ในการจัดโครงการฝึกอบรม “หลักสูตรการพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” ขึ้น เพื่อสร้างความตระหนักถึงความจำเป็น ที่จะต้องมีการพัฒนาด้านบุคลากร โดยเฉพาะพยาบาลวิชาชีพ ให้มีความรู้ ความชำนาญ และมีศักยภาพในการให้บริการพยาบาลผู้ป่วยธาลัสซีเมียได้อย่างถูกต้องเหมาะสมและก้าวทันกับความก้าวหน้าของวิทยาการทางการแพทย์ใหม่ ๆ ในการรักษาโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียในปัจจุบัน รศ.ดร.นพ. วิปร กล่าวต่อว่า การดูแลรักษากับผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย นั้น จะต้องอาศัยบุคลากรที่มีความชำนาญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งพยาบาลวิชาชีพ ซึ่งจะมีบทบาทและเป็นหัวใจสำคัญ ในกระบวนการดูแลผู้ป่วยอย่างใกล้ชิด หลังจากได้รับการตรวจประเมินและสั่งการรักษาจากแพทย์ผู้ทำการรักษา ซึ่งพยาบาลจะต้องมีความรู้ความเข้าใจจากการอบรมไปปฏิบัติงานจริง ในการพัฒนาการพยาบาล ทั้งในด้านการให้เลือด ให้ยาขับเหล็กและคำแนะนำทางโภชนาการแก่ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย นอกจากนี้หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งของพยาบาล คือการสร้างศักยภาพในการทำงานร่วมกันกับแพทย์ผู้ทำการรักษา ในการดูแลรักษาและป้องกันปัญหาผลแทรกซ้อนของภาวะเหล็กเกินอย่างถูกต้อง ทราบถึงองค์ความรู้ใหม่ ๆ ที่เกี่ยวข้องกับยาขับเหล็กชนิดต่าง ๆ และสามารถให้คำแนะนำเรื่องการปฏิบัติตัวแก่ผู้ป่วยได้อย่างถูกต้อง ซึ่งการพัฒนาศักยภาพของพยาบาล จะเป็นปัจจัยสำคัญในการพัฒนา “คลินิกธาลัสซีเมีย” ตามแบบอย่างคลินิกต้นแบบของโรงพยาบาลศิริราช ในสถานบริการทางสาธารณสุขระดับต่าง ๆ และในส่วนภูมิภาคต่อไป สำหรับการจัดฝึกอบรม “หลักสูตรการพยาบาลเบื้องต้นผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมีย” จะมีการเปิดโอกาสให้บุคลากรในสายพยาบาลจากทั่วประเทศ ได้เข้าร่วมฝึกอบรมในวันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม 2552 เวลา 08.00 — 16.30 น. ณ โรงแรมพูลแมน คิงพาวเวอร์ กรุงเทพฯ ถนนรางน้ำ ผู้เข้ารับการอบรมจะได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาล (CCNE) สำหรับเครดิตการศึกษาต่อเนื่อง ให้กับพยาบาลทุกท่านที่เข้ารับการอบรมจำนวน 3.5 หน่วย ด้าน ผศ.พญ.กลีบสไบ สรรพกิจ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล เปิดเผยถึง แนวทางการปลูกถ่ายเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดหรือการปลูกถ่ายไขกระดูกในผู้ป่วยธาลัสซีเมีย ว่า ในปัจจุบันการปลูกถ่ายไขกระดูกเป็นวิธีเดียว ที่สามารถรักษาผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียให้มีโอกาสหายขาดได้ โดยเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด อาจเก็บได้จากญาติของผู้ป่วย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พี่น้องพ่อแม่เดียวกันกับผู้ป่วยถือเป็นผู้บริจาคที่ดีที่สุด เพราะจะมีโอกาสที่ลักษณะพันธุกรรมของเม็ดเลือดขาวหรือ เอช แอล เอ เหมือนกับผู้ป่วยประมาณ 25 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งสูงกว่าโอกาสจากผู้บริจาคคนอื่น ๆ แต่ถ้าผู้ป่วยไม่มีญาติพี่น้องที่มีลักษณะพันธุกรรม เอช แอล เอ เหมือนกัน สามารถหาผู้บริจาคเซลล์จากธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ซึ่งเป็นผู้บริจาคที่ไม่ใช่ญาติได้ โดยปัจจุบันประเทศไทยมีธนาคารเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดอยู่ที่ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย ซึ่งจัดตั้งขึ้นเพื่อรับบริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือดจากแหล่งต่าง ๆ ทั้งเลือดจากสายสะดือ ไขกระดูกและกระแสเลือดจากผู้บริจาค แต่มีโอกาสที่จะหาผู้บริจาคที่มีเอช แอล เอ ตรงกันกับผู้ป่วยได้น้อย ตามทฤษฎีประมาณว่าในประชากร 50,000 — 100,000 คน จะมีผู้บริจาคที่มี เอช แอล เอ ตรงกับผู้ป่วยเพียง 1 คน ทั้งนี้ ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดเม็ดเลือด ที่มีอยู่ในธนาคารและเชื้อชาติของประชากรในที่นั้น ดังนั้นถ้าสามารถเพิ่มจำนวนผู้บริจาคได้มากเท่าไร จะทำให้มีโอกาสพบผู้บริจาคที่มีเอช แอล เอ ตรงกันกับผู้ป่วยได้มากขึ้น ด้าน อ.นพ. บุญชู พงศ์ธนากุล แพทย์ผู้เชี่ยวชาญสาขาวิชาโลหิตวิทยาและอองโคโลยี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชพยาบาล กล่าวถึงโภชนาการในผู้ป่วยธาลัสซีเมียว่า โดยทั่วไป ผู้ป่วยโรคโลหิตจางธาลัสซีเมียต้องได้รับการดูแลสุขภาพและมีความเข้าใจในการปฏิบัติตัวในชีวิตประจำวัน นอกจากยาที่ผู้ป่วยได้รับจากแพทย์เป็นประจำแล้ว อาหารถือเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อสุขภาพของผู้ป่วย ในรายที่เป็นโรคไม่รุนแรง อาจไม่จำเป็นต้องระมัดระวังหรือจำกัดอาหารประเภทใด ประเภทหนึ่งเป็นพิเศษ แต่ในผู้ป่วยขั้นรุนแรงบางราย ภาวะทุพโภชนาการ อาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งเสริมให้ผู้ป่วยธาลัสซีเมีย มีอาการของโรครุนแรงขึ้น หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนอื่น ๆได้ ทั้งนี้มีการศึกษาพบว่าเด็กที่เป็นโรคธาลัสซีเมียขาดสารอาหารหลายชนิด เช่น โฟเลทและสังกะสี เป็นต้น นอกจากนี้ยังพบว่าผู้ป่วยจำนวนมาก มีระดับวิตามินซีและวิตามินอี ในเลือดลดลง ดังนั้นการได้รับสารอาหารที่จำเป็นอย่างครบถ้วนเหมาะสม จะช่วยให้ผู้ป่วยมีภาวะโภชนาการที่ดี มีการเจริญเติบโตและพัฒนาการที่ดีขึ้นได้ สื่อมวลชนสอบถามรายละเอียดเพิ่ม กรุณาติดต่อ คุณธนศักย์ อุทิศชลานนท์ และคุณศรีสุพัฒ เสียงเย็น ที่ปรึกษาประชาสัมพันธ์ บริษัท คอร์ แอนด์ พีค จำกัด โทรศัพท์ 0-2439-4600 ต่อ 8202 หรือ 081-421- 5249 อีเมล์: tanasaku@corepeak.com

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ