เตือนผู้ประกอบการระมัดระวังการใช้สารฆ่าแมลงในผักผลไม้ที่ส่งไปนอร์เวย์

ข่าวทั่วไป Wednesday February 18, 2009 16:00 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ก.พ.--กรมการค้าต่างประเทศ นางอภิรดี ตันตราภรณ์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า เมื่อปลายเดือนมกราคม 2552 ที่ผ่านมา หนังสือพิมพ์ท้องถิ่นของนอร์เวย์ได้รายงานข่าวเรื่องหน่วยงานความปลอดภัยอาหารแห่งนอร์เวย์ (Norwegian Food Safety Authority - NFSA) ประกาศเตือนผู้บริโภคภายในประเทศว่า ได้ตรวจพบสารฆ่าแมลงตกค้างปริมาณเข้มข้นในพืชผักจากไทย เช่น มะเขือม่วง ถั่วฝักยาว และกะหล่ำปลี เป็นต้น โดยในปี 2551 ตรวจพบ 28 รายการ จากการสุ่มตรวจสินค้า 49 รายการ ซึ่ง NFSA ได้แจ้งเตือนผู้นำเข้าสินค้าจากไทยโดยตรงแล้ว 7 ราย รวมทั้งสุ่มตรวจสินค้าที่นำเข้าโดยผู้นำเข้าดังกล่าวก่อนที่จะออกสู่ตลาดครั้งต่อไป นอกจากนี้ หน่วยงานในกลุ่มประเทศแสกนดิเนเวีย อาทิ สวีเดนและฟินแลนด์ต่างแจ้งผลการตรวจสอบในลักษณะเดียวกันด้วย นอกจากนี้ หน่วยงาน NFSA ยังได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับปัญหาการตรวจพบสารฆ่าแมลงตกค้างในผักผลไม้จากไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงปีที่ผ่านมาว่า เกิดจากภาคการผลิตของไทยที่เกษตรกรยังใช้สารฆ่าแมลงราคาถูกและไม่ทันสมัย จึงสามารถเป็นอันตรายต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม อีกทั้งสารฆ่าแมลงบางชนิดยังมีความคล้ายคลึงกับอาวุธสงครามในยุคก่อน (organophosphates) ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาทของมนุษย์ สำหรับประเทศในกลุ่มตะวันตกจะใช้สารฆ่าแมลงทางเลือกอื่น โดยเฉพาะใช้สาร pyrethroids เป็นหลัก ซึ่งจะเป็นอันตรายต่อมนุษย์น้อยกว่าสาร organophosphates อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศกล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากรายการสินค้าที่นอร์เวย์ตรวจพบข้างต้นแล้ว ยังมี ผลไม้จากไทยถูกแจ้งเตือนภายใต้ระบบเตือนภัยเร่งด่วนสำหรับอาหารมนุษย์และอาหารสัตว์ (Rapid Alert System for Food and Feed: RASFF) ของสหภาพยุโรปอีก เช่น มะม่วง เป็นต้น ส่งผลให้ขณะนี้ หน่วยงาน NFSA ของนอร์เวย์กำลังติดตามสุ่มตรวจสอบสินค้าพืชผักจากไทยในร้านค้าต่าง ๆ บ่อยครั้งขึ้น และได้เผยแพร่ผลการตรวจสอบในสื่อและเว็บไซต์ของ NFSA อย่างต่อเนื่อง ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นของสินค้าไทยในตลาดนอร์เวย์อย่างมาก ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สารฆ่าแมลงประเภทต่าง ๆ ที่นอร์เวย์ตรวจเข้มงวดให้มากขึ้น เช่น Carbendazim, Chlorpyrifos, Cypermethrin และ Ethion, เป็นต้น โดยเฉพาะ Dictrotophos และ EPN ซึ่งเป็นสารที่นอร์เวย์ห้ามใช้อย่างเด็ดขาด ทั้งนี้ ในการส่งออกสินค้าแต่ละล็อตจะต้องมีหนังสือรับรองสารพิษตกค้างจากกรมวิชาการเกษตรแสดงต่อกรมศุลกากรประกอบพิธีการส่งออก รวมทั้ง ต้องเป็นสินค้าที่มาจากไร่สวนที่ผ่านการรับรองมาตรฐานเกษตรดีที่เหมาะสม (Good Agricultural Practice: GAP) และมาจากโรงคัดบรรจุที่ผ่านการรับรองคุณภาพและมาตรฐานตามระบบการผลิตที่ดี (Good Manufacturing Practice: GMP) จากกรมวิชาการเกษตรด้วย นอร์เวย์เป็นตลาดส่งออกผัก ผลไม้ที่สำคัญของไทย โดยในปี 2551 ไทยส่งออกสินค้าผัก ผลไม้สดแช่เย็นและแช่แข็งไปนอร์เวย์มูลค่า 70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 1.1 ของมูลค่าการส่งออกสินค้าทั้งหมดของไทยไปยังนอร์เวย์ เพิ่มขึ้นจากปี 2550 มูลค่าประมาณ 4 ล้านบาท หรือขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ฉะนั้น ผู้ประกอบการไทยจึงควรปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวข้างต้นอย่างเคร่งครัด และเพิ่มความระมัดระวังในการใช้สารฆ่าแมลง เพื่อมิให้สินค้าถูกทำลายหรือถูกกักกัน ณ ด่านนำเข้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการส่งออกสินค้าพืชผักของไทยโดยรวมได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ