10ปีงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ยกระดับหมอเมือง-เพิ่มทางเลือกคนจน

ข่าวทั่วไป Friday February 20, 2009 07:50 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--20 ก.พ.--สกว. แม้ความก้าวหน้าทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จะทำให้วิทยาการทางด้านการแพทย์รุดหน้าไปอย่างรวดเร็ว แต่ก็ส่งผลกระทบด้านค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสุขภาพที่สูงเป็นเงาตามตัว ซ้ำความสามารถในการดูแลตนเองของคนทั่วไปยังลดลงเรื่อยๆ ปล่อยให้บรรษัทที่ดำเนินกิจการด้านการแพทย์ และยา ก้าวขึ้นมาผงาด ซึ่งแม้ว่าตลอดระยะเวลา 20 ปีที่ผ่านมา จะมีขบวนการฟื้นฟู เพื่อรื้อฟื้นความรู้ท้องถิ่นในการดูแลสุขภาพของผู้คน แต่ยังไม่ได้สร้างการเปลี่ยนแปลงมากนัก เพราะฐานคิดที่ถูกปูพื้นตั้งแต่เรื่องของการศึกษา ทำให้คนทั่วไปเชื่อว่าการแพทย์แผนปัจจุบันคือคำตอบเดียวของการรักษาโรค ผศ.ดร.ยิ่งยง เทาประเสริฐ หัวหน้าโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ยอมรับว่า กระบวนการทำงานวิจัยเพื่อท้องถิ่นที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่องมานับ 10 ปี เริ่มตั้งแต่ พ.ศ. 2542 ที่ทำโครงการสังคายนาองค์ความรู้หมอเมืองเพื่อพัฒนาระบบและตำราอ้างอิงของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ต่อด้วยชุดโครงการวิจัยองค์ความรู้หมอเมือง ในปี 2543-2546 ถัดจากนั้น ใน พ.ศ.2547-2550 ก็เกิดชุดโครงการวิจัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชนเผ่าภาคเหนือ แล้วต่อยอดด้วยโครงการเสริมสร้างเครือข่ายการแพทย์พื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน ในปี 2551-2552 ทุกโครงการล้วนมีบทบาทในการสังคายนาองค์ความรู้การแพทย์พื้นบ้านขึ้นมาอย่างเป็นระบบและรูปธรรม ดังจะเห็นได้อย่างชัดเจน จากตำราอ้างอิงกลางในกลุ่มหมอพื้นบ้าน จำนวน 4 เล่ม ได้แก่ ตำราทฤษฎีการแพทย์พื้นบ้านล้านนา, ตำราเภสัชกรรมการแพทย์พื้นบ้านล้านนา, ตำรากายภาพบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา และตำราพิธีกรรมบำบัด/จิตบำบัดของการแพทย์พื้นบ้านล้านนา ซึ่งทุกคนมีส่วนร่วมในการทำให้เกิดอย่างเป็นกระบวนการ และมีระยะเวลาในการสร้างความเชื่อมั่น ขยายผลสู่การปฏิบัติ ขณะเดียวกันยังเกิดการยอมรับทั้งในแนวดิ่ง คือโครงสร้าง กับนโยบายของรัฐ และแนวราบ อันได้แก่เครือข่ายภาคีและชุมชน โดยในระดับนโยบายเกิดการยอมรับหมอพื้นบ้านที่มีความรู้ และประสบการณ์ชัดเจน เข้าร่วมงานบริการสุขภาพในสถานบริการสุขภาพของรัฐ ในฐานะผู้ช่วยแพทย์ หรือผู้ช่วยเจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือการออกใบอนุญาตประกอบโรคศิลป์แก่หมอพื้นบ้านให้มีสิทธิตามกฎหมายในการรักษา ทำให้หมอพื้นบ้านพ้นสภาพของหมอเถื่อน ที่สำคัญเป็นการเพิ่มโอกาสให้กับประชาชนที่เจ็บป่วยเรื้อรัง ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการของแพทย์แผนปัจจุบันได้เด็ดขาด เพราะคนกลุ่มนี้จะมีทางเลือกในการทดลองรักษาด้วยวิธีการพื้นบ้าน ซึ่งสามารถทดแทนสิ่งที่ขาดหาย ตอบสนองทั้งทางสุขภาพกาย และสุขภาพใจ เป็นสร้างการยอมรับ เชื่อมั่น และสร้างกระแสความนิยมที่เกี่ยวเนื่องกับธุรกิจการนำภูมิปัญญาการดูแลสุขภาพพื้นบ้านไปเป็นสีสันทางเลือกในการบริการด้านสุขภาพ เช่น เกิดรูปแบบของสปาพื้นบ้านล้านนา ที่นำวิธีการตอกเส้น ย่ำขาง เอาเอ็น เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของบริการสปา หรือรูปแบบของสปาอาข่า ที่ชนเผ่าอาข่าบ้านแสนใจพัฒนา ได้ประยุกต์ใช้ภูมิปัญญาพัฒนาสู่สปาอาข่า ไว้รองรับนักท่องเที่ยวที่ต้องการศึกษาวิถีชีวิตชนเผ่า เป็นหนึ่งในกิจกรรมการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพของชนเผ่า “ประโยชน์อีกทางหนึ่ง ยังเกิดการสร้างรายได้จากสมุนไพรและผลิตภัณฑ์สุขภาพผ่านเครือข่ายตลาดกลางสมุนไพร ซึ่งเป็นงานที่ต่อเนื่องจากงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ส่งผลให้ชุมชนเกิดความตระหนักในการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และขยายพันธุ์พืชสมุนไพรในป่า หรือในชุมชนของตนเอง นอกจากนี้ยังมีการพัฒนาระบบการสืบทอดสู่คนรุ่นใหม่ในรูปแบบการจัดการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ เช่น การอบรมเพื่อพัฒนาบทบาท และวิทยฐานะของหมอเมือง ที่มีหมอพื้นบ้านระดับอาจารย์ร่วมกันจัดทำหลักสูตร แผนการฝึกอบรม และดำเนินการฝึกอบรมแก่หมอพื้นบ้านรุ่นทั่วไป หมอพื้นบ้านรุ่นใหม่” ผศ.ดร.ยิ่งยง อธิบาย ส่วนการจัดการศึกษาในระบบ ก็มีการพัฒนาเป็นหลักสูตรท้องถิ่น อาทิ ชนเผ่าอาข่าที่สามารถพัฒนาหลักสูตรท้องถิ่นในโรงเรียนและจัดการเรียนการสอน ทั้งในระดับประถมศึกษาและมัธยมศึกษาตอนต้น สำหรับระดับอุดมศึกษาในหลักสูตรปริญญาตรี โท เอก เปิดสอนที่วิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้าน และการแพทย์ทางเลือก มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย โดยได้รับการปรับให้เป็นหน่วยงานราชการระดับคณะ ของกระทรวงศึกษาธิการ จึงเท่ากับว่างานวิจัยแพทย์พื้นบ้าน มีส่วนในการสร้างและก่อให้เกิดสถาบันระดับอุดมศึกษาขึ้นมารองรับอย่างเป็นทางการ นอกจากนี้ งานวิจัยแพทย์พื้นบ้านยังสามารถสร้างและพัฒนาเครือข่ายหมอพื้นบ้านลุ่มน้ำโขงตอนบนได้ เช่น เครือข่ายหมอพื้นบ้านสิบสองปันนา เครือข่ายหมอพื้นบ้านเชียงตุง เครือข่ายหมอพื้นบ้านหลวงน้ำทา-บ่อแก้ว ผ่านกระบวนการในรูปแบบการจัดเวทีกลางเพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนาเครือข่ายความร่วมมือด้านการวิจัยและการพัฒนาการแพทย์และสมุนไพรพื้นบ้านระหว่างหมอพื้นบ้านในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบน จนเกิดแนวคิดในการจัดตั้ง “สถาบันวิจัยและพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขง” ในสังกัดวิทยาลัยการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ทางเลือก อันเป็นการสานต่อภารกิจชุดโครงการวิจัย รวมทั้งพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและการแพทย์ชนเผ่าในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขงตอนบนอย่างต่อเนื่อง เป็นการตรวจสอบ และปรับปรุงความสมบูรณ์ขององค์ความรู้ด้านการแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ชนเผ่าและสมุนไพร ที่จะขับเคลื่อนงานด้านการวิจัยและพัฒนาการแพทย์พื้นบ้านและสมุนไพรลุ่มน้ำโขง บนพื้นฐานทรัพยากรและภูมิปัญญาในอนุภูมิภาคไปพร้อมๆ กับการพัฒนาเครือข่ายหมอพื้นบ้านในอนุภูมิภาคนี้ให้เข็มแข็งยิ่งขึ้น โดยการสนับสนุนจากแหล่งทุนวิจัยต่างๆ ที่เอื้ออำนวย ภายใต้ความร่วมมือกับสถาบันวิจัยและพัฒนาการแพทย์ชนเผ่า สิบสองปันนา และสมาคมการแพทย์ชนเผ่าแห่งชาติจีนในอนาคตต่อไป. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร. 0820870028 saichol

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ